กลุ่มเสื้อเย็บมือ หมู่ที่ 1

DSC_0470

วัฒนธรรมที่เด่นชัดที่สุดของคนภูไทนั้นสะท้อนผ่านการแต่งกาย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถพบเห็นได้ในชุมชนคนภูไท ที่บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ 1 นั้นมีการรวมกลุ่มทำเสื้อเย็บมือลายภูไท เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรี และยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ และเป็นประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วไป

สองหัวเรือใหญ่ของกลุ่ม ใครศรี โสภาคะยัง ประธานกลุ่ม และ เพลินพิศ กุลเสนชัย รองประธาน เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มว่า ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เดิมเป็นกลุ่มเครือข่ายของกลุ่มทอผ้าหมู่ที่ 7 ของยายกอง แสบงบาล ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินการมาก่อน

ความที่อยู่คนละพื้นที่ การติดต่อประสานงานไม่สะดวกเท่าที่ควร เลยมีการแยกตัวออกมา เริ่มแรกมีสมาชิกอยู่ 56 คน แต่ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 133 คนแล้ว โดยมีสมาชิกครอบคลุมหมู่ที่ 1, 7, 8 บ้านเหล่าใหญ่ทั้งหมด รวมไปถึงหมู่ที่ 2 บ้านดงเหนือ และหมู่ที่ 9 บ้านโนนบุปผา

“เราให้ลงหุ้นกันคนละ 50 บาท คนหนึ่งถือได้หุ้นเดียว แล้วมีการเก็บเงินออมเดือนละ 10 บาท เพื่อเสริมสร้างวินัยการเงินด้วย” ใครศรีว่า

กลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเสมอมา อาทิ โครงการอยู่ดีมีสุขตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 40,000 บาท โดยจำนวนนี้ 30,000 บาท ถูกนำไปซื้อฝ้าย ซื้อด้ายสำหรับทอ และ 10,000 บาทที่เหลือนำมาจ่ายให้แก่สมาชิกกลุ่มเป็นค่าแรง

“ปี 2555 เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่มอบเงินให้ 35,000 บาท ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2556 จำนวน 50,000 บาท และปี 2557 อีก 35,000 บาท เพราะทางผู้บริหารเล็งเห็นถึงความเข้มแข็งของกลุ่ม และผลิตงานฝีมือที่เป็นหน้าตาของตำบล โดยกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย” เพลินพิศเสริม

สำหรับวิธีการบริหารงานของกลุ่มเสื้อเย็บมือ หมู่ที่1 นี้ จะมีการแบ่งงานให้สมาชิก 2 ส่วนด้วยกัน คือทอผ้าและเย็บลาย

เริ่มจากกลุ่มที่ทอผ้าก่อน โดยปกติจะเป็นผู้สูงวัยอายุ 60-70 ปี โดยทางกลุ่มจะซื้อฝ้ายมา 137 บาทต่อมัด หากสมาชิกคนไหนต้องการนำกลับไปทอที่บ้าน ทางกลุ่มก็จะให้เชื่อผ้าไว้ก่อนในราคา 145 บาท โดยปกติคนหนึ่งจะรับไป 14-16 มัด พองานเสร็จก็เอามาส่ง โดยเงินที่จะจ่ายให้นั้นจะคิดจากความยาวของผ้าที่ทอออกมา ราคาเมตรละ 81 บาท ส่วนใหญ่คนหนึ่งจะทอได้ 53-56 เมตร จากนั้นนำไปหักลบกับฝ้ายที่เชื่อไว้ช่วงแรก หักแล้วคนหนึ่งจะได้ประมาณ 2,000 กว่าบาท

พอได้ผ้าทอทั้งหมดออกมา ส่วนหนึ่งทางกลุ่มจะนำไปขายในราคา 90 บาทต่อเมตร แต่ก็มีบางส่วนที่นำไปตัดเป็นเสื้อ โดยประธานจะรับหน้าที่ในการขึ้นรูปเสื้อ ก่อนจะส่งให้คนนำไปเย็บลาย ไม่ว่าจะเป็นลายนาค ลายมังกร ช่อผกา สายบัว หรือลายหางนกยูง ซึ่งแต่ละตัวจะเป็นลายใดนั้น ประธานจะเป็นผู้เขียนกำกับเอาไว้ให้

“ส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกที่อายุไม่มากนักที่รับงานเย็บลายไปทำ คนหนึ่งจะได้รับค่าเย็บตัวละ 400 บาท โดยเฉลี่ย 5 วัน จะทำได้ 1 ตัว” ใครศรีเล่า

เมื่อมีกลุ่ม ก็ต้องมีการจัดสรรรายได้ โดยปัจจุบันร้อยละ 30 เป็นของประธาน ในฐานะที่เป็นคนขึ้นทรงเสื้อ เป็นผู้ตัดเย็บ และเป็นผู้ขายสินค้า เพราะศูนย์กลางการขายปัจจุบันอยู่ที่บ้านของประธาน ส่วนสมาชิกจะได้ปันผลร้อยละ 10 เฉลี่ยคืนให้คนทำงานร้อยละ 25 โดยใครทำมากได้มาก ร้อยละ 20 สำหรับกรรมการ ร้อยละ 5 เป็นเงินสำรองจ่าย อีกร้อยละ 5 เป็นเงินสาธารณประโยชน์ และที่เหลืออีกร้อยละ 5 เป็นค่าสวัสดิการต่างๆ เช่น ช่วยเหลือครอบครัวสมาชิกผู้เสียชีวิต รายละ 1,000 บาท โดยมีการปันผลให้ทุกเดือนมีนาคมของทุกปี

ส่วนเงินออมที่ออมกันทุกเดือน เดือนละ 10 บาทนั้น ปัจจุบันเก็บเป็นรายปี ปีละ 120 บาท โดยเงินที่ได้จะถูกนำมาปล่อยกู้ให้สมาชิกที่เดือดร้อนครั้งละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ย 40 บาทต่อการกู้ยืมหนึ่งครั้ง และต้องคืนก่อนการปันผล เพราะการกู้ยืมแต่ละครั้งจะทำในช่วงนี้

สำหรับสินค้าของกลุ่มนี้ ถือว่าหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อพื้นเมืองภูไท สไบ ผ้าถุง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้ามัดหมี่ และลายเก็บจก สามารถมาซื้อได้โดยตรงที่กลุ่ม

“บางครั้งอำเภอแจ้งมาให้ไปออกงาน กลุ่มก็จะนำไปออกร้านให้ รวมไปถึงงานแสดงสินค้าต่างๆ เพราะปัจจุบันทางกลุ่มได้ใบรับรองให้เป็นสินค้า OTOP ของตำบลด้วย” เพลินพิศเล่า

ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง และยังเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านไปด้วย นับเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนบนแนวทางที่มั่นคงจริงๆ