CBT ท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชน

DSC_0496

เมื่อการท่องเที่ยวในเมืองปอนเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีหน่วยงานหลายแห่งเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนชาวบ้าน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือ สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม โดยมีชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางและจัดการ ในฐานะของเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมเยือนเกิดความรู้ และความเข้าใจในพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง

กัลยา รักจันทร์ หรือ ครูแมว ในฐานะของผู้ประสานงานกับสถาบัน เล่าว่า CBT เข้ามาสร้างเครือข่ายกับตำบลเมืองปอนเมื่อปี 2556 โดยเน้นการทำงานต่อยอดกับกลุ่มโฮมสเตย์ และกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่

“เขาเป็นฝ่ายที่เข้ามาหาเรา ซึ่งข้อดีคือ เขามีชื่อเสียงอยู่พอสมควร เพราะเขาสนับสนุนการท่องเที่ยวทั่วทุกภูมิภาค เขาแนะนำอะไรหลายๆ อย่าง เช่น สอนวิเคราะห์ว่า ชุมชนของเรามีจุดเด่นจุดด้อยอะไร วิธีจัดทัวร์เวลามีแขกต่างประเทศ เช่น แขกฝรั่ง แขกญี่ปุ่น แขกอินเดีย ควรจะจัดการอย่างไร แต่ว่าเราไม่ตื่นเต้น เพราะทำกันมานานแล้ว” ครูแมวว่า

การทำงานร่วมกับสถาบันฯ จึงเป็นการประสานความร่วมมือมากกว่า ความคิดหลายอย่างที่สถาบันฯ แนะนำ แต่ชาวบ้านเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือขัดกับแนวทางที่ทำอยู่ ก็ปฏิเสธไป ตัวอย่างเช่น การให้ใส่เสื้อทีม กางเกงยีนส์ แต่ชาวบ้านเห็นว่าควรใส่ชุดไทใหญ่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมากกว่า

“ความร่วมมือคือ เปลี่ยนเขาให้เป็นเรา ไม่ใช่เปลี่ยนเราให้เป็นเขา เรื่องไหนที่เห็นว่าดี ทำตาม อย่างเรื่องการพูดภาษาอังกฤษ เราเห็นว่าดี พยายามฝึกฝน ฉะนั้นบทบาทหลักๆ ของ CBT คือพานักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งเราต้องคอยย้ำกฎกติกาของเรา โดยเฉพาะเวลามีงานประเพณี ครั้งหนึ่ง เขาพาเด็กบังคลาเทศเข้ามา แล้ววันนั้นเรามีการทำจองพารา ปรากฏว่า เด็กใส่กางเกงขาสั้นเข้ามา เราต้องรีบหาชุดผ้าถุงสำหรับผู้หญิง และกางเกงขายาวสำหรับผู้ชาย ด้วยประเพณีของเรามีความละเอียดอ่อนมาก” ครูแมวอธิบาย

สำหรับรูปแบบของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนทุกวันนี้ ครูแมวเล่าว่า ได้แบ่งกิจกรรมเป็น 9 ฐานการเรียนรู้ คือ 1) คนไตกับใบตอง เป็นการเรียนรู้ว่า คนไต หรือไทใหญ่ ใช้ใบตองเพื่อทำอะไรบ้าง โดยส่วนใหญ่จะใช้ทำ ‘ก๊อกซอมต่อ’ หรือกระทงสำหรับบูชาเจ้าที่ ผีสาง และพระพุทธเจ้า พร้อมเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ฝึกเย็บกระทงด้วย 2) ขนมไต เป็นการไปศึกษาวิธีทำขนมพื้นถิ่นของคนเมืองปอน เช่น ข้าวแตกปั้น ซึ่งใช้เลี้ยงในเทศกาลปอยส่างลอง 3) ดอกไม้ชาวไต เป็นการศึกษาว่า เวลามีงานบุญ ชาวไตใช้ดอกไม้อะไรประกอบพิธีกรรมบ้าง เช่น ดอกก๊ำก่อ ดอกสะเป่ 4) นิทานพื้นบ้านของคนไต ซึ่งจะมีเรื่องราวต่างๆ เช่น ทำไมคนไตถึงถวายตุงในงานอวมงคลเท่านั้น 5) สถาปัตยกรรมไต โดยไปดูความสวยงามต่างๆ ของวัดเมืองปอน 6) ดนตรีพื้นบ้านชาวไต 7) อาหารไต ซึ่งจะทำเฉพาะตอนเย็น 8) พิธีกรรมชาวไต เรียนรู้ประเพณีต่างๆ ตามปฏิทินวัฒนธรรม และ 9) เสื้อไต เรียนรู้วิธีการปัก การทำกระดุม โดยพาไปดูที่กลุ่มประดิษฐ์เสื้อไต

“เวลาที่นักท่องเที่ยวเข้ามา ทาง CBT จะแจ้งเลยว่า มากี่วัน ต้องการดูวัฒนธรรมเรื่องใดบ้าง แล้วเราสามารถจัดอะไรได้บ้าง ฉะนั้นกิจกรรมที่จัดแต่ละครั้งจะไม่ตายตัว ถ้าตรงกับปฏิทินวัฒนธรรมของเรา จะพาไปร่วมด้วย แต่ถ้าไม่ตรงกัน ก็ต้องตัดฐานที่ 8 ไป ซึ่งอย่างไรเสีย ก็คงไม่ครบทั้ง 9 ฐานอยู่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะฝรั่ง ไม่ชอบเที่ยวทั้งวัน คือเช้าขึ้นมาคุณจะพาฉันไปไหน เราพาไปดูทุ่งนา พาไปดูเขาเกี่ยวข้าว กลับมา 10 โมง ดื่มน้ำชา พอบ่ายพาไปดูทำขนมไต หลังเสร็จ เขาก็ไม่ไปไหนแล้ว พอตอนเย็นก็เที่ยวตามอัธยาศัย ส่วนค่าบริการ เราจะคิดแพงขึ้นมาหน่อย ประมาณ 550 บาท แพงกว่าคนไทย 200 บาท ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ เพราะปัจจัยด้านอาหาร สมมติเราทำปลาเผา ถ้าเป็นคนไทย 1 ตัว จะแบ่งกันกิน แต่ฝรั่งเขาจะเอาไปเลย 1 ตัว เราเลยคิดเท่ากันไม่ได้” ครูแมวอธิบาย

ถ้าว่ากันตามความจริง ณ วันนี้ ด้วยฐานของความเชื่อ ธรรมชาติ และแนวคิดของคนกับชุมชนที่แข็งแรง เมืองปอนสามารถจัดการท่องเที่ยวด้วยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในตัวเอง โดยไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพิงหน่วยงานภายนอกมากนัก

“สิ่งที่เราทำ แม้จะเป็นการท่องเที่ยว การบริการ แต่เราใช้สิ่งที่มี ไม่ได้แต่งองค์ทรงเครื่องเพิ่ม ฐานเดิมล้วนๆ เพิ่มมาคือการจัดการ หรือการประสานงานมากกว่า วันนี้เราสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น โดยไม่เสียตัวตน ซึ่งนั่นครูแมวว่ายั่งยืน” ครูแมวกล่าวทิ้งท้าย…