ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย (บีบหยา)

DSC_0734

“…ในสมัยพุทธกาลมีหมอรักษาโรคท่านหนึ่ง ชื่อว่า ‘เจ่หว่าก๊ะ’ กล่าวว่าเป็นหมอเทวดาที่สามารถยื้อความตายจากยมบาลได้ ทุกคนที่หมอท่านนี้ให้การรักษาจะต้องหาย ต่อมาเกิดเหตุการณ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชวรเพราะฉันอาหารผิดสำแดง อาเจียนเป็นพระโลหิต เจ่หว่าก๊ะทราบเรื่องจึงได้เตรียมสมุนไพรอย่างดีเพื่อไปรักษาพระพุทธองค์ ทว่าก่อนหน้านี้ตถาคตได้ตรัสรับการอาราธนาของพญามารว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อหมอมาถึงจึงทรงปฏิเสธ สร้างความเสียใจให้แก่เจ่หว่าก๊ะยิ่งนัก เมื่อเดินทางกลับบ้านที่เมืองปอน หมอจึงโยนยาสมุนไพรในถุงย่ามทิ้งไปตามป่าเขา ส่งผลให้ป่าเมืองปอนเต็มไปด้วยยารักษาโรคมากมาย…”

จากตำนานหมอเมืองปอนที่เล่าขานต่อกันมา จนวันนี้ ก็ยังมีหลักฐานประจักษ์ชัด ถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านที่คนเมืองปอนใช้รักษาโรค ท่ามกลางวิทยาการสมัยใหม่ที่เริ่มจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พรชัย อ่อนสด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเมืองปอน เล่าว่าแพทย์แผนไทยถือเป็นหนึ่งในบริการของ รพ.สต.บ้านเมืองปอน โดยในปี 2554 พรศรี พุทธิมา ผู้อำนวยการ รพ.สต. ได้พา อสม. จำนวน 40 คน ไปอบรมการนวดแผนไทย ตามหลักสูตรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 120 ชั่วโมง เพื่อเสริมศักยภาพในการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุที่ติดเตียงติดบ้าน ในหมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 5

เมื่อมีบุคลากรที่พอมีความรู้ ทาง รพ.สต. จึงเริ่มต่อยอดกิจกรรมเพิ่มเติม อาทิ อบสมุนไพร นวดประคบสมุนไพร โดยได้แพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลขุนยวมมาให้ความรู้

พรชัย เล่าต่ออีกว่า ในจำนวน อสม. ทั้งหมด มี ศรีเพ็ญ สายบัว เพียงคนเดียวที่ผ่านการอบรมการนวดแผนไทย 330 ชั่วโมง จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง ทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยที่ รพ.สต. นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยอีก 2 คน คือ ละมัย ปัญญาหม้อ และ เพิ่มศักดิ์ ตุ้ยตามพันธ์ ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์

“จันทร์ พุธ ศุกร์ ทั้ง 3 คน จะคอยให้บริการที่ รพ.สต. ส่วนวันอังคารและวันพฤหัสบดี จะเป็นวันลงพื้นที่” พรชัยว่า

ในวันทำการที่ รพ.สต. งานนวดแผนไทยจะให้บริการเฉลี่ยวันละ 4 คน โดยผู้รับบริการจะต้องเสียค่าใช้จ่าย หากเป็นการอบสมุนไพร คิดราคา 20 บาทต่อคน ถ้าเป็นการนวด และผู้รับบริการสามารถเบิกได้ จะคิดค่าบริการชั่วโมงละ 150 บาท ส่วนผู้ถือบัตรทอง สามารถใช้สิทธิได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหลัง และทุกคนก็มักหยอดตู้บริจาคตามศรัทธา

อย่างไรก็ดี ในปี 2557 รพ.สต. ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน ค้นหาปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านแพทย์แผนไทย จนมาพบภูมิปัญญา ‘บีบหยา’ หรือการนวดแบบไต ซึ่งเป็นการนวดรักษาโรค โดยในปัจจุบัน มีปราชญ์ชาวบ้านด้านนี้เพียง 3 คน คือ คุณยายหลาน คณาสวรรค์ คุณยายเป๋ง สุปันนะ และ คุณยายเล็ก เดชเจริญ

เอกลักษณ์สำคัญของการบีบหยา คือการบีบจากเส้น เพราะฉะนั้นผู้นวดต้องรู้จักเส้นแต่ละเส้น ว่าบีบเส้นไหนส่งผลอะไรต่อร่างกาย โดยรูปแบบการบีบนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เอ็นเคร่ง คือเส้นตึง หมอจะนวดเพื่อให้เส้นคลาย 2) เอ็นขี่ ซึ่งใช้รักษากรณีเกิดอาการปวดเพราะเคลื่อนไหวผิดท่า ทำให้เส้นเอ็นเกยขี่กัน หมอจะใช้มือเขี่ยเอ็นให้คลายออกจากกัน และ 3) เอ็นปะแล็ด คือเอ็นอยู่ผิดที่ หมอจะคลำดู แล้วบีบจัดให้เข้าที่

ฉะนั้นคนที่มีอาการปวดสะบัก เส้นขาติด ไหล่ยึด หรือปวดเอว จึงมักใช้การบีบหยาเข้ามาช่วยรักษา ทว่าด้วยความที่หมอบีบหยาส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโส ทาง รพ.สต. จึงสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ แก่ อสม. ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ที่บีบหยาเป็นมากกว่า 20 คนแล้ว

นอกจากการบีบหยา ที่นี่ยังมีหมอสมุนไพรเด่นอยู่ 4 ท่าน คือ ตาเหม่ก๊ะ รักสุขสำราญ ลุงจาย นภาทอง ตาสิงโต สุปันนะ และ ยายอวน จันทร์ต๊ะคำ ซึ่งความรู้ของปราชญ์เหล่านี้ ทาง รพ.สต. ได้นำมารวบรวมไว้เป็นตำรับสมุนไพร สำหรับเป็นแนวทางเสริมการรักษาโรคทั่วๆ ไป ด้วยทาง รพ.สต. มีแผนการสร้างศูนย์แพทย์แผนไทย รวมไปถึงผลิตยาสมุนไพรต่างๆ

“ตอนนี้ที่เราทำไปแล้ว คือการนำยาสมุนไพร 13 ชนิดมาผสมกันเพื่อเป็นตัวยาสำหรับการอบ ยาอบของเรามีสรรพคุณในการรักษาด้วย โดยที่นี่มีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ มักจะมีอาการผิดเดือน หรือเวลาได้รับของแสลงเข้าไป เวลาฝนตกจะรู้สึกหนาวไปถึงกระดูก หรือปวดหัวเรื้อรังไม่หาย ก็จะใช้ยาอบตัวนี้ช่วยบรรเทา แต่ยานี้มีข้อจำกัดสำหรับคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง” พรชัยเล่า

หมอแผนไทยอีกกลุ่มที่อยู่คู่เมืองปอนมานาน คือหมอจัดกระดูกและต่อกระดูก ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่อาศัยความเชื่อเฉพาะบุคคล ไม่ได้นำมาใช้ใน รพ.สต. ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 คน คือ คุณตาจึง ไชยวิฑูรย์ และ ลุงองปุ้น ไชยวิฑูรย์ บุตรชาย

“หมอจัดกระดูกนี้เป็นความเชื่อที่อยู่ในชุมชน ผมเคยเห็นกรณีหนึ่ง เด็กตกต้นไม้ แขนหัก ไปโรงพยาบาล หมอเข้าเฝือกให้ แต่เข้าได้ไม่นาน รู้สึกปวดร้อน คัน อยู่ไม่สุขสบาย ผู้เป็นแม่เลยเอาเฝือกออก แล้วพาไปหาลุงองปุ้น ปรากฏว่าจากเดิมที่ต้องเข้าเฝือก 3 เดือน กลายเป็นรักษาแค่เดือนเดียวก็หายแล้ว คือแกใช้สมุนไพรมาพอก จากนั้นก็นำไม้เป็นซี่ๆ มาห่อคลุมไว้อีกที แต่ว่าภูมิปัญญานี้ไม่ค่อยมีผู้สืบทอดเท่าไรนัก เพราะเขาถือเคล็ดที่ว่า คนที่เรียนต้องหักแขน หรือขาตัวเองเสียก่อน ไม่เช่นนั้นหากเรียนสำเร็จไปแล้ว จะต้องขาหัก แขนหัก ภูมิปัญญานี้จึงไม่สามารถจัดเข้ามาในระบบโรงพยาบาลได้ แต่เราก็เชื่อและให้ความเคารพ” พรชัยกล่าวทิ้งท้าย…