ส่อง 160  อปท.ตื่นตัวตั้งเป้าอุบัติเหตุเป็นศูนย์ ร่วมสร้างมาตรการ ‘ลดเมา เพิ่มสุข’ ปีใหม่

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่160 แห่งตื่นตัว ระดมถกหามาตรการ ลดเมา ลดเหตุ ปี ใหม่ 61 ในระดับหมู่บ้าน ตำบล  หลังพบสาเหตุหลักเกิดจากเมาแล้วขับ ตั้งเป้าอุบัติเหตุเป็นศูนย์

จากข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ในระบบข้อมูลตำบล พบว่าสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 จากข้อมูลประชากรจำนวน 8,282,652 คน มีอัตราผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 628,582 คิดเป็นร้อยละ 9 จากที่ผ่านมาร้อยละ 8 ด้วยการร่วมกันสร้างกลไกในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นในการรณรงค์ให้มีการลด ละ เลิก การดื่มอย่างต่อเนื่อง

และจากการประชุมเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่ผ่านมา ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนับสนับโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมหาแลกเปลี่ยนเพื่อหารูปแบบในการลดเมา เพิ่มสุข โดยมุ่งเน้น ให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีการลดจำนวนการเกิดอุบัติจากการดื่มใน อปท.จำนวนกว่า 160 แห่งซึ่งได้เสนอมาตรการที่เหมาะสมกับท้องถิ่นในลดการบริโภคแอลกอฮอล์เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ

นางสาว ดวงพร  เฮงบุณยพันธ์   ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน  สสส. กล่าวถึงการพัฒนาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ โดยดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในระดับพื้นที่มาร่วม ว่า เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะที่ผ่านมา สสส.ทำเรื่องลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับภาพรวมมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเห็นว่าการสร้างเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ให้มาทำเรื่องการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยลงลึกไปถึงระดับครอบครัวและชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสมกับบริบทและ  จึงดึงเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 160 แห่งมาร่วมสร้างและเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องการลดพฤติกรรมการดื่มอย่างใกล้ชิด

“ที่ผ่านมาเรารณรงค์เรื่องการลดเหล้ามานานกว่า 15 ปีซึ่งในภาพกว้างได้ผลแน่นอน แต่ในระดับพฤติกรรมจะทำยังให้เปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด จึงเห็นว่า การสร้างกติกาชุมชนโดยให้มีการเรียนรู้ร่วมกันจนเป็นที่ยอมรับน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้”

การสร้างเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ใช้หลักคิดให้แต่ละชุมชนออกแบบมาตรการในการลดเหล้า ลดเหตุของตัวเอง ให้เหมาะกับพื้นที่และอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ได้ยึดเอานโยบายจากส่วนบนมาทำแบบไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพื้นที่เพราะไม่สามารถนำไปสู่การสร้างกติการ่วมกันที่เป็นจริง

โดยกำหนดเป้าหมาย ในการลดอุบัติเหตุ และยึดวิธีการ ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน  ไม่ตัดเสื้อโหลที่เหมือนกันทั่วประเทศ ทำให้รูปแบบมาตรการที่เครือข่ายร่วมกันออกแบบจะเหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่ของตัวเองมากที่สุด

รูปแบบของมาตรการ การลดเหล้าของเครือข่าย จะมีด่านชุมชน แต่เป็นด่านชุมชนที่มีด่านครอบครัวที่คนในครอบครัวช่วยการดูแลครอบครัวตัวเองและดูแลครอบครัวเพื่อนบ้าน เพราะครอบครัวถือเป็นด่านที่เล็กที่สุด เพื่อสร้างคนต้นแบบในการเป็นแบบอย่างต่อไป

นอกจากนี้ยังได้ดึงเอา ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)มาเป็นบุคคลต้นแบบในการเลิก ลดแอลกอฮอล์และบุหรี่ โดยผู้บริหารที่ร่วมจะต้องเป็นผู้นำในการลดเหล้าเป็นตัวอย่างก่อนที่จะนำไปสู่การเชิญชวนชุมชนมาร่วมมาตรการลดแอลกอฮอล์

ทั้งนี้คาดว่าการลดพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชนจะสามารถร่วมลดอุบิติเหตุได้ เนื่องจากสถานการณ์อุบัติเหตุที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุหลักมาจากเมาแล้วขับกว่าร้อยละ 25  รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 17

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ได้เสนอมาตรการการลดแอลกอฮอล์ในเทศกาล 7วันอันตราย โดยจะดึงเอาครอบครัวเข้ามาร่วมและผลักดันให้เกิดครอบครัวต้นแบบ บุคคลต้นแบบ   พร้อมทั้งนำเอาผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมเป็นต้นแบบในการลดแอลกอฮอล์ และมีการสร้างเป้าหมาย กติการ่วมกันในลดแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุลงเป็นศูนย์ และใช้มาตรการดึงคนเข้าวัดเพื่อสวดมนต์ข้ามปี

