ชุมชนท้องถิ่น เปลี่ยนผู้สูงอายุเป็นพลัง

เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในชุมชน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเปลี่ยนผู้สูงอายุให้เกิดพลัง

นางสาวดวงพร  เฮงบุณยพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.  กล่าวถึง  รายงานการขับเคลื่อน “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชมท้องถิ่นน่าอยู่กับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” ว่า จากข้อมูลในการทำงาน สร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ๒,๗๐๕ แห่ง มีประชากรในเครือข่าย ๘.๕ ล้านคน  หรือคิดเป็นจำนวนครัวเรือนจำนวน ๒.๗ ล้านครัวเรือน ผลการสำรวจสถานะชุมชน จากการทำงานของกลไกเครือข่ายในพื้นที พบว่า มีผู้สูงอายุ ๖๐-๖๙ ปี มากที่สุด ร้อยละ ๕๕ ซึ่งในกลุ่มนี้ หากมีการเตรียมพร้อมที่ดีก็สามารถเปลี่ยนภาระเป็นพลังได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดสังคมที่มีถึงร้อยละ ๘๔ ถือเป็นทุน ศักยภาพ โอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรง และยิ่งติดสังคมก็จะช่วยให้อายุยืน มีความสุข

 

นอกจากนี้พบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่กับครอบครัว ร้อยละ ๔๗  ผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงคนเดียวร้อยละ ๒๒.๗๒ ผู้สูงอายุที่อยู่กับกับเด็กร้อยละ ๑๗.๓๑  ผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันลำพัง ร้อยละ ๑๒.๙๕ ซึ่งในปีนี้ สสส.และเครือข่ายฯจะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ    อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ  กล่าวว่า สังคมผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันมีประมาณ ๑๖.๕% ในปี๒๕๖๔  จะมีเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๐และในปี๒๕๗๔ มีเพิ่มขึ้นประมาณ๒๘%  แต่ในชุมชนหลายแห่งมีการเตรียมความพร้อมมีโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนพบปะกันช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ไม่อยู่ติดบ้านมากนัก