ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวเวียงจันทร์จำนวนมากได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย และในจำนวนนั้นหลายร้อยคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตชุมชนบ้านนา หมู่ที่ 1 ตำบลโพรงมะเดื่อแห่งนี้ โดยในช่วงนั้นกลุ่มชนนี้ยึดอาชีพการทำครั่ง และสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนคนเรียกกันติดปากว่า ‘ลาวครั่ง’
เอกลักษณ์สำคัญของกลุ่มลาวครั่งคือการนับถือผีเจ้านาย ซึ่งตามมโนทัศน์เชื่อว่า เป็นบุคคลที่มีวีรกรรม มีบุญบารมี และถือเป็นวิญญาณที่คุ้มครองชาวลาวครั่งให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข
ในวันนี้ไม่มีใครทำครั่งแล้ว เช่นเดียวกับความเชื่อ ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีพื้นถิ่นหลายอย่าง ทั้งเครื่องแต่งกาย อาหารการกิน เครื่องดนตรีอย่างกลองยาว และแคน รวมไปถึงเครื่องจักสาน ที่บัดนี้เริ่มเลือนหายไปเกือบสิ้นแล้ว
กระทั่งในช่วงหลังทางเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อได้จัดประกวดภูมิปัญญาชาวบ้าน ทางชุมชนบ้านนาได้นำกลองยาว แคนมาเล่นประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยมี ลุงบิน ทาทราย ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาด้านนี้เป็นตัวนำ
จนกระทั่งในปี 2552 เมื่อมีการเปิดศูนย์สามวัยสานสายใยรักแห่งครอบครัวขึ้น ชาวบ้านก็เลยมารวมตัวกันเพื่อรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ดีงามให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เฉลียว สุทโธ รองประธานชมรมลาวครั่งเล่าให้ฟังว่า กลุ่มเริ่มนำทักษะของลุงบินมาสืบสาน ด้วยการฝึกให้คนในพื้นที่ เช่นเดียวกับเรื่องเสื้อผ้า ซึ่งมีการหยิบเอาชุดพื้นเมืองกลับมาใส่กันอีกครั้ง
“สมัยก่อนเวลามีงานทำบุญ เราต้องไปจ้างคนลาวครั่งในพื้นที่อื่นมาตีกลองยาว ก็เลยกลับมาคิดว่าเมื่อมีภูมิปัญญาอยู่แล้ว ทำไมยังต้องจ้างอีก ก็เลยให้ลุงบินช่วยฝึกให้กับผู้สูงอายุ 7-8 คน มาช่วงหลังก็เริ่มฝึกเด็กด้วย จนตอนนี้กลุ่มมีคนที่มีความสามารถ ออกงานได้ประมาณสิบกว่าคน” นฤมล อ่อนพันธุ์ สมาชิกชมรมอีกหนึ่งร่วมถ่ายทอดให้ฟัง
นอกจากเรื่องดนตรีแล้ว ยังมีการฟื้นฟูการร่ายรำประกอบ โดยเฉพาะการรำกลองยาว และฟ้อนแคน ซึ่งความจริงประเพณีนี้ได้สูญหายไปแล้ว แต่ทางกลุ่มก็ได้ไปศึกษาดูงานจากพื้นที่อื่นๆ ที่มีชาวลาวครั่งอาศัยอยู่ และยังรักษาประเพณีเอาไว้ได้ เช่นที่ จังหวัดกำแพงเพชร อุทัยธานี และชัยนาท
ส่วนเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ ก็ได้มีการนำกลับมาสวมใส่ โดยเฉพาะในกลุ่มสุภาพสตรี ซึ่งชาวลาวครั่งนิยมนุ่งผ้าซิ่น ชายข้างล่างเป็นตีนจก สวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก ในยามที่ออกงานจะมีสไบห่มพาดลำตัวด้วย
ทว่าถึงประเพณีของลาวครั่งจะสูญหายไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ยังดำรงอยู่เรื่อยมา เช่น ภาษา ซึ่งส่วนมากถ่ายทอดกันในครอบครัว จะมีหล่นหายไปบ้างเมื่อชาวลาวครั่งแต่งงานกับคนนอกชาติพันธุ์ เช่นเดียวกับเรื่องอาหารที่ยังหลงเหลือ ที่เด่นๆ เลยคือ แกงผำ แกงเปรอะ และแกงหัวปลี โดยเฉพาะแกงผำ ซึ่งผำเป็นพืชตระกูลแหนแต่เกิดในน้ำสะอาด นอกจากนี้ยังมีแห่ธงสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี แล้ว