มาตาการของตำบลเฝ้าไร่   จ.หนองคายมีเป้าหมายในเรื่องการลดอุบัติเหตุ ด้วยการดึงเอาเครือข่ายชุมชน 17 แห่งในพื้นที่มาร่วมกันจัดทำข้อมูลและลดความเสี่ยง มีเป้าหมายให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ในปีนี้ และตั้งด่านทุกหมู่บ้านให้มีชีวิตและดึงเอาเยาวชนเข้ามาร่วม  และผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ โดยให้อำเภอกำหนด เป็นนโยบาย เพื่อให้มีความปอดภัยในการท่องเที่ยวมากที่สุด โดยท่องเที่ยว 3 คืน อายุยืน 3 ปี

ส่วนมาตรการของตำบลนาเจริญ  จ.อุบลราชธานี    ตั้งเป้าหมาย อุบัติเหตุเป็นศูนย์ โดยมีมาตรการสวดมนต์ข้ามปี 9 วัด  เพื่อการลดอุบัติเหตุและมีด่านครครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านต้นแบบ เพราะว่า เป็นหมู่บ้านนักดื่มสูงที่สุด และมีด่านชุมชนที่มีสมุนไพร ที่มีใบฝรั่งแก้เมา  รางจืด มาช่วงลดการเมาในชุมชน และมีมาตรการส่งคนรักกลับบ้าน เพื่อสกัดคนเมาไม่ให้ขับขี่ ตามเป้าหมาย วิถีพุทธ คนนาเจริญลดเมาลดเหตุ

ตำบลเก่ายาดี   จ. ชัยภูมิ   มีเป้าหมายการลดอุบัติเหตุ เป็นศูนย์ และมีการสวดมนต์ข้ามปี 5วัด ซึ่งจะเชิญชวนเยาวชน คนในชุมชนเข้าร่วมประมาณ 500 คน โดยจะมีมาตรการจูงใจให้คนเข้าร่วม นอกขากนี้บริเวณขุดโค้งจุดเสี่ยงของถนนประมาณ 11 จุด ทำให้เกิดอุบัติเหตุ จึงจะเพิ่มป้ายสัญลักษณ์เพื่อเตือนในจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังเพิ่มด่านตรวจชุมชนที่มีน้ำสมุนไพรรางจืด และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวประเภท เสาวรส และสับปะรด ภายใต้การรณรงค์“เธอจะลืม เมาที่เก่ายาดี” โดยมาตรการทั้งหมดได้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการลดอุบัติร่วมกันทั้งหมด

ตำบลนาข่า  จังหวัดอุดรธานี   จัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยตำบล  เพื่อตรวจสอบและประชุมร่วมกันทุกเดือน ถ้ามีปัญหาอุบัติเหตุจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบหาสาเหตุ มีการวิเคราะห์พื้นที่ว่ามีความเสี่ยงอะไร และนำเข้าที่ประชุมประจำเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาทันที  นอกจากนี้จะเพิ่มลูกระนาดบน ถนน ติดไฟส่องสว่าง และมีสัญลักษณ์เตือนจุดเสี่ยงถนนที่อันตราย  โดยตั้งเป้าหมายให้อุบัติเหตุลดลง แต่อาจจะไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์โดยทันที เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดถนนใหญ่ แต่จะทำให้การลดอุบัติลงไปเรื่อยๆจนเหลือศูนย์

ในขณะที่ตำบลท่ามะปราง  จ.สระบุรี  ขับเคลื่อนทั้งตำบล คือ5 หมู่บ้าน  โดยช่วงเทศกาล และระหว่างปี มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นตลอดเวลาเนื่องจากเป็นทางผ่านเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้มีนโยบายลดเมา เพิ่มสุข มีด่านครอบครัว คนต้นแบบ ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย  โดยให้เยาวชนบันทึกข้อมูลว่ามีการดื่มหรือไม่ ถ้าดื่มก็ไม่ให้ออกจากบ้าน โดยให้ครอบครัวช่วยสอดส่องกันเองและจะผลักดันให้เกิดการสวดมนต์ข้ามปี และกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างการเรียนรู้และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งเป้าหมายเป็นข้อตกลงของตัวเอง เพื่อลดเมา เพิ่มสุข

ส่วนตำบลร่องเคาะ  จ. ลำปาง    มีเป้าหมายในการลดเมา เพิ่มสุขอุบัติเหตุจราจรเป็นศูนย์ โดยยึดหลัก 3 ต . 3ม  คือ เตรียมตัว  ติดตั้ง  ติดตาม  ส่วน 3 มคือ ไม่เมา  ไม่ขับ ไม่เร็ว และ 2 ช  คือ เช็คคน  เช็ครถ และ จิบสมุนไพรก่อนออกจากบ้าน

