นิ้วเหล็กพิชิตเส้น

DSC_0520

ณ อาคารอเนกประสงค์ข้างที่ทำการเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ เป็นที่ตั้งของศูนย์นวดแผนไทย หากใครผ่านมาทางนี้ ลองเข้ามาใช้บริการ มีทั้งนวดลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นวดคลายเส้น โดยทีมหมอนวดที่ได้รับการฝึกอบรม ถูกต้องตามหลักวิชาการ 100 เปอร์เซ็นต์

มาลัย ครองระวะ ประธานชมรมนวดแผนไทย เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมตัวเองเป็นสมาชิกชมรม อสม. และได้มีโอกาสไปดูงานเรื่องสมุนไพรในพื้นที่อื่น พอกลับมาจึงได้ปรึกษากับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและกลุ่มเพื่อนๆ อสม. ว่าอยากทำลูกประคบไว้ใช้ในพื้นที่ ต่อมาจึงได้นำเรื่องไปปรึกษา โสพนธิ์ ตันกิตติวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลโพรงมะเดื่อในเวลานั้น ซึ่งนายกฯ ก็เห็นด้วย และสนับสนุนให้มีการฝึกอาชีพนวดแพทย์ไทย มีสมาชิกมาร่วมลงชื่อ 30 กว่าคน แต่มาเรียนจริงๆ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแค่ 5-6 คน และมีเรียนสำเร็จแค่มาลัยเพียงคนเดียวเท่านั้น

การเรียนเวลานั้นเป็นการเรียนนวดแบบราชสำนัก ซึ่งเดิมเป็นการนวดเพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง โดยวิธีการนวด คือนวดตั้งแต่ใต้เข่าลงมาหาข้อเท้า หรือจากต้นขาลงมาถึงเท้า ที่สำคัญคือ ใช้เฉพาะมือนิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้วในการนวดเท่านั้น และไม่ใช้การนวดคลึง ส่วนผู้รับการนวดให้อยู่ในท่านั่ง นอนหงาย หรือนอนตะแคงขณะรับการนวด แต่ไม่ให้นอนคว่ำไปเลย แล้วแขนของผู้รับการนวดจะต้องเหยียดตรงเสมอ เพื่อน้ำหนักจะลงที่หัวแม่มือ การนวดแบบนี้เป็นการเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยการทำงานของเส้นประสาท โดยผู้เรียนจะต้องผ่านหลักสูตร 150 ชั่วโมง

มาภายหลัง เพื่อต่อยอดความรู้ ครูที่มาสอนจึงชวนมาลัยไปเรียนการนวดแบบเชลยศักดิ์ หรือการนวดแบบทั่วไป โดยการนวดแบบนี้ จะเริ่มนวดที่ฝ่าเท้าขึ้นไปหาลำตัว ไม่ได้มีการบังคับท่าทางของแขนว่าจะตรงหรืองอ เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่จะนอนคว่ำหรือนอนหงายก็ได้ การนวดแบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกดจุด หรือบรรเทาอาการปวดเมื่อย ทว่าผู้นวดก็ต้องมีความรู้พอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอันตรายได้

“นอกจากนวดแบบเชลยศักดิ์ พี่ก็ไปเรียนฤๅษีดัดตน นวดฝ่าเท่า แล้วก็ไปเรียนต่อที่ร้านของอาจารย์ ประมาณ 3-4 เดือน ก็กลายเป็นหมอประจำร้านเลย แต่ทำได้อยู่ 2 ปีก็ออกมา แล้วก็ไปเรียนหลักสูตรนวดของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 420 ชั่วโมง จากนั้นไปทำงานเป็นคนดูแลกลุ่มมารดาหลังคลอด แล้วก็มีโอกาสไปอบรมการเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัย ราชภัฏธนบุรี จากนั้นในปี 2548 นายกฯ โสพนธิ์ ก็ชวนให้มาอยู่ที่นี่ เพราะในพื้นที่ไม่มีหมอนวดเลยสักคน” มาลัยเล่า

สาเหตุหนึ่งที่มาลัยตัดสินใจกลับมา เพราะรู้สึกว่าคนในพื้นที่เจ็บป่วยกันเยอะมาก และอยากทำประโยชน์แก่ชุมชน ซึ่งพอทำจริง ปรากฏว่าได้รับความนิยม

“ราคาค่าบริการ เราคิดชั่วโมงละ 100 บาทเท่านั้น หลังจากมีพี่ ก็เริ่มเสริมทีมจากในชุมชน ได้เพิ่มมา 3 คน แล้วก็ร่วมกับชุมชนเปิดสอนการนวด หลักสูตร 150 ชั่วโมง โดยได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยมีคนเข้าร่วม 20 คน” มาลัยเสริม

สำหรับผู้ที่มาให้นวดทุกวันนี้ มักมีปัญหาแตกต่างกัน เช่น ไหล่ติด สะโพกเคล็ด ปวดเมื่อย แต่ถ้าเป็นโรคร้ายแรง เช่น เกาต์ เบาหวาน หรือมะเร็ง ทางกลุ่มจะไม่นวดให้ เพราะบางครั้งการนวดจะไปเร่งอาการให้หนักขึ้น โดยเฉพาะมะเร็ง นอกจากนี้ เพื่อให้ความรู้นี้ยังคงสืบทอดต่อไป ชมรมยังไปช่วยสอนเด็กในโรงเรียนต่างๆ ทั้งในพื้นที่ตำบลโพรงมะเดื่อเอง หรือนอกพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่เป็นคนต่างชาติ มาขอมาเรียนตัวต่อตัว ซึ่งมาลัยเองก็เต็มใจให้ ไม่หวงวิชา

ปัจจุบัน ชมรมนวดแผนไทย มีหมอนวดประจำอยู่ 6 คน เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันพระ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. คิดค่าบริการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนวดตัว นวดฝ่าเท้า หรือนวดประคบ ชั่วโมงละ 120 บาทถ้วน ส่วนพวกอุปกรณ์นวด เช่น ลูกประคบ ยาหม่อง พิมเสนน้ำ ก็มีจำหน่ายในราคากันเอง

“เราคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก คนไหนอาการหนัก เราส่งไปหาหมออย่างเดียว ด้วยเราไม่ใช่หมอ ส่วนถ้าใครปวด ใครเมื่อยเรายินดี บางคนคุ้นเคย มานั่ง เราก็ช่วยยืดเส้นให้ไม่คิดราคา นอกจากนี้เรายังลงไปช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง ไปช่วยทำกายภาพ นวดประคบด้วยบ้าง ถือว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของเรา เพราะเราเป็น อสม. ด้วย” มาลัยกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม