มหาวิชชาลัยตำบล

%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%8a%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%a2

การศึกษาแบบตาบอดคลำช้าง

การศึกษาไทยที่ทำมา ๑๐๐ กว่าปี ทำให้ประเทศไทยอ่อนแอทุกทาง เพราะเน้นการท่องวิชา ไม่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ทำให้ทำอะไรไม่เป็นและไม่รู้ความจริงของประเทศไทยที่ประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่นต่างๆ การไม่รู้ความจริงทำให้ทำอะไรไม่ถูก เพราะฉะนั้นคนที่จบการศึกษาอย่างนี้ เมื่อไปรับราชการจึงไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหาของประเทศ การท่องวิชาเป็นวิชาๆ ทำให้จัดการไม่เป็น คนไทยจึงเกือบจะขาดภูมิปัญญาในการจัดการโดยสิ้นเชิง ทำให้ทำอะไรไม่สำเร็จ เพราะการจะทำอะไรให้สำเร็จต้องการการจัดการ การจัดการคือการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ให้ครบจนเป็นผล การท่องวิชาเป็นวิชาๆ เป็นการแยกส่วน รู้เป็นส่วนๆ ไม่เห็นทั้งหมด จึงเหมือนตาบอดคลำช้าง

คนไทยนอกจากทำอะไรไม่เป็นแล้วยังทะเลาะกันสูง เพราะรู้เป็นส่วนๆ เหมือนคนตาบอดคลำช้าง ทุกหนทุกแห่งจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย เพราะนักวิชาการถือ “ศาสตร์” คนละส่วนๆ โดยไม่เห็นช้างทั้งตัว ศาสตร์ก็เลยกลายเป็นศาสตราไว้ใช้ทิ่มแทงกัน

รัฐบาลออกกฏหมายที่เกณฑ์คนทุกพื้นที่เข้าไปสู่การศึกษาที่เหมือนๆกัน ทำให้ชุมชนอ่อนแอหมดทั้งประเทศ เพราะเด็กๆ จากชุมชนท้องถิ่นที่ท่องวิชาในโรงเรียนไม่รู้ความจริงของชุมชนท้องถิ่น ไม่สามารถมีอาชีพและมีชีวิตอยู่ในชุมชนท้องถิ่นอีกต่อไป

ระบบการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้เอาความจริงของชีวิตเป็นตัวตั้ง ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความอ่อนแอให้ประเทศไทยจนวิกฤต ถ้าประเทศจะก้าวไปข้างหน้าได้ ออกจากสภาพวิกฤต และมีความเข้มแข็งประเทศไทยต้องการการศึกษาใหม่

“มหาวิชชาลัย” คำที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระทัยมากที่จะให้เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่ปวงชนชาวไทย

นอกเหนือไปจากเรื่อง “ความเพียรอันบริสุทธิ์” แล้ว พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ยังแฝงความคิดเรื่อง “วิชชา” ไว้อย่างลึกซึ้ง วิชชา ( ช้าง ๒ ตัว) เป็นคำทางพุธศาสนา หมายถึงปัญญา

อวิชชา” หมายถึงความไม่รู้ ความโง่ หรือความหลง (โมหะ) ในคำสวดปฏิจจสมุปบาท ที่เราได้ยินพระสวดเป็นประจำ ดังที่เริ่มต้นว่า

อวิชชา ปัจจยา สังขารา (ความไม่รู้ เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร) ซึ่งจะผลักดันต่อๆ ไป ๑๒ ขั้นตอนให้เกิดความทุกข์ ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงว่า คนทั้งปวงล้วนตกอยู่ใน โมหภูมิ แล้วพากันสร้าง เมืองอวิชชา ขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่ดีต่างๆ

เมื่อทรงใช้คำว่า “มหาวิชชาลัย” ทำให้กระตุกความคิดว่า เรามีคำว่า “มหาวิทยาลัย” อยู่แล้ว ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะนำผู้คนออกจากโมหภูมิ หรือความไม่รู้ วิทยา แปลว่า ความรู้ วิชชา แปลว่า ปัญญา ปัญหานั้นใหญ่กว่าความรู้ ความรู้อาจจะรู้อะไรเป็นเรื่องๆ แบบตาบอดคลำช้างที่กล่าวในตอนที่ ๑ แต่ปัญญาหมายถึงรู้รอบหรือรู้ทั้งหมดรวมทั้งรู้ตัวเองด้วย การมีปัญญานำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องต่อคนอื่นและสิ่งอื่น ความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง คือ จริยธรรม เพราะฉะนั้นในปัญญาจึงมีจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ ในขณะที่ความรู้ไม่แน่ว่าจะมีจริยธรรมควบคู่ไปด้วย หรือกลับตรงข้ามก็ได้

ทั่วโลกมีมหาวิทยาลัยหรือที่อยู่แห่งความรู้มากมาย แต่โลกก็วิกฤตไม่สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข แสดงว่าวิทยาหรือความรู้ ไม่เพียงพอเสียแล้ว หรือกลับเป็นพิษเสียด้วยซ้ำ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงกล่าวถึง “มหาวิชชาลัย” หรือที่อยู่แห่งปัญญาอันยิ่งใหญ่

ชุมชนท้องถิ่น-เนื้อนาบุญแห่งการเกิดปัญญา ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานหรือที่อยู่ของชีวิตจริงปฏิบัติจริง หรือฐานของความจริง ไม่ใช่ล่องลอยอยู่ในนภากาศ สุญญากาศ เช่น สถาบันการศึกษาต่างๆ

การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ เรียนรู้จากการปฏิบัติ ลองดูธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กเกิดใหม่ เด็กเกิดใหม่ยังไม่รู้อะไรเลยยังทำอะไรไม่เป็นเลย เขาต้องเรียนรู้ให้ดูดนมเป็น เพื่อความอยู่รอด เรียนรู้ที่จะนั่ง จะยืน จะเดิน และจะทำอะไรๆ เป็น การเรียนรู้ให้ทำอะไรเป็น เป็นความสุข และเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและการอยู่ร่วมกัน

ชุมชนท้องถิ่น เป็นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลทำให้มีความเป็นปรกติสุขและความยั่งยืน หรือสังคมสันติสุข สังคมสันติสุขเป็นสิ่งสูงสุดของความเป็นมนุษย์

เวลานี้โลกไม่เป็นสังคมสันติสุข เพราะทิ้งความเป็นชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ไปสู่โลภจริต ฉะนั้น ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ต้องสลัดตัวออกจากมายาคติต่างๆ สำนึกในศักดิ์ศรีและศักยภาพในความเป็นมนุษย์ของตนเอง รวมตัวร่วมคิดร่วมทำร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ที่จัดการตนเอง ให้มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้ง เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย

โดยใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้เกิดพลังของความสำเร็จ สามารถฝ่าความยากทุกชนิด สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ จิตใจที่ดีงาม สังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สร้างตำบลสุขภาวะ เป็นต้น พร้อมกับเกิดความเสมอภาค ภราดรภาพ และความปีติสุขร่วมกัน

การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง จึงสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เป็นสังคมอุดมปัญญาสังคมอุดมสุข ตำบลทั้งตำบลเป็นที่อยู่ของปัญญาอันยิ่งใหญ่หรือมหาวิชชาลัย ผู้นำชุมชนท้องถิ่นสามารถทำให้ทุกตำบลเป็นมหาวิชชาลัยตำบล และทุกตำบลร่วมกันทำให้ประเทศไทยเป็นมหาวิชชาลัยประเทศไท

สังคมข้างบนเต็มไปด้วยเรื่องอำนาจและมายาคติต่างๆ ระบบการศึกษาก็เป็นมายาคติอย่างหนึ่ง ผู้นำชุมชนท้องถิ่นต้องมีศรัทธาและความมั่นใจในความเป็นระบบปัญญาของชุมชนท้องถิ่น และเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ซึ่งสามารถสร้างสังคมสันติสุขในระดับตำบลได้ ดังที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้เรียกระบบการศึกษาของตนว่า “มหาวิชชาลัยดอนแก้ว-สร้างสุข” “ปัญญาบัตร” ที่มหาวิชชาลัยตำบลมอบให้มีคุณค่าที่แท้จริงมากกว่าประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรที่ได้จากการศึกษาประเภทท่องวิชา แต่ทำอะไรไม่เป็น

การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง หรือมหาวิชชาลัยตำบล จะต้องเป็นตัวตั้งแล้วเชื่อมโยงโรงเรียนและสถาบันการเรียนรู้อื่นๆ เข้ามาอย่างเกื้อกูลกัน ทั้ง ๘ ทิศ ดังในรูป

กล่าวคือโรงเรียน และองค์กรต่างๆ สามารถมาเรียนรู้ได้จากมหาวิชชาลัยตำบล ขณะเดียวกันองค์กรต่างๆ เหล่านั้นก็มีความรู้และประสบการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิชชาลัยตำบล เช่นนี้จะเกิดเครือข่ายของการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเต็มประเทศ โดยมีฐานอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่นอันเป็นความจริง สถานกาณ์จริง และปฏิบ้ติการจริงของประเทศไทย นี้คือการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง

คนทั้งหมดจะมีโอกาสสัมผัสแผ่นดิน สายน้ำ ต้นไม้ ต้นข้าว ฝูงปลา ฝูงนก อันเป็นต้นธารชีวิตของมนุษยชาติ และสรรพสัตว์ มีส่วนร่วมในการผลิตและกระบวนการชุมชน อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติแวดล้อม และช่วยกันถักทอสร้างเสริมให้ดียิ่งๆ ขึ้น โดยรักษาฐานแห่งดุลยภาพไว้ เป็นชีวิตที่เจริญและการอยู่ร่วมกันด้วยความสุข สำหรับทุกกคน

คิดถึงพระเจ้าอยู่หัว ร่วมสร้างพลังแผ่นดินหรือภูมิพละ บัดนี้ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสวรรคตแล้ว และคนไทยทั้งชาติกำลังคิดถึงคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชนและประเทศไทย เราต้องแปรความคิดถึงพระเจ้าอยู่หัวมาสร้างพลังแผ่นดินหรือภูมิพละ ซึ่งอาจทำได้ดังนี้

  • แต่ละปัจเจกบุคคลเกิดสำนึกในศักดิ์ศรีและศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง และลงมือทำอะไรดีๆ ถ้าคนไทยทุกคนเกิดจิตสำนึกใหม่และลงมือทำอะไรดีๆ ตามความถนัดของตนเอง จะเกิดเป็นพลังแผ่นดินอันมหาศาล
  • รวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นกลุ่มสร้างสรรค์ คนที่ถูกจริตหรือมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน มารวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นกลุ่มสร้างสรรค์ในเรื่องต่างๆ อย่างหลากหลายให้เต็มประเทศ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งและมหาวิชชาลัยตำบลก็อยู่ในข้อนี้ จะเกิดพลังแผ่นดินหรือภูมิพละอันมหาศาล
  • เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ ปัจเจกบุคคลสร้างสรรค์ และกลุ่มสร้างสรรค์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ทำให้สังคมเปลี่ยนโครงสร้างเป็นสังคมเครือข่ายคล้ายสมอง ซึ่งมีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด สังคมเครือข่ายจะเป็นสังคมอุดมปัญญา สังคมอุดมสุข อันเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษยชาติ

ฉันรักพระเจ้าอยู่หัว ฉันจะร่วมสร้างมหาวิชชาลัยตำบลให้เป็นศูนย์กลางของระบบการเรียนรู้ใหม่ ที่พาคนไทยไปสู่สิ่งสูงสุด คือสังคมอุดมปัญญา สังคมอุดมสุข

 

——————————–