กองทุนสัจจะสวัสดิการตำบลเหล่าใหญ่

DSC_0670

หนึ่งในสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ ก็คือโครงการสวัสดิการออมวันละบาท ซึ่งมีที่มาแตกต่างกันไป บ้างเกิดขึ้นเพราะภาครัฐมีนโยบาย บ้างเกิดขึ้นมาก่อน ที่ตำบลเหล่าใหญ่เองก็ได้รับการกระตุ้นจากนโยบายรัฐ โดยได้ใช้การต่อยอดขึ้นมาจากกลุ่มทอผ้าลายเก็บจก หมู่ที่ 7

“เราอยากช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เกิดจนตาย จึงรวมกลุ่มโดยเอาสมาชิกจากกลุ่มทอผ้า 41 คน มาจัดตั้งกลุ่ม ไม่ได้รวมหุ้นอะไร แต่เราใช้วิธีเก็บเงินกันทุก 6 เดือน เดือนละ 30 บาท เก็บแบบนี้ปีละ 2 ครั้ง” ประคอง นนทมาตย์ ประธานกองทุนสัจจะสวัสดิการ ตำบลเหล่าใหญ่ ฉายภาพให้เห็น

สำหรับกองทุนนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ที่ 1,679 คน จากจำนวนประชากรทั้งตำบล 7,635 คน และตั้งใจจะขยายสมาชิกให้ครบจำนวนให้เร็ว โดยกองทุนจะเก็บค่าสมัครคนละ 20 บาท และมีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายสวัสดิการสามขาของรัฐบาล โดยเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่เคยมอบเงินอุดหนุนเป็นจำนวน 250,000 บาท รัฐบาลให้ผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) อุดหนุน 3 ครั้งระหว่างปี 2554-2556 รวมเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท รวมกับกำไรส่วนหนึ่งจากการขายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าลายเก็บจก หมู่ที่ 7 ประมาณ 60,000 กว่าบาท โดยในช่วงสิ้นปีจะมีการจัดการประชุมสามัญประจำปี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ของกองทุนฯ

ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการได้จัดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมสวัสดิการเรื่องต่างๆ 9 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. การเกิด จะมีการผูกแขนให้เด็กเกิดใหม่ จำนวน 500 บาท และให้ค่านอนโรงพยาบาลแก่คุณแม่ คืนละ 200 บาท ไม่เกิน 1,000 บาทต่อปี

2. เกษียณอายุ มอบให้แก่คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยต้องเป็นสมาชิกครบ 5 ปี มอบให้ 500 บาท

3. นอนโรงพยาบาล มีเงินให้วันละ 200 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อปี

4. เสียชีวิต ถ้าสมาชิกครบ 6 เดือนได้รับ 1,000 บาท ถ้าครบ 1 ปีจ่ายให้ 1,500 บาท ครบ 2 ปีให้ 2,500 บาท ครบ 3 ปีให้ 3,500 บาท อธิบายง่ายๆ คือบวกเพิ่ม 1,000 บาทเมื่อเป็นสมาชิกครบ 1 ปี จนถึงอายุ 10 ปี จะให้ 10,500 บาท หลังจากนั้นจะให้อัตรานี้คงที่เสมอ

5. ทุนการศึกษาบุตรสมาชิก ถือเป็นสวัสดิการใหม่ ให้คนละ 100 บาท ต่อปี

6. ส่งเสริมอาชีพ โดยให้นำเงินของกองทุนไปซื้อฝ้ายกับกลุ่มทอผ้าลายเก็บจก ทอเสร็จก็นำผ้าไปขายให้กลุ่มนั้น ส่วนต้นทุนที่ยืมมาก็ส่งคืนกองทุนฯ

7. ช่วยสาธารณประโยชน์ ถือเป็นสวัสดิการใหม่อีกเรื่อง โดยคณะกรรมจะนำเงินส่วนหนึ่งไปร่วมทำบุญประเพณีต่างๆ ในพื้นที่

8. สวัสดิการของคณะทำงาน เนื่องจากกองทุนนี้จะมีการเปิดรับสมาชิก และมีคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตลอดเวลา ทำให้เงินในบัญชีเกิดการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านขึ้นในตำบลเหล่าใหญ่มาช่วยจัดการในเรื่องพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บเงิน คนทำบัญชี คนต้อนรับ รวมแล้วประมาณ 10-12 คน โดยหน้าที่หลักของคนกลุ่มนี้คือ ทำงานทุกวันเสาร์แรกของเดือน ซึ่งเป็นวันเปิดทำการของกองทุนฯ ส่วนรายได้ก็แล้วแต่ที่กรรมการเห็นสมควร

9. สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาว่าควรให้หรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ตาม แม้กองทุนสัจจะสวัสดิการตำบลเหล่าใหญ่จะยังไม่เข้มแข็ง และมีสมาชิกค่อนข้างน้อย แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคมในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน แม้จะมีสถานภาพแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม ที่สำคัญคือการที่ผู้คนได้ลุกขึ้นจัดการตนเอง มอบความช่วยเหลือให้แก่กันและกัน

“ยากดีมีจน สวัสดิการชุมชนก็คุ้มครอง โดยยึดหลักที่ว่า ‘ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี’ ” ประคองทิ้งท้าย