กลุ่มจักสาน หมู่ที่ 1

DSC_0470_1

ตรงลานหน้าบ้านของ ใครศรี โสภาคะยัง ประธานกลุ่มเสื้อเย็บมือ หมู่ที่ 1 เป็นที่รวมตัวของเหล่าสุภาพบุรุษตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงวัยชรา พวกเขามารวมตัวกันทำเครื่องจักสาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่พวกเขาสืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษ

ถนอม พลขำ ในฐานะประธานกลุ่มจักสาน เล่าที่มาของกลุ่มว่า จริงๆ แล้วเกิดพร้อมกับกลุ่มเสื้อเย็บมือ คือในปี 2549 โดยใช้สถานที่ตั้งแห่งเดียวกัน ซึ่งเหตุผลที่ทำกลุ่มนี้ มี 2 เรื่องด้วยกัน คือเป็นการส่งเสริมคนชราในพื้นที่ให้มีกิจกรรมยามว่าง หรือมาพูดคุยกัน ส่วนเหตุผลหนึ่งคือ หลายคนทำผลิตภัณฑ์จักสานอยู่ก่อนแล้ว แต่ขายกันแบบสะเปะสะปะ คือไม่มีจุดศูนย์กลางในการขาย แถมการตั้งราคาก็เป็นปัญหา เพราะบางคนตั้งแพงเกินไป เพราะฉะนั้นหากรวมตัวกัน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพในพื้นที่แล้ว ยังไม่เป็นการเอาเปรียบชุมชนอีกด้วย

สำหรับการรวมกลุ่มกันครั้งนี้ ก็ไม่แตกต่างกับกลุ่มเสื้อเท่าใดนัก คือสมาชิกทั้ง 24 คนมีการลงหุ้นคนละ 50 บาท เงินจำนวนนี้นำไปลงทุนซื้อไม้ไผ่ ตีนกระติบข้าว จากนั้นก็นำมาแบ่งกัน คนไหนอยากสานเป็นอะไรก็ทำ เพราะฉะนั้นที่นี่จึงมีสินค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่กระติบข้าว หวดนึ่งข้าว กระหยัง ข้องสำหรับใส่ปลา แงบสำหรับใส่กบ และสวิง

ต่อมาผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ในเวลานั้นคือ เร้ง โสภาคะยัง ได้ทำการขอเงินจากโครงการอยู่ดีมีสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้เงินสนับสนุนมา 30,000 บาท โดยนำเงิน 20,000 บาท ไปซื้อไม้ไผ่ รวมไปถึงเครื่องรีดจักสานสำหรับสมาชิกทุกคน คู่ละ 200 บาท ที่เหลือนำมาใช้เป็นเงินหมุนเวียนภายในกลุ่ม

สำหรับการตั้งราคา จะมีราคากลางสำหรับสินค้าแต่ละชิ้น เริ่มแรกให้เจ้าของงานตั้งราคามาก่อน จากนั้นสมาชิกจะช่วยกันดูว่าถูกหรือแพงไป แล้วก็มากำหนดเป็นราคามาตรฐาน หากใครไม่ยอมรับ ก็จะนำมาวางขายไม่ได้ ซึ่งสินค้าที่ทำมา ทางกลุ่มจะรับซื้อไว้ จากนั้นก็นำมาขายในราคาบวกเพิ่ม 10 บาท ซึ่งกำไรตรงนี้จะไหลเวียนกลับเข้าสู่กลุ่มอีกครั้ง

ในแต่ละปีจะมีการจัดสรรผลกำไรของกลุ่ม โดยร้อยละ 30 จะแบ่งคืนสมาชิก ใครทำมากได้คืนมาก ทำน้อยได้คืนน้อย ร้อยละ 15 นำเข้ากลุ่ม อีกร้อยละ 15 ปันผลหุ้น ร้อยละ 5 เป็นทุนสำรอง อีกร้อยละ 15 เป็นทุนช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัวของสมาชิกที่เสียชีวิต โดยแต่ละคนจะได้เงินช่วยเหลือรายละ 500 บาท และร้อยละ 20 สุดท้ายให้กรรมการและคนขาย แต่ส่วนใหญ่จะคืนให้ผู้เฒ่าผู้แก่

“เราอยากให้ชุมชนมีรายได้ แล้วก็ต้องการให้สืบสานภูมิปัญญาของหมู่บ้าน ก็เลยคิดระบบนี้ขึ้นมา ให้ลูกหลานได้รู้จักการสานไม้ไผ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เหงา รวมกลุ่มด้วยกัน เลยมีความคิดว่าถ้ารวมกันแล้วขาย คงจะสร้างรายได้พอสมควร” ประธานกลุ่มย้ำปณิธาน