เมื่อรุ่งเช้าของวันพฤหัสบดีเวียนมาถึง ผู้สูงอายุที่ยังมีแรงเดินเหินจะรู้จุดนัดหมายอยู่ในใจ ก่อนจะเดิน หรือหยิบจับรถถีบ รถเครื่องบึ่งไปตามอัธยาศัย ถือเป็นวันพบเพื่อน และวันแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนผู้สูงอายุ
โรงเรียนผู้สูงอายุ ตำบลแม่แรง หรือการขับเคลื่อนของเทศบาลตำบลแม่แรง ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีกองสวัสดิการสังคมเป็นผู้รับผิดชอบ เปิดทำการครั้งแรกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ วัดแม่แรง
อารีวรรณ บุญอุดม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแม่แรง ซึ่งถือเป็นหน่วยสนับสนุนของโรงเรียนผู้สูงอายุ เล่าที่ไปที่มาของกิจกรรมนี้ว่า เกิดจากการที่ตำบลแม่แรงมีผู้สูงอายุมากถึง 1,600 คน ในจำนวนนี้หลายคนต้องอยู่เพียงลำพัง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า อันเป็นที่มาของโรคและเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน ทางเทศบาลจึงหากลวิธีในการสร้างเสริมสุขภาพกาย สุขภาพใจให้แก่ผู้สูงอายุ ที่สุดเกิดเป็นหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมกับได้นำแนวกิจกรรมที่ สสส.กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ อาทิ การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ การจัดตั้งกองทุนหรือจัดให้มีสวัสดิการช่วยเหลือกันมาผสมผสาน เพื่อให้ผู้สูงอายุในตำบลแม่แรง มีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“คนที่ร่างหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ ก็จะเป็นพวกครู หรือศึกษานิเทศก์ ซึ่งในพื้นที่ตำบลแม่แรงมีอยู่หลายคน โดยเราจะมีการจัดหลักสูตรเป็นหมวด เช่น หมวดสาธารณสุข หมวดนันทนาการ หมวดศิลปวัฒนธรรมประเพณี” อารีวรรณเล่า
โรงเรียนผู้สูงอายุเปิดสอนทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์เว้นสัปดาห์ ไม่มีปิดเทอม ไม่มีระดับชั้น ไม่มีสถานที่แน่นอน แต่ส่วนมากจะเป็นการเรียนตามวัด เวียนไปตามพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าวัดอยู่แล้ว โดยผู้สูงอายุจะมีสมุดประจำตัวคนละเล่ม ถือเป็นหลักฐานในการมาเรียน หากผู้สูงอายุคนใดมาเรียนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ทางเทศบาลจะมอบประกาศนียบัตรให้เป็นรางวัลความตั้งใจ
“เดิมเราตั้งใจใช้สถานที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่ปัญหาคือลำพังแค่รองรับเด็กที่มีอยู่ก็ไม่พอแล้ว เลยไปใช้ไม่ได้ มาตอนหลังทางเทศบาลมีโครงการจะสร้างอาคารอเนกประสงค์ แต่ว่ายังไม่ได้สร้าง ฉะนั้นเลยต้องจัดกิจกรรมแบบสัญจร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีเหมือนกัน เพราะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของหมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพ อย่างเช่น ถ้ารู้ว่าจะมีผู้สูงอายุมา ก็จะมีการทำอาหารเลี้ยง มีการเตรียมตัวต้อนรับ” อารีวรรณสาธยาย
สำหรับเนื้อหาของการเรียน หลักๆ จะเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับผู้สูงอายุ เช่น เรื่องสุขภาพ อย่างการดูแลรักษาตนเอง การทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง รวมถึงมีการฝึกอาชีพ ตลอดจนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีทักษะและมีกิจกรรมยามว่างทำ สามารถสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ แก่ครอบครัว
นอกจากนี้ยังมีการสอนการใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ อาทิ Facebook หรือ Line เพื่อให้ผู้สูงอายุสื่อสารกันได้แบบไม่ตกยุค
“เราพยายามจัดกิจกรรมให้หลากหลาย เพราะคนที่มาเรียนไม่ได้มีเฉพาะผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีเท่านั้น บางคนอายุ 40-50 ปีก็มาเรียน ด้วยหลายคนอยู่บ้านก็ไม่มีอะไรทำ ที่สำคัญเขายังสามารถช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีอายุมากๆ เวลาเดินทางอีกด้วย ถือเป็นการประคับประคองกันภายในชุมชน” ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมกล่าวทิ้งท้าย…