‘เหตุด่วน ฉุกเฉิน เรียกหน่วยกู้ชีพกู้ภัย มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร 24 ชั่วโมง’ คือสโลแกนที่ชาวรือเสาะและคนในพื้นที่ใกล้เคียงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เนื่องด้วยในพื้นที่นี้มีเหตุด่วนเหตุร้ายเกิดขึ้นบ่อย ฉะนั้นการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่คนที่นี่ให้ความใส่ใจเป็นอันดับ 1
รุสดี โต๊ะฝ้าย หัวหน้าหน่วยกู้ชีพ และอับดุลรีซัม สะไร เจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัย เล่าว่า ในช่วงปี 2547-2549 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง จึงมีการก่อตั้งมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ที่จังหวัดปัตตานีเป็นที่แรกในปี 2549 ก่อนจะขยายเครือข่ายมาตามพื้นที่ต่างๆ รวม 8 เครือข่าย โดยสาขาที่อำเภอรือเสาะ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550
“ช่วงนั้นรือเสาะเป็นพื้นที่สีแดง เกิดความไม่สงบมากที่สุดในจังหวัดนราธิวาส ทางมูลนิธิเลยตั้งสาขาที่นี่ โดยประธานของสาขารือเสาะเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิอยู่ด้วย ตอนแรกเรามีสมาชิกประมาณ 4-5 คน สำนักงานตั้งอยู่ที่สามแยก ทุกคนทำงานแบบจิตอาสา มีการส่งผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงค้นหาอาสาสมัครเข้ามาอบรมด้วย รุ่นแรกได้ประมาณ 10 คน เข้าคอร์สการปฐมพยาบาล ทั้งการห้ามเลือด การการขนย้าย” อับดุลรีซัมอธิบาย
สำหรับอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการช่วยชีวิต มูฮัมมัด สลาตาโซะ ผู้ประสานงานศูนย์ บอกว่า ส่วนที่เป็นเงินทุนนั้นมาจากการเรี่ยไรกันเองในหมู่สมาชิก นำมาซื้อกาแฟ ชา อาหารไว้ที่ศูนย์ แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างเปล ชุดปฐมพยาบาลได้มาจากสาธารณสุขจังหวัด รถกู้ภัยได้มาจากสำนักงานใหญ่ของมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ขณะที่โทรศัพท์สำหรับติดต่อประสานงานได้มาจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย วิทยุสื่อสารได้รับอนุเคราะห์จากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30
ปัจจุบันมูลนิธิฮิลาลอะห์มัรสาขารือเสาะ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเกือบร้อยชีวิต เป็นหัวหน้าชุดทีมปฏิบัติงานกู้ชีพกู้ภัย 5 คน เป็นอาสาสมัครปฏิบัติงานกู้ชีพกู้ภัย 27 คน และอาสาสมัครแจ้งเหตุ 30 คน ทุกคนเป็นจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน แต่ละคนมีอาชีพประจำทำกันอยู่แล้ว เช่น หัวหน้ารุสดีความจริงแล้วเป็นครู พอโรงเรียนเลิกก็มาเข้าเวร โดยจะมีการจัดเวรตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 ทีม ทีมหนึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ 5 คน เป็นพลขับ 1 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพอีก 4 คน
ศูนย์แห่งนี้จะรับผิดชอบงานในพื้นที่อำเภอรือเสาะและศรีสาครเป็นหลัก โดยจะอาศัยข่าวสารจากเครือข่าย ทั้งผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม เยาวชน รวมไปถึงโทรศัพท์แจ้งข่าวผ่านหมายเลข 073-571911 หรือหมายเลขของศูนย์นเรนทร 1669 ซึ่งจะประสานมาที่มูลนิธิอีกที
“เมื่อไปถึงจะประเมินสถานการณ์ความรุนแรงก่อน ประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นว่าเป็นอย่างไร โดยหัวหน้าหน่วย หรือที่เรียกกันว่า คอมมานโด จะคัดแยกผู้บาดเจ็บสาหัส ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย และผู้เสียชีวิต ถ้าคนไหนอาการหนักก็จะทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำส่งโรงพยาบาลก่อน โดยรถคันหนึ่งสามารถนำส่งได้ 2 คน แต่ถ้าสถานการณ์นั้นเกี่ยวพันกับสถานการณ์ความรุนแรง เช่น มีระเบิด ต้องรอสัญญาณจากเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจก่อน ถึงจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะการทำงานอาสาที่ดี ความปลอดภัยและความรอบคอบถือว่ามาเป็นอันดับแรก” อับดุลรีซัมฉายภาพการทำงานให้เห็น
แม้จะไม่มีรายได้ แต่ทุกคนก็เต็มใจ ด้วยสิ่งที่ได้รับกลับมานั้นยิ่งใหญ่กว่า
“สถานการณ์แบบนี้ต้องช่วยกัน เรื่องเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ หลายคนแวะเวียนมาเยี่ยม ซื้อชา กาแฟ มาให้ บางคนบริจาคเงินสมทบเป็นค่าน้ำมันรถ ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เราได้รับน้ำใจเหล่านี้กลับมา ก็ดีที่สุดที่ต้องการแล้ว” รุสดีทิ้งท้าย…