สภาวัฒนธรรม

DSC_0537

ถึงตำบลเหล่าใหญ่จะมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมภูไทซึ่งสืบสานมานานหลายช่วงอายุคน แต่ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลบ่าเข้ามาจากภายนอกได้สร้างความสั่นสะเทือนไปพอสมควร

ฉะนั้นเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมมีแนวทางให้จัดหวัดต่างๆ จัดตั้งสภาวัฒนธรรมขึ้น ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2553 และให้ตั้งไล่มาจนถึงระดับอำเภอ และตำบลด้วย เทศบาลเหล่าใหญ่จึงตอบรับแนวคิดทันที โดยสภาวัฒนธรรมได้รับการอุดหนุนงบประมาณรายปีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากงบในส่วนของวัฒนธรรม การศึกษา และพัฒนาคุณชีวิต ไม่เกินร้อยละ 3 ของงบประมาณทั้งหมด

“คิดเป็นตัวเงินก็ตกราวแสนกว่าบาทต่อปี” พรพรรณ แก้วคำภา ปลัดเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ ว่า

กระนั้นก่อนหน้าที่มีนโยบายของรัฐบาลเรื่องการจัดตั้งสภาวัฒนธรรม ที่นี่เองก็มีการสนับสนุนในรูปแบบขององค์กรเช่นกัน แต่ยังไม่เด่นชัดเท่า คือมีการเชิญคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ขอแรงจากชุมชน อย่างกิจกรรมที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญคือกิจกรรมลงข่วงเข็นฝ้าย ซึ่งมีการใช้พื้นที่ลานโล่งให้คนหนุ่มคนสาวได้มีโอกาสพบปะเจอะเจอกัน

ทั้งนี้เมื่อเกิดสภาวัฒนธรรม บทบาทก็มีความชัดเจน โดยนอกจากจะส่งเสริมความรู้ด้านวัฒนธรรมแก่คนในพื้นที่แล้ว เพ็ญศรี นิลสม ผู้ช่วยนักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ เล่าว่า สภาวัฒนธรรมยังต้องเข้าไปช่วยจัดงานต่างๆ

“โดยเฉพาะในงานบุญ 12 เดือน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญเดือนสี่ หรืองานบุญผะเหวด ซึ่งเป็นงานบุญที่จะมีการสวดเทศน์มหาชาติเรื่องพระเวสสันดรให้จบภายในวันเดียว งานบุญบั้งไฟ ซึ่งจัดช่วงเดือนหก โดยบางปีเทศบาลก็เป็นผู้อุดหนุนเรื่องงบประมาณ แต่ในปี 2558 นี้ได้ทำข้อตกลงกับอำเภอกุฉินารายณ์” เพ็ญศรีขยายความ

นอกจากนั้นยังมีงานลงข่วงเข็นฝ้าย เข้าพรรษา ออกพรรษา บุญข้าวจี่เดือนสาม บุญคุ้มข้าว ซึ่งเทศบาลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง หรือพิธีกวนข้าวทิพย์ ที่พนักงานเทศบาลจะมีการเรี่ยไรเงิน ซื้ออุปกรณ์ไปทำบุญร่วมกัน ถือเป็นความร่วมมืออย่างดีระหว่างประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้เป้าหมายของสภาวัฒนธรรม ก็เพื่อให้วัฒนธรรมยังคงได้รับการสืบทอดอย่างถูกต้องตามประเพณี เพราะเมื่อก่อนเวลาชาวบ้านไปทำงานต่างถิ่น เมื่อกลับเข้ามาก็มักจะเอาวัฒนธรรมถิ่นอื่น ติดเข้ามาด้วย ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมเปลี่ยนรูปไป นี่ยังไม่รวมไปถึงวัฒนธรรมจากโลกาภิวัตน์ผ่านสื่อต่างๆ

จากการส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ ได้รับรางวัล อปท. ดีเด่นด้านวัฒนธรรมของจังหวัดกาฬสินธุ์ จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถึง 2 ปีซ้อน คือในปี 2555 และ 2556 ยืนยันถึงความสำเร็จในการส่งเสริมวัฒนธรรมให้ยังคงอยู่ในพื้นที่นี้ด้วยความมั่นคง