กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์บ้านมะนาว

DSC_0647

เชื่อเถอะว่า ใครๆ ต่างก็รู้ดีถึงโทษของปุ๋ยเคมีว่า ยิ่งใช้เยอะ ผลผลิตที่ออกมาก็จะยิ่งแย่ตามไปด้วย แถมถ้ากินผลผลิตที่ปนเปื้อนเข้าไปสะสมมากๆ ก็ส่งผลเสียต่อร่างกาย คนบ้านมะนาวกลุ่มหนึ่งซึ่งรู้ซึ้งในเรื่องนี้ หลังจากได้สัมผัสดินแห้งกรังขาดธาตุอาหาร จึงเริ่มรวมกลุ่มเพื่อหาผลิตภัณฑ์ทดแทนสารเคมีโดยมี สำรัส แสบงบาล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

“ข้าวที่กินก็เริ่มแข็งไม่อร่อยเหมือนวันวานด้วย มันถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน” สำรัสว่า

ในช่วงนั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่มีงบประมาณโครงการอยู่ดีมีสุขตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาพอดี ผู้ใหญ่บ้านเริ่มจัดระดมความคิด พร้อมให้ภาพว่า ทุกวันนี้ดินแย่ลง ข้าวแข็ง ต่างจากเมื่อก่อนลิบลับ ฉะนั้นจึงน่านำงบตรงนี้เข้ามาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ดขึ้นมา เสียงแตกเป็นสองฝ่าย ด้วยส่วนหนึ่งมองว่าเกษตรเคมีนั้นสะดวก ไม่เปลืองเวลา

“ที่สุดเมื่อฝ่ายเห็นด้วยเป็นเสียงส่วนใหญ่ หมู่บ้านจึงได้นำงบประมาณทั้งสิ้น 300,000 บาท ตั้งคณะกรรมการขึ้น 14 คน มีชาวบ้านรวมกลุ่มเริ่มต้น 16 ครัวเรือน ไปอบรมที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ดูวิธีการทำปุ๋ยอย่างละเอียด พอเสร็จกลับมาก็สร้างโรงเรือน ซื้อเครื่องจักร เครื่องบด เครื่องร่อน เครื่องอัดเม็ด หมดเงินไปราวๆ 250,000 บาท ส่วนที่เหลือก็นำไปใส่ซื้อวัตถุดิบทำปุ๋ย” บัวลา ไชยทอง ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์เล่า

ส่วนวิธีการทำปุ๋ยหมักนั้น สัมฤทธิ์ เลิศศรี ปราชญ์ชาวบ้าน เล่าให้ฟังว่า ส่วนประกอบหลักๆ ก็มีขี้เป็ด แกลบดำ ฟอสเฟต น้ำหมัก รำ ปูนขาว และหัวปุ๋ยซึ่งเป็นสารเคมีอีกเพียงเล็กน้อย นำทั้งหมดใส่ผสมเข้าไป บดตีให้ละเอียด จากนั้นก็นำมาใส่เครื่องร่อน พอได้เรียบร้อยก็นำมาบรรจุใส่ถุงป่านที่เตรียมไว้ ถุงละ 50 กิโลกรัม ราคาขายถุงละ 180 บาท ขายให้เฉพาะคนหมู่ที่ 3, 11 และ 12

มาภายหลังเมื่อกระบวนการต่างๆ ลงตัว คณะกรรมการจ้างคนมาช่วยผลิตเพิ่ม โดยให้ค่าจ้าง 40 บาทต่อกระสอบ พร้อมกับตั้งราคาขายเงินสดกระสอบละ 280 บาท และ 290 บาท สำหรับผู้ที่ซื้อเป็นเงินเซ็น โดยต้องจ่ายเงินภายใน 3 เดือนก่อนการปันผล

ส่วนรอบของการผลิตมีทั้งหมด 3 รอบ คือเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม กล่าวง่ายๆ คือก่อนเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก โดยรอบหนึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 บาท ทำ 3 รอบ ได้ประมาณรอบละ 100 ถุง ขายให้บ้านมะนาวเป็นหลัก แต่ถ้าหมู่อื่นอย่างบ้านเหล่าใหญ่ หรือบ้านคำกั้งสนใจก็พร้อมขาย เพราะปุ๋ยตัวนี้สามารถนำไปใส่ได้ทั้งนาข้าว สวนยาง ไร่อ้อย

ปัจจุบันกลุ่มปุ๋ยนี้มีสมาชิกอยู่ราวๆ 80 ครัวเรือน ทั้งหมดอยู่ในบ้านหมู่ที่ 3, 11 และ 12 มีเงินหมุนเวียนอยู่ราว 60,000 บาท มีระบบหุ้นส่วนที่ชัดเจน

“เรามีการลงหุ้น หุ้นละ 100 บาท คนละไม่เกิน 10 หุ้น โดยเงินกำไรสุทธิภายหลังจากหักต้นทุนทั้งหมดแล้ว ร้อยละ 30 แบ่งให้คณะกรรมการ อีกร้อยละ 30 ปันผลให้สมาชิก ร้อยละ 20 ให้คนผลิตคนขายปุ๋ย ร้อยละ 10 เป็นค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ และร้อยละ 10 สุดท้ายมอบเป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ค่าน้ำมันเครื่องตัดหญ้า ถางป่าปีละ 3-4 ครั้ง ทำรั้วหมู่บ้าน หรือให้วัดบ้าง” บัวลาเล่า

นอกจากโครงการอยู่ดีมีสุขฯ แล้ว เกษตรกรจังหวัดเคยมาตรวจเยี่ยม ให้กากน้ำตาลมา 3 แกลลอน และสารเร่งซูเปอร์ พด.2 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ในการย่อยสลายอินทรียวัตถุอีก 10 ถุง ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนไปได้มากพอสมควร

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าปุ๋ยอินทรีย์นี้ยังต้องพัฒนาขึ้น เพราะชาวบ้านหลายคนยังไม่ยอมใช้ เพราะไม่สะดวก เนื่องจากไม่สามารถนำไปฉีดหว่านได้เหมือนปุ๋ยเคมี ต้องเทลงในพื้นที่แต่ละจุด แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับเกษตรกรรมพึ่งพิงตนเอง และเป็นแนวทางที่มีความยั่งยืน