โดยมาตรการสร้างความเข็มแข็ง ตั้งแต่ระดับครอบครัว โดยมี ด่านครอบครัว เราจะทำยังไงให้ด่านครอบครัวเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมีสัญญาใจในครอบครัว ในการลดเมา เพิ่มสุข  โดยจะใช้เป็นครอบครัวต้นแบบกระจายเครือข่าย และเข้าสู่ด่านชุมชน หมู่บ้าน เป็นด่านมีชีวิต ผ่านการเตรียมตัวของ อบต. นำเอาหลักการ ของหมู่บ้านของตัวเองมีด่านมีชีวิต ให้มีการสร้างการมีส่วนร่วม และมีการสร้างข้อตกลง กติกาอย่างชัดเจน  และนำเอาสภาเด็กและเยาวชน มาร่วมตรวจสอบ  โดยผลักดันทั้งหมดให้ประกาศเป็นนโยบาย

ตำบลบ้านต๊ำจ.พะเยา ตั้งเป้าหมายอุบัติเหตุเป็นศูนย์ เพราะในปีที่ผ่านมาสามารถทำได้ เพราะ มีด่านนั่งพักที่เป็นด่านชุมชน หากเมาให้มานั่งพักก่อน มีบริการ มะขาม กาแฟ ก่อนเดินทางต่อนอกจากนี้จะเพิ่มจุดบริการเช่าหมวกกันน็อค  พร้อมทั้งมีการเก็บข้อมูลการเดินทางของคนสัญจรไปมา  เพื่อนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์หาความเสี่ยงและแนวทางป้องกันต่อไป และมีสวดมนต์ข้ามปี

สำหรับความสำเร็จในการดำเนินการลดเมา เพิ่มสุข ในปีที่ผ่านมา  นายชัยรัตน์  ทองใบ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ  อ.วังเหนือ จ.ลำปาง  กล่าวว่า  ในพื้นที่มีการดื่มเหล้าเมาแล้วเกิดอุบัติมีกิจกรรมดึงเอาชุมชนมาร่วมลด เริ่มปี 52 ได้สนับสนุนจาก สสส. โดยเริ่มต้นเครือข่ายคนลดเหล้าก่อนจากเดิมที่มีคนลดเหล้ามาร่วมประมาณ 100 คนปัจจุบันมีคนเข้ามร่วมเครือข่ายประมาณ 1,400  คนซึ่งมีมาตรการติดตามว่าสามารถเลิกเหล้าได้จริงจาการติดตาม ใช้กลไดครอบครัว เราจะดำเนินการต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะ เทศกาล โดยช่วงแรกจะให้เลิกเหล้าในเทศกาลเข้าพรรษาก่อน และมีมาตรการให้ลดดื่มในช่วงเวลาอื่นๆเพิ่มากขึ้น

นอกจากนี้ในส่วนของผู้บริหารของตำบลเองจะมีการประกาศเพื่อลดแอลกอฮอล์เป็นตัวอย่างในช่วงเทศกาล เพื่อเป็นต้นแบบดึงชุมชนร่วมกิจกรรม

ขณะที่ นายเนตรนรินทร์  คำเรืองบุญ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา   จ.ลพบุรี กล่าวว่า มาตรการลดเมา เพิ่มสุข เริ่มจากผู้บริหารในองค์การบริหารส่วนตำบลมาร่วมกันลดเมาก่อน ซึ่งขณะนี้มีผู้บริหารเข้าร่วมโครงการลดเมาในทุกระดับเป็นข้อตกลงร่วมกัน และยังเพิ่มมาตรการในเรื่องด่านชุมชนถาวร  ด่านชุมชน และด่านครอบครัว  ซึ่งแต่ละด่านจะมีการให้บริการน้ำดื่มสมุนไพร เพื่อลดอาการเมา  ส่วนด่านครอบครัวจะเน้นการให้สมาชิกลดดื่มในครอบครัวก่อน

“ผมเป็นครอบครัวต้นแบบเอง คือทำให้ตัวเองเป็นผู้ลดการดื่มเป็นตัวอย่างให้เห็นในชุมชนก่อน ซึ่งก็ได้ผลเพราะซึ่งมีครอบครัวผู้บริหาร อบต.ร่วมลดการดื่มมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม อบต.ซับจำปา จะร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลอีก 3 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อร่วมมือกันลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ในพื้นที่ให้มากที่สุด

ทั้งนี้การตื่นตัวของ 160 อปท. จะช่วยให้เป็นด่านแรกในการลดอุบัติเหตุ ลดเมา ในระดับประเทศได้เป็นอย่างดี เนื่องจากอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมาเกิดขึ้นในถนนสายรองในพื้นที่ชุมชนจำนวนมากเช่นกัน.-