ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัดแม่แรง

DSC_0393

“…ท่านทรงเหนื่อยทรงทำเพื่อเราเรื่อยมา ถึงเวลาทำให้ท่านสุขใจ ร่วมกันสร้างความดีด้วยใจและกาย ก้าวตามรอยบาทองค์พระราชา…”

เสียงเล็กแหลมดังเจื้อยแจ้วไปทั่วศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ด้วยหนูน้อยเหล่านี้กำลังขะมักเขม้นเพื่อเตรียมตัวร่วมแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วัน บางคนไม่เพียงเปล่งเสียงเท่านั้น หากยังแสดงท่าทาง ดูน่ารักสมวัยจริงเชียว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2536 ศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดศรีมงคลต้นผึ้ง แห่งบ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 3 ภายใต้การดูแลของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี 2542 ได้ถ่ายโอนงานบางส่วนให้องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แรง ที่ดูแลในเรื่องบุคลากร งบประมาณ และสื่อการศึกษา จนกระทั่งในปี 2544 ทางวัดศรีมงคลต้นผึ้งต้องการนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ศูนย์เด็กเล็กจึงจำเป็นต้องย้าย ทางศึกษาธิการอำเภอจึงขอความกรุณา พระครูวรพรตนิวิฐ เจ้าอาวาสวัดแม่แรง ซึ่งเป็นเจ้าคณะตำบล เพื่อใช้สถานที่วัดแม่แรงตั้งเป็นศูนย์เด็กเล็กแทน รวมทั้งขอให้ท่านช่วยมาเป็นผู้บริหารของศูนย์ฯ ด้วย

นิภาพร ปาระมี รักษาการหัวหน้าศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดแม่แรง เล่าว่า แต่เดิมที่ตรงนี้เป็นอาคารของ อสม. พอศูนย์เด็กเล็กย้ายมา ทาง อสม. เลยย้ายไปอยู่ที่ศาลาการเปรียญในวัดแทน ต่อมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มาช่วยสร้างอาคารเพิ่มให้อีกหลังหนึ่ง

ปัจจุบันศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้มีครู 4 คน มีนักเรียนประมาณ 70 คน แบ่งเป็น 3 ช่วงอายุ คือ 2-2.5 ปี 2.5-3 ปี และ 3 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นชั้นเตรียมอนุบาล โดยใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 สาระการเรียนรู้ คือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัวเด็ก และสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก ซึ่งนำไปปรับเข้ากับ 6 ชุดกิจกรรมการศึกษา คือกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง และเกมการศึกษา

“ครูเองก็มีหน้าที่ทำสื่อการเรียนรู้ ส่วนใหญ่ทำจากประสบการณ์ และค้นหาความรู้จากที่อื่นๆ พยายามบูรณาการระหว่างสิ่งที่เด็กอยากรู้กับสิ่งที่เด็กควรรู้ บางครั้งซื้อสำเร็จรูปบ้าง” นิภาพรเล่า

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอุ้ยสอนหลาน คือการนำคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านมาเล่านิทาน สอนพับกระดาษ ทำของเล่นจากวัสดุทางธรรมชาติ ทำกรวยดอกไม้ ทำขนมพื้นบ้าน ถือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนสองวัย แต่ที่ถือว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ คือการสอนภาษาไทยอง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของคนตำบลแม่แรงที่เด็กรุ่นปัจจุบันไม่นิยมพูดเท่าไรนัก

“บางคนถามว่า ทำไมเราถึงให้เด็กพูดภาษาไทยอง ไม่พูดภาษาไทยกลาง เราคิดว่าตอนนี้หรือโตขึ้นไป ยังไงเขาพูดไทยกลางได้แน่ และมีครั้งหนึ่งเราพาเด็กออกไปข้างนอก พอคนเขาถามว่ามาจากป่าซาง มาจากแม่แรง แล้วพูดยองได้ไหม ปรากฏว่าพูดไม่ได้ ก็เลยมาปรึกษาหลวงพ่อว่า เราจะเอาเรื่องนี้มาสอนดีไหม โดยจะให้ความสำคัญกับทั้ง 2 ภาษา เช่น แตงโม เราก็จะบอกว่าภาษาพื้นเมืองคือ บ่าเต้า ส่วนภาษาไทยกลางคือ แตงโม ให้เขาซึมซับไป”

อีกหนึ่งกิจกรรมเด่นที่ศูนย์เด็กเล็กดำเนินการมาต่อเนื่อง คือเรื่องทันตสุขภาพเด็ก ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลแม่แรง เพื่อจัดอบรมผู้ปกครองเรื่องการดูแลฟันของเด็ก

เนื่องจากตอนโรงพยาบาลป่าซางมาตรวจฟันเด็ก พบว่า เด็กที่นี่ฟันผุมากถึงร้อยละ 70 ดังนั้น ในฐานะหน่วยการศึกษาและครู จึงถือเป็นภารกิจที่ต้องแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะการปรับทัศนคติของพ่อแม่ ที่หลายคนก็ชอบซื้อขนมกรอบ ลูกอมให้ลูกหลานรับประทาน จึงนัดประชุมผู้ปกครองเพื่อลงมติ และทำนโยบายสาธารณะร่วมกัน คือ 1) ห้ามนำขนมมาที่ศูนย์เด็กเล็ก ถ้าเอามาครูจะยึดโดยไม่คืน 2) เด็ก 2 ขวบขึ้นไป ห้ามนำขวดนมมา 3) นำผลไม้มาแทนขนมกรุบกรอบ 4) ให้ผู้ปกครองแปรงฟันของเด็ก 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน 5) ให้ดื่มนมรสจืดแทนนมรสหวาน หรือนมเปรี้ยว และ 6) ลดปริมาณน้ำตาลในการปรุงอาหารทุกมื้อ

“ตอนนี้มีปัญหาตามมา คือเด็กไม่อยากมาโรงเรียน เพราะมาแล้วไม่ได้กินขนม บางคนต้องกินให้หมดก่อนแล้วค่อยเดินเข้าโรงเรียน ครูก็เห็นใจ แต่ต้องเข้มงวด เพราะเด็กยังไม่รู้จักการดูแลตัวเอง” ครูนิภาพรกล่าวติดตลก

ปัจจุบัน ศูนย์เด็กเล็กที่วัดแม่แรงนี้ เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่อง ซึ่งเข้ารับประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา โดยมีการทำแผนการศึกษา 3 ปี และแผนงบประมาณ 1 ปี ตามมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นตัวศูนย์เอง กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เทศบาลตำบลแม่แรง ตลอดจนวัดแม่แรง พยายามพัฒนาหลักสูตรและชุดกิจกรรมให้มีคุณภาพมากที่สุด  แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นผล

“เรานำหลักศาสนามาผสมผสานกับการเรียนรู้ด้วย โดยให้เด็กแต่งกายด้วยชุดปฏิบัติธรรมทุกวันพระ สอนไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ รวมทั้งนิมนต์พระครูมาแนะนำเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ซึ่งหากไม่ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โตขึ้นไปก็คงทำไม่ได้แล้ว” ครูนิภาพรทิ้งท้าย…