โรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน

DSC_0524

แม้จะเป็นเพียงโรงเรียนเล็กๆ ที่มีเด็กทั้งหมด 216 คน แต่โรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน โรงเรียนเก่าแก่ซึ่งก่อตั้งในปี 2446 แห่งนี้ ยังเป็นศูนย์รวมของเด็กจากหมู่บ้านต่างๆ ในตำบล เหตุเพราะที่นี่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสเพียงแห่งเดียวในพื้นที่ ที่สำคัญยังเป็นโรงเรียนประจำ ให้นักเรียนที่อยู่ห่างไกลพักอาศัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นั่นจึงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจเรา ว่าเหตุใด ทำไม และอย่างไร โรงเรียนรัฐที่มีงบประมาณจำกัดจำเขี่ย จึงสามารถจัดสรรบริการเช่นนี้ได้

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 เมื่อโรงเรียนตัดสินขยายโอกาสทางการศึกษาจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามนโยบายการศึกษาภาคบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ และด้วยความที่โรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมเพียงแห่งเดียว เด็กๆ จากตำบลเมืองปอน ทั้งจากหมู่บ้านบนที่ราบ และหมู่บ้านบนดอย จึงมารวมกันอยู่ที่นี่

เมื่อเป็นเช่นนั้น เด็กๆ จากบนยอดดอย ทั้งบ้านแม่ลาก๊ะ บ้านมะหินหลวง และบ้านแม่โข่จู ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอ ต้องเดินทางมาเรียนข้างล่าง และการเดินทางไปกลับทุกวันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทางโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอนจึงต้องจัดสรรที่พักอาศัยให้เด็กกลุ่มนี้ด้วยการเปลี่ยนบ้านพักครูที่ไม่มีคนอยู่ ให้เป็นอาคารนอนของเด็กๆ โดยปัจจุบันนี้มีอยู่ 4 หลัง

“ตอนนี้เรามีเด็ก 216 คน เป็นเด็กบนดอยประมาณ 96 คน” กัลยา รักจันทร์ หรือ ครูแมว บอกกับเรา

เมื่อเด็กกินนอน ก็ย่อมหมายถึงภาระอีกมากมายที่ตามมา ทั้งค่าอาหาร เครื่องนอน ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งก็โชคดีที่ได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลนิธิต่างๆ ทว่าก็เป็นความช่วยเหลือที่ค่อนข้างจำกัด และโรงเรียนต้องหาวิธีบริหารจัดการให้ลงตัวที่สุด

“เด็กหอ 96 คนนี้ กินข้าวกันเยอะ ประมาณมื้อละถัง แต่ปัญหาสำคัญกว่านั้น คือทาง สพฐ. ไม่ให้เบิกค่าอาหารวันเสาร์และวันอาทิตย์ แต่ทีนี้เด็กจำนวนมาก ไม่ได้กลับบ้านในวันหยุด อยู่ยาวเป็นเทอม แรกๆ เราขอให้ผู้ปกครองบริจาคข้าวเข้ามา เทอมละหนึ่งถัง แต่พอทำจริงๆ แล้วไม่ได้ เขายินดีให้ข้าว แต่เราต้องขับรถขึ้นดอยเพื่อขนลงมาที่โรงเรียน ซึ่งไม่คุ้มค่าน้ำมัน เลยต้องเปลี่ยนวิธี เอางบค่าอาหาร 5 วัน มาเฉลี่ยให้ได้ 7 วัน และกับข้าว จากที่เมื่อก่อนให้เด็กทำกันเอง ตอนนี้เปลี่ยนมาจ้างแม่ครัวทำ ทั้งอาหารกลางวันของนักเรียนทั้งโรงเรียน และมื้อเช้ากับมื้อเย็นของนักเรียนหอพัก” ฟองจันทร์ ศิริน้อย หรือ ครูอู๊ด ช่วยเสริม

นอกจากเรื่องอาหาร ยังมีเรื่องความปลอดภัย แต่ละคืนจะมีครู 2 คน กับภารโรง 1 คน อยู่เวร คอยดูแลความเรียบร้อย ทำงานแบบจิตอาสา ไม่มีเบี้ยเลี้ยงพิเศษ

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์เป็นช่วงเวลาสั้นเกินไป จนผู้ปกครองรู้สึกไม่คุ้มค่า เพราะกลับวันศุกร์บ่าย หรือวันเสาร์เช้า วันอาทิตย์ก็ต้องล่องลงมาแล้ว ทำให้โรงเรียนต้องปรับตารางวันหยุดในบางครั้ง เช่น การเปิดสอนในวันหยุดราชการบางวัน และไปชดเชยด้วยการปิดเรียนทีเดียว 4-5 วัน ซึ่งผู้ปกครองที่มีบ้านอยู่บนพื้นราบก็เข้าใจ และยินยอมในเงื่อนไขดังกล่าว

“หลายคนสงสัยว่าทำไมไม่ให้โรงเรียนข้างบนปรับเป็นขยายโอกาส ไม่ใช่ไม่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ ด้วยต้องมีครูประจำเอกครบทั้ง 8 สาระ เพราะเกี่ยวกับการวัดผลระดับชาติ และถ้ามีครูครบ แต่มีเด็กอยู่แค่ 50 คน ก็ไม่คุ้มค่าอีก” ครูแมวว่า

จำเพาะแค่ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ก็มีความแตกต่างระหว่างเด็กที่อยู่บนดอยกับเด็กที่อยู่บนพื้นราบ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ อย่างโรงเรียนยอดดอยวิทยา มีครู 3 คน คนหนึ่งสอนพร้อมกัน 2 ชั้น แล้วไม่มีครูเอกภาษาอังกฤษ เมื่อเด็กลงมาเรียนต่อ ทางครูต้องปรับให้นักเรียนหอพักเรียนหนังสือกลางคืนเพิ่มเติม ทุกวิชาสลับกันไป ตั้งแต่ 19.00-21.00 น. เว้นวันศุกร์กับวันเสาร์ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้เรียนทันเด็กพื้นราบ

ครูอู๊ดเล่าเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อเด็กหอไม่ได้กลับบ้านวันเสาร์และวันอาทิตย์ เด็กหลายคนจึงใช้โอกาสนี้หารายได้พิเศษ เช่น หักข้าวโพด ซักเสื้อผ้า โดยนายจ้างต้องเข้ามาขออนุญาตกับทางโรงเรียนก่อน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนักแสดงน้อย มัคคุเทศก์น้อย ซึ่งครูแมวจะฝึกเด็กให้รู้จักรับแขกบ้านแขกเมือง และยังเป็นการฝึกทักษะภาษาอังกฤษอีกทางด้วย

“เด็กที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเมืองหรือเด็กดอยจะมีพื้นฐานด้านวัฒนธรรม เพราะเรามีชมรมศิลปะการแสดง มีค่ายวัฒนธรรมที่เราเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้ เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้รายละเอียดปลีกย่อย เช่น งานพับ งานตัดใบตอง ทำขนมไต รวมไปถึงพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้เขาสามารถนำความรู้ที่ได้ไปอธิบาย หรือนำเสนอกับนักท่องเที่ยว” ครูแมวกล่าวทิ้งท้าย…