กีรออาตี หลักธรรมนำสุข

DSC_0992

หนึ่งในภารกิจสำคัญของคนมุสลิมคือสามารถอ่านคัมภีร์อัลกุรอานได้ ทว่าอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของภาษาอาหรับ ด้วยเหตุนี้กลุ่มสตรีชาวรือเสาะที่มีความรู้จึงมารวมตัวกันที่มัสยิดกลางเพื่อสอนการอ่านภาษาอาหรับแก่เด็ก เยาวชนและผู้ที่ใฝ่ในหลักคำสอนขององค์พระศาสดา

“จริงๆ กลุ่มสตรีนี้รวมตัวกันมานานแล้ว รวมกันเกือบ 100 คน มาช่วยงานจิปาถะที่มัสยิด พอปี 2543 เกิดการพูดคุยกันว่าอยากทำประโยชน์ให้สังคม จึงรวมตัวเพื่อสอนอ่าน อัลกุรอานในตอนเย็น แรกๆ ไปดูงานมา เห็นหลักสูตรใหม่เกิดขึ้น เรียกว่ากีรออาตี ใช้หนังสือ 5 เล่ม กับเล่มหลักการอ่านอีกเล่มหนึ่ง สอนเหมือนภาษาไทย มีมาตราตัวสะกด สอนง่าย เรียนง่าย เช่น ซ.โซ่ จะเทียบกับตัวไหน และก็มีรูปภาพที่มาของตัวอักษรว่าตัวนี้ เสียงออกมาจากส่วนไหนของลิ้น ใช้เวลาสอนอยู่ 7 เดือนก็จบ” สิริลดา โว๊ะนิเน็ง กรรมการและเลขานุการกลุ่มกีรออาตี เท้าความ

การเรียนยุคเริ่มแรกนั้น เรียนเวลา 16.30-18.00 น. มีครูอยู่ 2-3 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะเด็กผู้ชายไปเรียนช่วงค่ำกับครูที่ใช้ระบบเก่าหรือระบบบัฆดาดี เนื่องจากกีรออาตียังไม่เฟื่องฟูเท่าใดนัก และครูที่สอนตามบ้านเองก็ไม่ค่อยชอบ ไม่เชื่อว่าดีจริง แต่หลังจากการสอนระบบนี้ไปนานเข้าก็เริ่มเห็นผล เด็กที่ผ่านหลักสูตรกีรออาตีนี้สามารถเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาของอิสลามศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง และหลายๆ คนที่ผ่านกีรออาตีก็ไปแข่งขันอ่านพระคัมภีร์ในระดับภาค ระดับจังหวัดจนได้รางวัลมากมาย

กระทั่งปี 2549 ทางคณะกรรมการมัสยิดได้เชิญกลุ่มครูมาสอนที่มัสยิด พร้อมกับอบรมบุคลากรเพิ่มเติม ได้ครูเพิ่มเป็น 10 คน แต่อยู่ได้ประมาณ 7 ปี มีการโยกย้ายเพราะอาคารมัสยิดปิดซ่อม โดยไปเช่าบ้านทำโรงเรียนกีรออาตีขึ้นมา ครั้งนั้นได้เงินสมทบจากชาวบ้านเดือนละประมาณ 2,000-3,000 บาท แบ่งกลุ่มการสอนเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ ทว่าเปิดโรงเรียนได้ไม่นาน พออาคารซ่อมเสร็จ มัสยิดก็เชิญกลุ่มสตรีกลับไปสอนที่เดิมอีกครั้ง

ปัจจุบันกลุ่มผู้สอนกีรออาตีนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 14 คน มีนักเรียนผู้ใหญ่ 20 คน เด็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไปอีก 160 กว่าคน ส่วนค่าเรียนนั้นไม่ได้บังคับ แต่ทางกลุ่มจะมีซองให้บริจาค โดยครูจะได้ค่าสอน 300-400 บาทต่อเดือน

รูปแบบการสอนนั้นมีการแยกหญิงชายชัดเจน เรียนทุกวัน โดยกลุ่มเด็กเรียนตั้งแต่ 16.30-19.30 น. ผู้ใหญ่เรียนตั้งแต่ 20.00-21.00 น. ครูจะมีแผนการสอนชัดเจน เช่น ครูที่สอนเล่มแรก ครั้งที่ 1 ต้องสอนชื่อพยัญชนะอาหรับ พอครั้งที่ 2 สอนเรื่องพยัญชนะที่มีเครื่องฟัตฮะฮ์ ครั้งที่ 3 เป็นเรื่องการเปลี่ยนรูปพยัญชนะ ครั้งที่ 4 เป็นเรื่องพยัญชนะที่มีเครื่องหมายกัซซะเราะฮ์ ดอมมะห์ และตันวีน ครั้งที่ 5 เป็นเรื่องพยัญชนะที่เป็นสระ ครั้งที่ 6 เป็นเรื่องการอ่านออกเสียงยาว 1 จังหวะ ครั้งที่ 7 เป็นเรื่องพยัญชนะที่มีเครื่องหมายซูกูน ครั้งที่ 8 พยัญชนะที่เป็นสระเสียงยาว 2 จังหวะ และ 6 จังหวะ และการอ่านออกเสียงยาวตามสัญลักษณ์ ครั้งที่ 9 เรื่องพยัญชนะที่มีเครื่องหมายนูนซูกูนและเครื่องหมายตันวีน ครั้งที่ 10 เป็นเรื่องพยัญชนะที่มีเครื่องหมายซับดูหรือตัสติด ครั้งที่ 11 เรื่องสัญลักษณ์อิดฆอมและสัญลักษณ์ยาอิซ และครั้งที่ 12 เป็นการวัดผลและประเมิน โดยแต่หัวข้อจะมีการเรียนไม่เท่ากันตามความยากง่าย บางเรื่องสอนแค่วันเดียว บางเรื่องต้องสอน 2 วัน โดยในกรณีห้องเด็กนั้นจะแบ่งชั่วโมงเรียนเป็นภาคทฤษฎี 1 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 2 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ในปี 2549 ทางกลุ่มกีรออาตียังจัดตั้งชมรมเพื่อสาธารณประโยชน์ขึ้นมา ในนามของชมรมกีรออาตีมัสยิดกลางยุมอียะห์รือเสาะ โดยมี อาซิ หะยีสะนิ เป็นประธานชมรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีความรู้ความสามารถในการอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอาน ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราวๆ 200-300 คน คิดค่าสมัคร 100 บาท ส่วนครูเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ โดยแต่ละเดือนครูต้องออมเงินเดือนละ 50 บาท เพื่อเป็นทุนในการทำกิจกรรมการกุศลต่างๆ เช่น บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ บริจาคเงินให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ยากจน มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนดีแต่ยากจน ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร…