สหกรณ์ โรงเรียนเหล่าใหญ่ฯ

02-02resized

วิชาความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ประสบการณ์ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่โรงเรียนเหล่าใหญ่วนาสณฑ์ผดุงเวทย์ มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านระบบการเงินที่น่าสนใจ เพราะที่นี่มีสหกรณ์ตั้งอยู่ถึง 2 แห่ง แห่งหนึ่งเป็นสหกรณ์ร้านค้า ชื่อ ภูดิน ส่วนอีกแห่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ ชื่อ คนภู โดยแต่ละแห่งมีเงินหมุนเวียนในหลักแสนบาท

ปานทอง สุไชยชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนย้อนรอยให้ฟังว่า สหกรณ์ร้านค้านั้นเริ่มขึ้นก่อน ตั้งแต่ปี 2520 ทำหน้าที่เป็นร้านค้าสำหรับซื้อและขายสินค้าที่จำเป็นสำหรับนักเรียนและครู จนกระทั่งปี 2542 ที่เขาย้ายมาเป็นผู้อำนวยการเลยคิดว่าน่าจะมีการออมเพิ่มขึ้นมา เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักประหยัดอดออมเงินไว้สำหรับอนาคต

สหกรณ์ร้านค้าเปิดให้ทั้งเด็กและครูซื้อหุ้น หุ้นละ 10 บาท ไม่เกิน 200 หุ้น ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์จะใช้วิธีให้เด็กและครูเปิดบัญชีกับสหกรณ์ สามารถฝากออมได้ไม่จำกัด โดยไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างใด

การบริหารงานของแต่ละสหกรณ์จะมีครูเป็นที่ปรึกษากลุ่มละ 5 คน และมีนักเรียนเป็นกรรมการ โดยสหกรณ์ออมทรัพย์มี 5 คน หมุนเวียนกันทำงานคนหนึ่งสัปดาห์ละ 3 วัน ส่วนสหกรณ์ร้านค้ามีนักเรียนเป็นกรรมการ 11 คน เป็นพนักงานขายและตรวจนับสินค้าวันละ 2 คน ส่วนอีกคนเป็นพนักงานลงบัญชี

แต่ละสหกรณ์จะเปิดทำการเป็นกะ คือช่วงเช้า 07.00-08.00 น. และช่วงเที่ยง 11.30-12.30 น. โดยในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์จะมีบริการฝากถอนเป็นหลัก ฝากขั้นต่ำ 5 บาท ฝากวันหนึ่งกี่ครั้งก็ได้ โดยถ้าเป็นเด็กเล็ก บางทีครูประจำชั้นจะเป็นผู้รวบรวมเงินแล้วนำส่งให้สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเด็กและครูแต่ละคนจะมีสมุดบัญชีประจำตัวอยู่ และหากเด็กคนไหนจะถอนเงินต้องให้อาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมลงชื่อรับรอง

“เราจะถามเหตุผลเด็กว่าจะถอนเงินไปทำอะไร บางคนก็บอกว่าครูให้ทำบุญแห่เทียนเข้าพรรษา ก็เลยถอน วันนี้ครูให้ซื้อสมุดแบบฝึกหัด บางคนก็ไปซื้อรองเท้าถุงเท้า คือต้องถามเหตุผลว่าสมควรหรือไม่ ถ้าไม่สมควรก็จะไม่อนุญาตให้ถอน แต่ถ้าสมมติผู้ปกครองลงมายืนยันว่าจะถอนด้วย แบบนี้ไม่ต้องถามเหตุผล เพราะเราเชื่อใจในผู้ปกครอง แต่ในกรณีที่นักเรียนเรียนจบ โรงเรียนจะบังคับให้ถอนหุ้นและเคลียร์บัญชีทั้งหมด” รัศมี โสภาคะยัง หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาสหกรณ์ร้านค้า และเคยเป็นที่ปรึกษาออมทรัพย์มาก่อน อธิบาย

ขณะที่ ยุพาพร ซองศิริ อาจารย์ที่ปรึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์ เล่าถึงการใช้เงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ ปัจจุบันสหกรณ์มีสินทรัพย์หมุนเวียนอยู่ที่ 936,441 บาท โดยในจำนวนนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามความเหมาะสม ส่วนหนึ่งคือเงินสำรองที่อาจารย์ที่ปรึกษาจะกันไว้เพื่อบริการผู้ถอน ด้วยบางทีผู้ปกครองบางคนถอนเงินเป็นหมื่น ซึ่งจะมีการคิดดอกเบี้ยให้คนที่ออมประมาณร้อยละ 6 ต่อปี โดยทางโรงเรียนใช้โปรแกรมของโครงการยุวเกษตรกรคิดเป็นจำนวนเงินสำเร็จให้เลย อีกส่วนนำไปฝากธนาคารพาณิชย์เพื่อกินดอกเบี้ย

ส่วนสุดท้ายนำไปลงทุนต่อ โดยอนุญาตให้ผู้ปกครองของนักเรียนหรือครูที่มีบัญชีเงินฝากนำไปกู้ลงทุนได้ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี เพดานสูงสุดต่อคนอยู่ที่ 40,000 บาท และต้องคืนก่อนปิดภาคเรียน เพราะช่วงนั้นจะมีการปันผล

“กำไรสุทธิแต่ละปี จะแบ่งเป็นทุนสำรองร้อยละ 40 ทุนขยายกิจการร้อยละ 25 ทุนการศึกษาสมาชิกร้อยละ 10 ค่าบำรุงโรงเรียนร้อยละ 10 และเป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการอีกร้อยละ 15” ยุพาพรเล่า

ขณะที่สหกรณ์ร้านค้า ฉวีวรรณ์ บาลศรี อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า ปัจจุบันสหกรณ์นี้มีเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 103,250.88 บาท โดยสินค้าในร้านจะเกี่ยวพันกับการศึกษา และสินค้าที่อยู่ในความต้องการของนักเรียนเอง โดยในช่วงปลายปีการศึกษาจะมีการจัดสรรกำไรสุทธิให้ดังนี้ คือเฉลี่ยคืนยอดซื้อ ร้อยละ 40 ปันผล ร้อยละ 30 ค่าตอบแทนกรรมการ ร้อยละ 15 ทุนสำรอง ร้อยละ 8 ทุนขยายกิจการ ร้อยละ 5 และค่าบำรุงโรงเรียน ร้อยละ 2

ทั้งนี้สหกรณ์ทั้ง 2 กลุ่ม รัศมีบอกว่าจะมีระบบการตรวจสอบที่เด่นชัด ตั้งแต่กรรมการและครูที่ปรึกษาจะมีการสับเปลี่ยนทุกปี แต่อาจจะมีบ้างสำหรับบางคนที่ทำงานดีเยี่ยม ก็ได้รับโอกาสทำต่อ โดยสหกรณ์ร้านค้าจะใช้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 เป็นกรรมการ ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์จะใช้เด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ทำงาน เพราะเป็นงานที่ละเอียดกว่า ต้องใช้คนที่มีวุฒิภาวะพอสมควร

“ที่สำคัญในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะมีการเรียนการสอนเรื่องสหกรณ์ด้วย การทำงานตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหรือผู้ฝาก-ถอน จึงเท่ากับว่าได้เรียนรู้เรื่องการเงินโดยปริยาย” ฉวีวรรณ์ว่า

นับเป็นการเรียนรู้ที่ดี และรับรองประสิทธิผลจากการได้ปฏิบัติงานจริง ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงการออม อันจะเป็นหัวใจสำคัญในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต…