กลุ่มขนมโบราณตำนานเมืองรือเสาะ

DSC_0895

กลุ่มแม่บ้านนี้มีที่ทำการอยู่บ้านยาเเลเบาะหมู่ที่ 5 ตำบลรือเสาะ อุษณีย์ มั่นคง ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านยาแลเบาะ เท้าความให้ฟังว่า เดิมในพื้นที่มีกล้วยน้ำว้ามาก ส่วนใหญ่ปลูกแซมอยู่ในสวนยาง แต่พอมีมาก ก็ขายไม่ได้ราคา ในปี 2542 แม่บ้าน 12 คน จึงตัดสินใจลงขันกันหุ้นละ 200 บาท จัดตั้งกลุ่มทำกล้วยฉาบขึ้น โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอรือเสาะเข้ามาช่วยเป็นวิทยากร ซึ่งนอกจากกล้วยฉาบแล้ว ยังเข้ามาสอนการทำกล้วยแก้ว เค้กกล้วยนึ่ง แต่ทว่าทำไปได้ระยะหนึ่งปรากฏว่ามีปัญหามากมาย จึงสลายตัวไปในปี 2546 โดยระหว่างที่หยุดไปนั้น ทางเกษตรอำเภอก็ยังเข้ามาส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ เช่นเดียวกับกลุ่มสตรีที่ยังเกาะกลุ่มกันทำงานด้านจิตอาสาในพื้นที่ เช่น การอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานให้คนที่เจ็บป่วยฟัง

กระทั่งปี 2548 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ มีข่าวลือต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ซบเซาเป็นอย่างมาก กลุ่มสตรีจึงตัดสินใจรวมตัวกันอีกครั้ง โดยคราวนี้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกประมาณ 30 กว่าคน โดยให้สมาชิกร่วมลงหุ้น หุ้นละ 20 บาท ไม่เกิน 10 หุ้น พร้อมกันนั้นยังได้เข้าอบรมทั้งเรื่องวิธีการทำขนมใหม่ๆ เช่น ปั้นสิบ น้ำเต้าหู้ ขนมกะหรี่ปั๊บ ขนมโก๋โบราณ ซึ่งได้มีการส่งผลิตภัณฑ์ เพื่อรับการคัดสรรหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในปี 2549 โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรร 2 ชนิดคือ ขนมปั้นสิบทอดได้ 2 ดาว และน้ำเต้าหู้ได้ 1 ดาว ทุกวันนี้กลุ่มมีการพัฒนาคุณภาพ แต่ยังไม่ส่งไปคัดสรรใหม่ เพราะมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินในการตั้งโรงเรือนผลิต

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำสอง ทางสหกรณ์จังหวัดจึงเข้ามาช่วยอบรมเรื่องการทำบัญชีให้กลุ่ม เนื่องจากแต่ก่อนไม่มีการแยกบัญชีกัน อย่างเวลาซื้อ-ขาย ก็จะเขียนบัญชีรวมกัน ทำให้บัญชีมีปัญหา ไม่รู้ว่าอะไรคือต้นทุนการผลิต หรือเงินเชื่อหลังจากที่ไปฝากของไว้ที่ร้านค้า ทำให้สุดท้ายกลุ่มต้องล้มลง

“สินค้าเรามีขายหลายที่ อย่างสมาชิกบางคนไปกรีดยางที่ศรีสาคร ก็จะนำไปฝากที่นั่น บางคนขายอาหารในตลาด ก็ฝากไปวาง หรือบางครั้งราชการต้องการก็สั่งมา สินค้าที่ขายดีที่สุดก็คือ ปั้นสิบทอด เราทำไส้ปลาเป็นหลัก ซึ่งชนิดของปลานั้นก็แล้วแต่ฤดูกาล รองลงมาก็เป็นน้ำเต้าหู้ เดิมเราใส่ถุง ถุงละ 5 บาท ต่อมาเราเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นขวด ราคา 8 บาท แต่เมื่อไปขายจริง คนชอบแบบใส่ถุง ก็ต้องกลับมาใส่ถุง ส่วนขวดเอาไว้เป็นทางเลือก” อุษณีย์เล่า

ปัจจุบันกลุ่มสตรีมีสมาชิกทั้งสิ้น 27 คน รายได้แบ่งเป็นส่วนๆ ส่วนที่ 1 ร้อยละ 50 นำเข้ากองกลาง เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย ส่วนที่ 2 ร้อยละ 25 สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เช่น สมาชิกเจ็บป่วย ต้องนอนโรงพยาบาล ให้ 200 บาทต่อคนต่อปี เวลาสมาชิกต้องเดินทางเพื่อกิจกรรมของกลุ่ม จะมีจ่ายค่าน้ำมันรถให้ หรือเวลามัสยิดขอเงินสนับสนุนก็จะช่วยบริจาค โดยมีเงินหมุนเวียนทั้งสิ้นประมาณ 5,000 บาท และส่วนที่ 3 ร้อยละ 25 แบ่งให้สมาชิก โดยใช้ฐานคิดที่ว่า สมาชิกทุกคนต้องทำงานเหมือนกันหมด ทั้งทอด ทั้งปั้น ทั้งบรรจุใส่ถุง ซึ่งจะมีการบันทึกอย่างละเอียดว่า แต่ละคนทำได้มากน้อยแค่ไหน โดยมีสหกรณ์การเกษตรรวมมิตรเข้ามาช่วยดูแลบัญชีให้อีกทางหนึ่ง

“หลังจากที่ไปปิดยอดบิลตามร้านต่างๆ เช่น ส่งวันที่ 8 เก็บเงินวันที่ 10 ส่งวันที่ 11 เก็บวันที่ 13 ถ้าสมมติว่าวันไหนขายไม่หมด ก็จะหักเงินตรงนี้ออกก่อน จากนั้นมาคิดหาทุนว่าเท่าไร กำไรเท่าไร คิดเป็นรายครั้ง พอครบ 1 เดือน ก็มาดูว่าต้องจ่ายแต่ละคนเท่าไร ตามบัญชีที่เราจดเอาไว้” ประธานอธิบาย

ส่วนวิธีบริหารงาน หลักๆ จะทำงานกันเป็นกลุ่ม กลุ่มทำขนมใช้คนทำประมาณ 5 คน น้ำเต้าหู้ประมาณ 7 คน แต่ละคนต้องมาตั้งแต่ช่วงตี 5 สัปดาห์หนึ่งทำประมาณ 2 วัน หลักๆ ทำวันจันทร์กับวันศุกร์ แต่จะมีบางสัปดาห์ที่อาจจะทำ 3 วัน โดยราคาน้ำเต้าหู้เวลานี้ถุงละ 8 บาท ส่วนปั้นสิบขายถุงละครึ่งกิโลกรัม ราคา 75 บาท

นอกจากขนมแล้ว ล่าสุดทางกลุ่มสตรีกำลังมีแผนแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกครั้ง โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาสร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ส่งมอบเครื่องคัดแยกเมล็ดแก่กลุ่ม ซึ่งสามารถแปรรูปผลไม้ที่มีเมล็ดได้ ทั้งลองกอง มังคุด มะขาม ด้วยการคั้นน้ำและแยกเมล็ดออกมา โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับผลผลิตทางเกษตรในพื้นที่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในแผนการผลิตแล้วคือน้ำลองกอง ภายใต้ยี่ห้อ ‘ซะลาม’ น่าสนใจใช่ไหมเล่า…