ชาเจ๊ะเหม

DSC_0487

มาตำบลแว้งแล้วไม่ได้ชิมชาเจ๊ะเหมก็เหมือนไม่ได้มา นอกจากจะเป็นชาที่นี่ขึ้นชื่อที่สุด ยังเป็นชาที่มีแห่งเดียวในประเทศ หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

“สมัยก่อนมีชาวจีนอพยพเข้ามา 4-5 คน แล้วคนจีนที่ชื่อ พอพะ ก็เอาพันธุ์ชามาจากเมืองจีน ปลูกแซมกับสวนยางพารา โดยตั้งใจจะขาย แต่ไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร พอมารุ่นลูก อาแล ก็เลยสานเจตนารมณ์ต่อ คือทั้งปลูกทั้งขาย ปรากฏว่าขายดีกลายเป็นที่เลืองลืออย่างมากในพื้นที่ พอตอนหลังเขาเสียชีวิตไป ลูกหลานไม่ได้สานต่อ ล่วงเลยจนเกือบสาบสูญ กระทั่งปี 2542 นิมาโซ นิยอ ผู้นำในพื้นที่พยายามฟื้นฟูพันธุ์ชานี้ขึ้นใหม่” หัสนี เด่นดารา ประธานกลุ่มชาเจ๊ะเหมเท้าความที่มาที่ไปของชาเจ๊ะเหมให้ฟัง

นิมาโซได้ขอพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งเป็นต้นไม้ที่อยู่ในสวนของลูกหลานอาแลมาขยายพันธุ์ โดยขอให้ผู้ใหญ่บ้านเวลานั้นนำไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็นำเรื่องไปเสนอต่อกองทุนสิ่งแวดล้อมที่จังหวัดตรังเพื่อขอเงินสนับสนุน

“ตอนนั้นเราเอาต้นชาไปเสนอ โดยมีเป้าหมายเพื่อขอเครื่องจักร ฟาร์มขยายพันธุ์ เรือนเพาะชำ หรือสิ่งที่จำเป็น แต่กลายเป็นว่า แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้ว คำว่า เจ๊ะเหม (หอ-มอ-เอ) ทางนั้นอ่านไม่ออก เขาอ่านเป็น หอ-สระเอ-มอ ตามตัวอักษร โครงการของเราเลยผ่านในรอบนั้น จากนั้นเขามาดูพื้นที่ว่ามีต้นชาอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งเวลานั้นมีต้นชาดั้งเดิมอยู่ประมาณ 30,000 ต้น ส่วนชาวบ้านที่ร่วมโครงการ เราใช้ฐานสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ในพื้นที่ 40 กว่าคน โดยเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มชาเจ๊ะเหมแทน” หัสนีเล่า

ทว่าอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ได้เงินหรือไม่นั้น อยู่ที่พื้นที่ตั้งโรงเรือน ซึ่งกรรมการระบุว่าต้องติดถนนด้วย นิมาโซเลยยอมสละพื้นที่ของตนเองแล้วเสนอไปที่กองทุนฯ จนในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติเงินงบประมาณมา 353,950 บาท

เมื่อมีเงิน มีคน มีสถานที่ และได้พันธุ์ชามาเรียบร้อย ทางกลุ่มก็แบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งไปดูงานการผลิตชาที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เนื่องจากชาเจ๊ะเหมกับชาที่นั่นเป็นชาอัสสัมเหมือนกัน ส่วนที่เหลือก็แบ่งไปซื้อเครื่องจักรอเนกประสงค์สำหรับคั่ว นวด และอบชา จากนั้นก็สร้างตัวโรงเรือนครอบอีกที แล้วยังได้ทำโรงเพาะชำอีกตัว นอกจากนั้นก็ยังมีหน่วยงานรัฐ เช่น เกษตรอำเภอเข้ามาช่วยแนะนำวิธีการปลูก การปักชำ เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เคยชินกับการปลูกชาเท่าใดนัก ดีที่มีกลุ่มเยาวชนเข้ามาช่วยอีกแรง

