ประปาภูเขา บ้านท่าหินส้ม

05-01-1resized

ถึงจะมีพื้นที่ป่าภายในหมู่บ้าน แต่ทว่าบ้านท่าหินส้ม หมู่ที่ 7 ซึ่งประกอบไปด้วยประชากรจำนวนร้อยกว่าหลังคาเรือน กลับต้องเผชิญปัญหาไม่มีน้ำกินน้ำใช้ในฤดูร้อน ปัญหาเรื้อรังยาวนานต่อเนื่องกันหลายปี ทำให้ ชุติกาญจน์ กาวิชัย ในฐานะผู้ใหญ่บ้านจึงต้องหาทางบรรเทาทุกข์ของชาวบ้าน

“ช่วงที่มีปัญหาหนักๆ แม่หลวงเป็นเพียงคณะกรรมการหมู่บ้าน และยังเป็นผู้หญิงด้วย พอออกความเห็นไป ก็ไม่ค่อยมีน้ำหนัก จนปัญหาเรื่องน้ำสะสมขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่บ้านคนเก่ารับไม่ไหว ลาออกไป แม่หลวงได้รับเลือกมาแทน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งนโยบายแรกที่ทำ คือระบบน้ำประปา เพราะชาวบ้านต้องกินต้องใช้ทุกวัน” แม่หลวงเกริ่นนำ

แม่หลวงตัดสินใจเดินขึ้นเขาห้วยโจร เพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง แล้วก็พบว่า ชาวบ้านแผ้วถางป่าจนโกร๋น จนป่าไม่สามารถกักน้ำไว้ได้

ขณะเดียวกันระบบประปาภูเขาที่มีอยู่ก็ไม่เรียบร้อย เพราะมีเพียงการนำท่อไปต่อตรงจุดที่น้ำไหล แต่ไม่มีการตุนน้ำ พอถึงฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำใช้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังวางตัวท่อแบบมักง่ายไว้บนพื้น เวลามีไฟป่า ท่อก็ได้รับความเสียหาย

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาฉุกเฉิน แม่หลวงระดมชาวบ้านมาช่วยทำฝายชะลอน้ำ สำหรับกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง จากนั้นจึงเริ่มสร้างแท็งก์ซีเมนต์ไว้พักน้ำ ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.8 เมตร สูง 2.5 เมตร ที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ 4 จุด และวางระบบท่อพีวีซีลำเลียงน้ำจากแท็งก์ซีเมนต์ โดยจัดเรียงท่อไล่ระดับขนาด จากใหญ่ลงไปหาเล็ก เพื่อให้เกิดแรงดันน้ำมากขึ้น

ล่าสุดแม่หลวงยังมีแผนจะสร้างแท็งก์เพิ่มอีก 1 หลัง ขนาดกว้าง 2.4 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 2.5 เมตร โดยได้งบประมาณสนับสนุนค่าอุปกรณ์จากโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน หรือ SML และองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน

“แท็งก์ทั้งหมดนี้ ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้น ทั้งขนหิน ขนทราย ก่อปูนทำเองหมด นอกจากนี้ยังมีระบบผู้ดูแลตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงแท็งก์ 1 คน คนเปิดปิดน้ำ คอยดูแลระบบปิด-เปิดน้ำ ระหว่างตี 5 ถึง 2 ทุ่มครึ่ง 1 คน คนเก็บเงินค่าน้ำ 1 คน โดยเราจะคิดค่าใช้น้ำหลังละ 30 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นหน่วยงานที่ใช้น้ำเยอะ เช่น โรงเรียน ป่าไม้ และอนามัย เราเก็บ 750 บาทต่อปี ซึ่งเงินที่เก็บได้ เราจ่ายให้ผู้ดูแลระบบประปา 1,600 บาท เพราะทำงานหนักที่สุด ส่วนอีก 2 คนได้คนละ 400 บาท เงินที่เหลือก็เก็บเป็นกองกลาง สำรองไว้กรณีที่ระบบชำรุดเสียหาย” แม่หลวงอธิบาย

นอกจากนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย แม่หลวงกับคณะกรรมการที่ดูแลประปาภูเขายังร่วมกันจัดทำกฎกติกาการดูแลรักษาระบบประปาภูเขา รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำอีกด้วย

“น้ำประปาที่นี่มีโอกาสเสียเหมือนกัน หากน้ำป่ามาเยอะๆ จะทำให้น้ำแดงบ้าง ท่ออุดตันบ้าง ซึ่งถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ คนดูแลเขาจะมาแจ้งแม่หลวง จากนั้นเราจะประชาสัมพันธ์ต่อ ทุกบ้านจะออกมาช่วยกันทำความสะอาด นอกจากนี้ เรายังดูแลลำห้วยให้ห่างจากสารเคมี รวมถึงห้ามจับปลา ถ้าฝ่าฝืน เราปรับทันที 10,000 บาท” แม่หลวงว่า

ผลจากการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านท่าหินส้มดีขึ้น ทุกครัวเรือนต่างก็มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในทุกฤดู ขณะเดียวกัน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนในหมู่ที่ 7 ให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย

หลังจากพูดคุยกัน แม่หลวงก็นำเราขึ้นไปดูที่เขาห้วยโจร และไปดูแท็งก์แต่ละที่ พร้อมอธิบายการทำงานของแต่ละจุดให้ฟังอย่างชัดเจน ก่อนกลับแม่หลวงยังไม่ลืมที่จะพาเราไปดูจุดอนุรักษ์พันธุ์ปลาของหมู่บ้านด้วย

“น้ำปลานี่ ก็มาจากแม่ลาก๊ะ ที่น้องไปดูเมื่อวาน” แม่หลวงบอกเรา

ขณะที่เราก็พลันวาดแผนที่การไหลของน้ำในหัว และก็ได้แต่ฉงนว่า บ้านแม่ลาก๊ะซึ่งอยู่อีกฝั่งถนนของบ้านท่าหินส้ม ไฉนลำน้ำจึงบรรจบเป็นสายเดียวกันได้ แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นเช่นนั้น ตามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น…