ช่างฝีมือกะลามะพร้าว

DSC_0329

ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวที่ตั้งเรียงรายอยู่ คือประดิษฐกรรมที่ชายอาวุโสแห่งหมู่ที่ 6 บ้านบาลูกา นามว่า นิเด นิแว ค่อยๆ สร้างสรรค์ขึ้นจากพรสวรรค์และภูมิปัญญาที่สั่งสมมานานหลายสิบปี

ในอดีตชายผู้นี้คือช่างก่อสร้างฝีมือเยี่ยม แต่เพราะโรคหัวใจที่เริ่มรุมเร้าทำให้เขาถูกแพทย์สั่งห้ามทำงานหนักเด็ดขาด เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ก็ช่วยภรรยาที่เป็นแม่ค้าขายขนมทำงานที่บ้าน จนไปสังเกตเห็นกะลามะพร้าวจำนวนมากที่ภรรยากองทิ้งไว้ นิเดจึงลองหยิบกะลามะพร้าวรูปทรงสวย สมส่วน มาตัดประกอบใหม่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์จนเกิดเป็นชิ้นงานที่สวยงาม

“ตอนนั้นมีเศษกะลามะพร้าวเยอะมาก บางส่วนถูกปล่อยให้น้ำขัง กลายที่เพาะพันธุ์ยุง เลยคิดว่าน่าจะทำให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งตัวเองพอมีประสบการณ์งานไม้อยู่ จึงนำมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยแรกๆ ก็ทำเป็นกระปุกออมสินก่อน แล้วก็พัฒนาไปเรื่อยๆ เป็นโคมไฟ เหยือกน้ำ” นิเดอธิบายความผ่านล่าม

วิธีการผลิตไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก อย่างกระปุกออมสิน นิเดจะคัดเลือกที่ขนาดเข้าคู่กันได้ก่อน เพื่อทำเป็นส่วนบนกับส่วนล่างของกระปุก โดยก้นกะลาส่วนฐานต้องแบนพอสมควร เพื่อให้กระปุกสามารถตั้งได้ จากนั้นนำมาขูดเนื้อและขัดให้เรียบร้อย นำไปล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง นำไปเจาะรูเป็นที่หยอดเหรียญ จากนั้นเชื่อมกะลาทั้งคู่ด้วยกาว ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยรากไม้ที่หามาจากป่า หรือผลอ่อนๆ ที่แห้งแล้ว ทำเป็นขั้วคล้ายผลมังคุด ใช้เวลาประมาณ 1 วันก็เสร็จเรียบร้อย

นิเดไม่ได้ตั้งใจทำขาย แต่ตอนหลังมีคนมาเห็นแล้วชอบ ขอซื้อ พร้อมช่วยประชาสัมพันธ์ให้ จึงมีคนมาขอซื้อเพิ่มเติม เลยกลายเป็นสินค้าไปในที่สุด

“ช่วงนั้นไม่รู้จะตั้งราคาเท่าไร เลยให้เขาตั้งให้เอง อย่างกระปุกออมสินก็กระปุกละ 100 บาท หลังจากนั้นก็ขายตามราคานั้นเลย กระปุกนี้มีคนมาซื้อเรื่อยๆ นะ อาทิตย์ละครั้ง ครั้งหนึ่งซื้อไปเป็นสิบๆ ใบ ส่วนโคมไฟตัวใหญ่ตัวละ 2,000 บาท ตอนนี้ขายไปหมดแล้ว” นิเดเล่าพร้อมชี้มือมาที่โคมไฟชิ้นใหญ่ ซึ่งไปยืมมาจากลูกค้าเพื่อนำมาประกอบการสนทนา

ผลงานของนิเดยังกระจายไปไกลถึงกรุงเทพมหานคร เพราะมีลูกหลานอยู่ที่นั่น และเปิดร้านขายของ จึงนำเอาผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย โดยนิเดส่งไปประมาณ 2-3 ครั้งก็ต้องหยุดพัก เนื่องจากปัญหาสุขภาพ

นอกจากกะลามะพร้าวแล้ว นิเดยังนำเศษไม้และวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้มะปราง มาประดิษฐ์เป็นปลอกมีดขนาดต่างๆ ตัวใบมีดทำจากใบมีดตัดหญ้า ด้วยความที่คนมีความสามารถแบบนิเดมีเพียงคนเดียว ทาง อบต. และหน่วยงานอื่นๆ จึงสนับสนุนให้มีการส่งต่อความรู้ต่อไปยังคนรุ่นหลัง เพื่อรักษาภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่ในพื้นที่ต่อไป…