พอปี 2544 กลุ่มได้เงินจากสำนักงานกองทุนเพื่อสังคมผ่านทางธนาคารออมสิน (SIF) มาขยายเรือนเพาะชำอีกโรง ทำให้ผลิตชาเพิ่มขึ้นได้มาก ประจวบเหมาะที่เวลานั้นทางจังหวัดนราธิวาสได้ยินว่าที่บ้านเจ๊ะเหมมีชาเด่น จึงช่วยประชาสัมพันธ์ให้ พร้อมกับจัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่ และส่งผลิตภัณฑ์ชาเข้าคัดสรร OTOP ประจำจังหวัด ได้ 4 ดาว รวมไปถึงผลักดันให้ทางกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ง่ายต่อการสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย

ส่วนวิธีการบริหารใบชาของกลุ่ม คือให้เกษตรกรแต่ละคนปลูกชามาส่ง ด้วยก่อนหน้านี้ เคยปลูกรวมกันแล้ว แต่ล้มเหลวเพราะระบบน้ำไม่ดี พอแยกกันปลูก ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นถึง 50 กิโลกรัมต่อรอบส่ง

“ชาของเราไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย เน้นธรรมชาติจริงๆ ยอดที่เกิดขึ้น มาจากการตกแต่งกิ่งทุก 15 วัน ทำให้ยอดอ่อนเกิด พอเก็บเสร็จก็แต่งใหม่ อีกครึ่งเดือนต่อมายอดก็เกิดใหม่ เราเก็บชาในตอนเช้า แต่บางคนเก็บตอนเย็น เพราะช่วงเช้าต้องทำสวนยาง เมื่อชาวบ้านมาส่ง วิสาหกิจจะรับซื้อที่กิโลกรัมละ 100 บาท เอามาส่งที่โรงเรือนนี้ จดยอดส่งไว้ เดือนหนึ่งจ่ายรอบหนึ่ง” หัสนีเล่า

พอได้ยอดชามา ทางกลุ่มก็นำใบชาไปตากในที่ร่มประมาณ 3-4 ชั่วโมง จากนั้นก็นำใบชาที่ได้มาคั่วรอบที่ 1 เป็นเวลา 20 นาที เพื่อกระตุ้นใบชา พอเสร็จก็นำไปนวดครั้งแรก อีก 20 นาที เป็นการกระตุ้นใบชาเหมือนกัน แล้วก็ส่งไปคั่วรอบที่ 2 อีก 20 นาที เพื่อให้ใบชาม้วนตัว จากนั้นก็นวดอีกรอบ 15-20 นาที แล้วอบให้แห้ง หรือตากให้แห้งก็ได้ ซึ่งถ้าตากจะใช้เวลานานหน่อย เสร็จแล้วก็นำไปคั่วในกระทะธรรมดา เพื่อเรียกกลิ่น แล้วบรรจุใส่ถุง หรือจะเอาไปบดใส่ถุงชาก็ได้ แล้วแต่ว่าจะผลิตออกมาในรูปแบบใด

ปัจจุบันชาเจ๊ะเหมมีสินค้าหลายรูปแบบ เช่น ถ้าเป็นแบบกล่อง บรรจุชา 12 ซอง ขายกล่องละ 75 บาท แต่ถ้าแบบใบชาบรรจุถุง ขายถุงละ 40 บาท นอกจากนี้ยังมีแบบที่เป็นของชำร่วย ของตกแต่งอีกมากมาย

“ชาเรามีสรรพคุณ ดื่มแล้วสดชื่น กระปรี้- กระเปร่า ช่วยลดไขมัน และคอเลสเตอรอล เพราะมีสารอนุมูลอิสระเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยสินค้ามีขายอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง และร้านค้าต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส

ส่วนรายได้จากการจำหน่ายนั้น หลักๆ จะเก็บไว้เป็นกองกลางเพื่อรับซื้อใบชาจากชาวบ้าน แต่จะแบ่งร้อยละ 20 สำหรับผู้ที่มาช่วยงานแปรรูปใบชาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่โรงเรือน 7 คน โดยจะจ่ายให้ทุกสิ้นเดือนเช่นกัน