สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เรียนรู้ตามรอยพ่อ

การเล่น กิจกรรมสำคัญที่ช่วยพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา พ่อแม่ยุคใหม่จึงควรให้เวลาลูกได้มีเวลาเล่นมากขึ้น และการเล่นที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพสูงสุดนั้นต้องมาจากเครื่องเล่นที่เหมาะสม อย่างเช่น สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา

สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาได้แนวคิดมาจากเครื่องเล่นและของเล่นในพระราชวังของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสมเด็จย่าทำให้เล่นอย่างง่ายๆ เช่น กองทราย ปีนต้นไม้ ปีนเชือก หรือสระว่ายน้ำ มีของมาลอยน้ำเล่น เป็นต้น ดังนั้นทั้งพระพี่นาง ในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 จึงทรงเล่นเครื่องเล่นง่ายๆ เหล่านี้ร่วมกันมาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา คือ สนามเด็กเล่นที่ใช้เครื่องเล่นตามธรรมชาติ มีอิสระ เป็นเครื่องเล่นปลายเปิด คือ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบมากมายหรือเป็นเครื่องเล่นที่เล่นในลักษณะเดียว แต่ให้ผู้เล่นได้คิดได้ดัดแปลงวิธีการเล่นด้วยตัวเอง หรือ ฉันทะศึกษา ซึ่งในอดีตเราเคยมี แต่กลับทำลายไปหมด” อ.ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา อธิบายถึงการสร้างสนามเด็กเล่นด้วยแนวคิดใหม่

สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มี 5 ฐานการเล่นที่สำคัญ ได้แก่ 1.สระน้ำอินจัน ช่วยฝึกสมองท้ายทอย ทรงตัว 2.สระน้ำลาดต่างระดับตามช่วงวัยที่เหมาะสม มีน้ำพุตรงกลาง ช่วยฝึกเด็กรักการเล่นน้ำ ฝึกความคิด ผ่อนคลาย 3.ค่ายกล ฝึกปีนป่ายสร้างความมั่นคงทางจิตใจ กล้าหาญ สร้างสรรค์ 4.เรือสลัดลิง ช่วยสร้างจินตนาการ ปีนป่าย และ 5.สระหัดว่ายน้ำ ช่วยให้เด็กว่ายน้ำเป็น สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้

อ.ดิสสสกร กล่าวอีกว่า ฐานการเล่นที่สำคัญและเปลี่ยนบุคลิกของเด็กได้ คือ น้ำ เมื่อเด็กได้เล่นน้ำ เราจะรู้ลยว่าเด็กมีพัฒนาการทางสมอง จากสายตาของเด็กจากขี้แย ขี้อ้อน พูดไม่รู้เรื่อง จะเปลี่ยนเป็นลิงทันที แววตาสดใส พูดเป็น แสดงถึงคามเป็นตัวเอง เขาได้ค้นพบของตัวเอง เขาได้มีความสุขจากการเล่น

ขณะเดียวกัน อ.ดิสสกร ยังแนะนำการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ว่า ควรมีการปรับพื้นที่ ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีลมพัดผ่าน มีฐานการเล่น น้ำ ดิน โคลน ทราย ปีนต้นไม้ ยางรถยนตร์ เชือกปีนป่าย ปลูกต้นไผ้ มะพร้าว กล้วย ใช้ธรรมชาติให้มากที่สุด เด็กจะได้รู้จักแยกแยะธรรมชาติ ไม่ต้องมีกฎเยอะ บนพื้นฐานความปลอดภัยที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล

ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ยังกล่าวอีกว่า สมัยนี้เราไม่เคยให้โอกาสเด็กได้มีความสุข เราเอาแต่ห้ามไม่ให้ลูกเล่น เอาเวลาไปอ่านหนังสือ คำว่าอย่ามันทำให้สมองถูกล็อคไม่มีการสร้างสรรค์ คิดอะไรไม่ได้ นอกกรอบไม่เป็น ต้องทำตามผู้ใหญ่ และเกิดภาวะความเครียด ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ สมองที่สะสมความเครียดมาตั้งแต่เด็ก หรือถูกกักไว้ในห้อง ร่างกายจะหลั่งสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คอร์ติซอล (Cortisol) เมื่อสะสมปริมาณมากเด็กเหล่านั้นที่เติบโตมาก็จะเต็มไปด้วยความเครียด ความกดดัน ไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

