ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้าน บ้านดอนหลวง

08-03-1

บ้านดอนหลวง หมู่ที่ 7 เป็นแหล่งขายผ้าขึ้นชื่อของตำบลแม่แรง แทบทุกหลังคาเรือนต่างทำผ้าด้วยกันทั้งนั้น แต่ละวันจะมีรถเวียนกันมาจอดในหมู่บ้าน เลือกซื้อหาผ้าตามความสนใจ และทุกปีที่นี่จะมีงาน ‘แต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง’ ซึ่งถือเป็นงานประจำปี จัดในวันศุกร์แรกของเดือนเมษายน ต่อเนื่อง 5 วัน 5 คืน โดยจัดมาตั้งแต่ปี 2546 และงานนี้ได้รับความนิยมจนมีการระบุไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20 ล้านบาท

เราเดินทางมาที่ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้าน บ้านดอนหลวง เป็นอาคารหลังใหญ่ใจกลางหมู่บ้าน ภายในมีผลิตภัณฑ์ผ้าทอมากมาย ทั้งเสื้อ กระโปรง กระเป๋า หมวก ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ฯลฯ

“ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าของคนบ้านดอนหลวง” อุไร ผ้าเจริญ ผู้ดูแลศูนย์ฯ ว่า ก่อนเท้าความให้เราฟังต่อ “แต่เดิมที่ศูนย์ฯ เป็นศาลาอ่านหนังสือพิมพ์ของคนบ้านดอนหลวง จนปี 2532 กลุ่มผู้นำและประชาชนในพื้นที่เห็นว่าควรปรับปรุงสถานที่ให้เกิดประโยชน์กว่านี้ จึงเกิดแนวคิดสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมา โดยนำงบจากโครงการสร้างงานในชนบท หรือที่เรียกว่า โครงการมิยาซาวา จำนวน 300,000 บาท มาปรับปรุงและซ่อมแซมสถานที่ ทว่าเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ ทางผู้ใหญ่บ้านเวลานั้นจึงเชิญชวนให้ชาวบ้านทำผ้าป่าเพิ่มเติม จนได้เงินมาอีกประมาณ 17,000 บาท แล้วนำเงินทั้งหมดมาสร้างอาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน”

ต่อมาในราวปี 2540 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้อาคารอเนกประสงค์แห่งนี้อย่างคุ้มค่า จึงได้มีการนำสินค้าของกลุ่มทอผ้าบ้านดอนหลวงเข้ามาจำหน่าย ต่อมาในปี 2542 บ้านดอนหลวงได้รับรางวัลหมู่บ้านอุตสาหกรรมดีเด่น จากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงนำเงินรางวัลที่ได้มาปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์

“ตอนนั้นกลุ่มทอผ้าดำเนินงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเป็นชิ้นเป็นอันเท่าใดนัก ด้วยแต่ก่อนช่างฝีมือของกลุ่มเป็นลูกจ้างของร้านทอผ้านอกพื้นที่ แต่ตอนหลังด้วยวิกฤตเศรษฐกิจบวกกับอายุของแต่ละคน จึงกลับมาอยู่ที่บ้านดอนหลวง รวมกลุ่ม 5-6 คน ทอผ้าจำหน่ายเล็กๆ น้อยๆ ตามโอกาส” อุไรย้อนความให้ฟัง

กระทั่งเริ่มมีการรวมกลุ่มเป็นทางการขึ้น เมื่อขอรับการฝึกอบรม หรือขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เริ่มดำเนินงานในลักษณะกลุ่มอย่างจริงจังในราวปี 2544 จึงเปิดโอกาสให้คนที่ทอผ้าในหมู่บ้านมาลงหุ้น และพัฒนาให้อาคารอเนกประสงค์เป็นจุดวางสินค้า พร้อมกับสร้างเครือข่ายภายในตำบลแม่แรง และอำเภอป่าซาง

ต่อมาเมื่อทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนลงมาสำรวจ เห็นว่าที่นี่พอมีศักยภาพ จึงได้พัฒนาให้ที่นี่เป็นถนนสายวัฒนธรรม พร้อมจัดงบประมาณสำหรับปรับภูมิทัศน์ให้

อุไรเสริมอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านดอนหลวงมีสมาชิก 105 คน สมาชิกคนหนึ่งสามารถซื้อหุ้น 50 บาท ได้ไม่เกิน 10 หุ้น โดยเงินที่ได้มา จะนำไปลงทุนกับกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน เกิดเป็นดอกเบี้ยนำกลับมาปันผลให้สมาชิกทุกๆ ปี ขณะเดียวกันสมาชิกยังได้รับสิทธิในการนำของมาฝากขายด้วย

“คือแต่ละบ้าน เขาก็มีกลุ่มก้อนของเขา ทำงานเป็นเครือข่ายของศูนย์ฯ มีมากมายหลายกลุ่ม แต่ภายหลังบางกลุ่มเขาก็เปิดพื้นที่หน้าบ้านในบ้านขายเอง เพราะตั้งแต่มีงานแต่งสีอวดลาย ที่นี่ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก แต่ที่ศูนย์ฯ ก็ยังทำหน้าที่เป็นจุดรับฝากขายอยู่” อุไรเล่า

การจัดการร้านนั้น แต่เดิมจะมีกรรมการกลุ่มเข้ามาดูแล เพราะสมัยนั้นชาวบ้านจะนำกี่ทอของตัวเองมาไว้ที่ศูนย์ฯ เวลาทอผ้าจะมารวมตัวทำ แต่ภายหลังมีการแยกไปทำเอง ขายเอง จึงปรับเปลี่ยนเหลือเพียงคนเฝ้าร้านเพียง 1-2 คนเท่านั้น

“สมาชิกที่นำสินค้ามาฝากขาย ต้องแจ้งราคา จากนั้นศูนย์ฯ จะบวกกำไรเข้าไปเล็กน้อย เพื่อเป็นทุนในการบริหารจัดการต่อไป เมื่อของขายได้ ทางร้านจะลงบัญชีไว้ เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบได้ และเมื่อถึงสิ้นเดือน สมาชิกถึงค่อยรับเงินไป” อุไรอธิบายวิธีการทำงาน

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า เวลานี้ยอดขายของศูนย์ฯ ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน เพราะแต่ละบ้านเปิดหน้าร้านของตัวเอง มีลูกค้าของตัวเอง ขายได้เงินสด ไม่ต้องโดนบวกราคา ดังนั้น ในอนาคตอาจมีการปรับให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้และประชาสัมพันธ์ว่า สินค้าแต่ละชิ้นมีที่มาจากบ้านไหน แล้วให้ผู้ซื้อไปติดต่อเอง เหมือนเป็นศูนย์กลางในการแนะนำสินค้า

“แต่ตอนนี้เรามีงานแต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง ที่จัดต่อเนื่องมา 13 ปีแล้ว ดั้งเดิมเป็นกุศโลบายของเทศบาลตำบลแม่แรงที่อยากให้คนรู้จักที่นี่มากขึ้น แต่วันนี้งานติดตลาดแล้ว ได้รับการบรรจุในปฏิทินวัฒนธรรมของจังหวัดลำพูน และในปี 2549 เราได้รับรางวัลหมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion) จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยติด 1 ใน 5 ของจังหวัดลำพูน และ 1 ใน 8 ของประเทศ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกให้เป็นย่านการค้า จังหวัดลำพูน เมื่อปี 2553 นอกจากนี้เรายังมีการตั้งกองทุนหมู่บ้านท่องเที่ยว โดยศูนย์ฯ เป็นผู้ดูแล เวลาจัดงานจะมีการเก็บค่าบูท ซึ่งเงินที่ได้ก็จะนำมาใช้ในกิจสาธารณประโยชน์ รวมไปถึงปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่ด้วย” ผู้จัดการศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้านกล่าวทิ้งท้าย…