สีนันท์ ทองรุณ และ จำเนียน หงส์ทอง สมาชิกอีกสองคนของกลุ่มช่วยกันถ่ายทอดให้ฟังว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ในระยะหลังที่ตั้งชมรมขึ้นมา ได้มีการรวบรวมประเพณีต่างๆ ของชาวลาวครั่งมาใส่ไว้ในกิจกรรมนี้ด้วย ทั้งเรื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย และอาหาร
“สมัยก่อนชาวบ้านทอผ้ากันเอง แล้วพอถึงช่วงเทศกาล เขาจะเอาผ้าที่ทอไปคลุมตัวซุ้มผ้าป่าเอาไว้ จากนั้นแห่ไม้ไผ่เข้าไปถวายวัด แต่สมัยนี้เราไม่ได้ทอเอง เพราะประเพณีทอผ้าเราไม่มีแล้ว ก็เลยเปลี่ยนไปใช้วิธีซื้อผ้าที่เห็นว่าสวยงามมาแต่งแทน พอแห่เสร็จเราก็นำไม้ไผ่นี้ไปปักเป็นเสาเอาไว้” สีนันท์ขยายความ
ส่วนอีกประเพณีหนึ่งคือ การทำบุญกลางบ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องผีเจ้านาย โดยผีที่ชาวบ้านนับถือคือ เจ้าพ่อสิงหาญฟ้าแลบ โอรสของกกุสันโธ ซึ่งเป็นแม่ทัพที่มีความเก่งกล้าสามารถในการรบและมีวิชาดี โดยชาวบ้านเชื่อว่าท่านมีอำนาจบันดาลให้เกิดสิ่งที่เป็นสิริมงคล และช่วยคุ้มครองดูแล
พิธีกรรมจัดในวันอังคารแรกที่เป็นวันข้างขึ้นเดือน 7 ของทุกปี โดยจะมีการตั้งศาลเพียงตาหน้าศาลเจ้าพ่อ แล้วจัดขบวน
แห่ขันประจำปี ซึ่งประกอบไปด้วยไก่ เหล้า อาหาร และผลไม้ต่างๆ ไปรอบหมู่บ้าน จากนั้นก็นำไก่มาฆ่าด้วยการใช้ไม้ตีหัว โดยให้เลือดหยดลงไปที่ไม้ธรณี จากนั้นก็นำไก่ตัวนี้มาต้มถวายเจ้าพ่อ โดยระหว่างต้มไก่ก็จะมีแก้บนประจำปีของแต่ละครอบครัว รวมไปถึงบนคุ้มปีในปีถัดไปด้วย
เมื่อตกเย็นชาวบ้านนาจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ที่กลางหมู่บ้าน เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้พ้นไป พอรุ่งขึ้นชาวบ้านจะนิมนต์ให้พระภิกษุฉันภัตตาหารเช้า และจัดทำกระทงไปวางตรงทางเข้าชุมชนทั้งสี่ทิศ เพื่อเซ่นไหว้ผีที่อยู่นอกหมู่บ้านไม่ให้เข้ามาทำร้ายคนในชุมชน เช่นเดียวกันในแต่ละครอบครัว ก็จะเตรียมอุปกรณ์เพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และบอกกล่าวผีที่มีอยู่ทั่วๆ ไปในชุมชน โดยจะทำเป็นกระทงหน้าวัว ซึ่งเป็นกระทงสามเหลี่ยม จากนั้นนำดินเหนียวมาปั้นเป็นตัวคนและสัตว์เลี้ยงต่างๆ เท่าจำนวนคนในครอบครัว แล้วใส่ลงไปในกระทง พร้อมกับอาหารคาวหวานและน้ำดื่ม จากนั้นทำพิธีเชิญเจ้าพ่อประทับร่างทรง แล้วพรมน้ำมนต์ทุกกระทง แต่ภายหลังไม่มีร่างทรง จึงใช้วิธีนิมนต์พระภิกษุมาทำพิธีแทน จากนั้นตัวแทนของแต่ละครอบครัวก็จะนำกระทงเหล่านี้ไปวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านที่เป็นทางสามแพร่ง เปรียบเสมือนเป็นการเสียกบาลให้แก่ผีที่วนเวียนอยู่ในพื้นที่
ปัจจุบันนอกจากหมู่ที่ 1 บ้านนา แล้ว ชาวลาวครั่งในพื้นที่เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อนี้ยังกระจายตัวอยู่ในหมู่ที่ 3, 5, 8 และ 10 โดยรวมกลุ่มกันเป็นชมรมชาติพันธุ์ลาวครั่ง มี อนงค์ลักษณ์ ตันกิตติวัฒน์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลโพรงมะเดื่อเป็นประธานชมรมฯ มีสมาชิกประมาณ 50 คน ที่สำคัญยังมีการต่อยอดด้วยการไปถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รวมไปถึงนักเรียนจากโรงเรียนโพรงมะเดื่อเป็นระยะๆ เพื่อให้วัฒนธรรมยังคงอยู่คู่สังคมบ้านนาสืบไป…