จากการศึกษาอาชญากรฆ่าคน พบว่า เพราะตอนเด็กไม่ได้เล่น และสะสมคอร์ติซอลมาก เขาจึงอยากทำลายสังคม เช่นเดียวกับปัญหาของเด็กและเยาวชน เมื่อสารพิษนี้มีเยอะ ไม่มีทางออก ก็ไปพ่นสีตามขอบสะพาน ทำลายป้ายจราจร ขับรถซิ่งรบกวนสังคม เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก แต่อยู่ที่พ่อแม่ไม่ยอมให้เล่น ซึ่งสารแห่งความเครียด ความกดดันนี้สามารถเกิดขึ้นและสะสมมาตั้งแต่เด็กเล็กๆ เช่น แม่ปล่อยให้คนอื่นเลี้ยง เด็กไม่ได้กลิ่นแม่ เขาจะคิดว่าแม่ทิ้ง จนเกิดสารคอติซอลขึ้น ส่งผลให้เมื่อโตมาจะหวาดผวา

ยุคแห่งสังคมก้มหน้า เด็กหลายคนขลุกอยู่แต่หน้าจอมือถือมากกว่าการออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ คือตัวทำลายพัฒนาการเด็กอย่างแท้จริง

ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การเล่นมือถือ ทำให้ทุกคนมีชีวิตไม่เกี่ยวข้อง ขาดปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เพราะในมือถือมันท้าทายและสนุก แต่ในแง่จิตวิทยา อย่างสนามเด็กเล่นตามของธรรมชาติ ของเล่นปลายเปิด มีไม่ครบ เขาต้องพึ่นตนเอง หรือฉันทะ ต้องคิดว่าจะเล่น จะหาของมาเล่นอย่างไร เด็กจึงเป็นศูนย์กลางของความคิด แต่ในทีวี มือถือ นั่นคือศูนย์กลาง เขาจะคิดไม่ได้ เขาอยากดูอะไร ก็จะกดไปดู ขาดทักษะการคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาไม่เป็น

“เราสร้างคนมาผิดแล้ว เราต้องปล่อยคนให้เล่น คิดอิสระ ถ้าเรานำมาพัฒนา เราจะได้คนที่เสียสละ เป็นคนไม่โกง เป็นจิตอาสา ดังเช่นการเล่นแบบฉันทะที่พิสูจน์แล้วว่า จากการเบ่น สู่การอยากเรียนรู้ สู่ความดี ดังนั้นรัฐบาลจะต้องลงทุนเรื่องเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ถ้าเราได้คนที่ดี ชาติเราก็จะรอด” ดร.ดิสสกร กล่าว

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น(สถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้ เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น” ตามแนวทางเล่นตามรอยพระยุคลบาท ด้วยการส่งเสริมให้ท้องถิ่นนำเอาแนวคิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

น.ส.ดวงพร เฮงบุญยพันธ์ ผู้อำนวนการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า เราสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้เครื่องมือหลายตัว และได้หารือ สถ. ว่าจะร่วมมือกันอย่างไร จึงเห็นว่าสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นสิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกันที่จะทำร่วมกัน สสส.จึงได้สนุบสนุนให้มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในท้องถิ่น

สนามเด็กเล่นนี้เน้นสร้างโดยชุมชน จะไม่มีค่าแรงใดๆ มีช่างชุมชน มีคนบริจาคของมา เราจะเห็นว่ากระบวนการทางสังคมเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ทั้ง พัฒนากาย จิต สังคม อย่างแท้จริง

เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เป็น 1 ใน 12 อปท. นำร่องของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และจะเป็นเป็นศูนย์ฝึกให้เครือข่ายอีก 500 แห่งทั่วประเทศ

นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเทศบาลตำบลปริก โดยการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสังคมแห่งความสุข ขณะเดียกัน สถ.ได้ให้คสามสำคัญกับการพัฒนาสุขภาวะเด็กทั้ง 4 ด้าน กาย จิต สังคม และปัญญา ซึ่งทางเทศบาลตำปริก ได้ทำสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาภายในโรงเรียนเทศบาลทั้ง 5 ฐานการเรียนรู้ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กได้เป็นอย่างดี มีความสุขกับการเล่น มีพัฒนาการรู้จักตั้งคำถาม สร้างกติการการเล่น การอยู่ร่วมกัน และช่วยฝึกวินัยของตัวเอง

เราเน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม จุดเปลี่ยนคิดว่าซื้อมาแค่วาง แต่อันนี้ไม่ใช่ เริ่มต้นต้องเริ่มทำ ผู้ปกครอง ชาวบ้าน ครู เจ้าหน้าที่ต้องไปช่วยกันสร้าง มาปรับวิธีคิดการทำงานการมีส่วนร่วม สร้างเสร็จแล้วก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแล ให้เด็กเล่นอย่ามีความสุข ไม่มีอันตราย เพื่อให้เป็นสนามเด็กเล่นของทุกคน

สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา แม้จะมีเครื่องเล่นอย่างง่าย เน้นวัสดุตามธรรมชาติ ไม่หรูหรา เร้าใจ เท่าของเล่นสมัยใหม่ แต่มีคุณค่ามากมายที่สามารถสร้างเด็กหนึ่งคนให้เป็นคนดีของชาติ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบของสังคม