ครั้งหนึ่งพื้นที่ตำบลแว้ง หรือพื้นที่อื่นใดในจังหวัดนราธิวาส ล้วนเป็นที่นามาก่อน กระทั่งพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราเข้ามา พื้นที่นาจึงกลายเป็นสวนยางทั้งหมด แต่กระนั้นก็มีพื้นที่รกร้าง ซึ่งเจ้าของไม่ได้ใช้ประโยชน์ และยังคงภาพเป็นทุ่งร้าง เกษตรกรกลุ่มหนึ่งมองเห็นว่า น่าจะทำให้นาที่รกร้างกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง
จุดเริ่มของการพลิกฟื้นที่นาเกิดขึ้นที่หมู่ที่ 3 บ้านเจ๊ะเหม ในพื้นที่กลุ่มบ้านบาโงอาเล็ม ดาหารี มหาบุ ประธานกลุ่มนาร้างชุบชีวิตพลิกวิกฤตสู่โอกาส กลุ่มบ้านบาโงอาเล็ม ย้อนความให้ฟังว่า เมื่อราว 20 ปีก่อน สมัยนั้นเขาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสภาพพื้นที่มีปัญหาเรื่องการเก็บกักน้ำ เพราะไม่มีแม้กระทั่งฝายดิน เวลาน้ำท่วมครั้งหนึ่ง ผลผลิตเสียหายหมด จึงติดต่อไปยังโยธาธิการจังหวัด เพื่อให้มาช่วยสร้างฝายให้ ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติ เมื่อสร้างฝายเสร็จก็เลยชักชวนให้ชาวบ้านทำนาปีกัน ทำได้ประมาณ 2-3 ปี ผลผลิตยังดี แต่พอเข้าสู่ปีที่ 5 ปรากฏว่าเจอพิษของเพลี้ยแดงเข้าไป ชาวบ้านเลยท้อ ไม่อยากทำนา เหนื่อยแล้วยังเก็บผลผลิตไม่ได้ จึงหยุดทำไป ที่นา กลายเป็นที่รกร้าง
กระทั่งปี 2548 ดาหารีลองถามชาวบ้านอีกรอบว่าสนใจทำนาอีกครั้งไหม โดยคราวนี้ไม่ทำนาปี แต่เปลี่ยนไปทำนาหว่านแทน พร้อมดึงเกษตรอำเภอเข้ามาช่วยให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ปรากฏว่ามีชาวบ้านแค่ 4-5 คนที่ตกลงทำ เขาจึงไปขอพันธุ์ข้าวมาจากตากใบ เช่ารถไถมา 2 คัน แล้วก็พัฒนาขึ้นเป็นกลุ่มนาร้างชุบชีวิตพลิกวิกฤตสู่โอกาส ทำได้ประมาณ 4 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ ชาวบ้านที่เห็นผลงานเลยขอเข้ากลุ่ม ดาหารีเลยไปจ้างรถแทร็กเตอร์คันหนึ่ง เพื่อขุดต้นไม้ออกจากพื้นที่นาเดิมประมาณ 10 กว่าไร่ แล้วขยายต่อเรื่อยๆ จนมีพื้นที่รวมเป็น 100 กว่าไร่ ส่วนชาวนาก็เพิ่มจากไม่กี่คน เป็น 22 คน โดยพื้นที่ทำนาส่วนใหญ่แบ่งกันเช่า และจ่ายค่าเช่าด้วยข้าวสาร เพราะแทบทุกคนทำนาเสร็จก็เก็บเกี่ยวเพื่อบริโภคกันเอง ไม่ได้นำไปขายต่อที่ไหน
ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพลิกฟื้นผืนนาขึ้นมา ณ อีกมุมหนึ่งของหมู่บ้านเจ๊ะเหม คือกลุ่มบ้านละหาร ซึ่งเคยร่วมหัวจมท้ายปลูกนาปีมาแล้ว
มูฮำหมัด บิง ผู้ประสานงานกลุ่มนาร้างฯ กลุ่มบ้านละหาร เล่าให้ฟังว่า ในช่วงปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ และกลับมาอยู่บ้าน เมื่อเดินมาที่นาเก่าเมื่อไรก็จะรู้สึกถึงความไร้ชีวิตชีวาทันที เพราะยังจำภาพในอดีตสมัยที่เดินตามคันนาเพื่อไปเรียนหนังสือได้ดี จึงไปปรึกษากับ ดือเลาะ สะแอ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในพื้นที่ว่า อยากจะฟื้นการทำนากลับมาอีกครั้ง จึงเริ่มชวนชาวบ้านให้รวมตัวกัน
“ตอนนั้นเราเริ่มฟื้นที่นาประมาณ 50 กว่าไร่ บางคนทำบนที่ดินตัวเอง บางคนเช่า พอได้ข้าวสารก็แบ่งเป็น 3 ส่วน ให้เจ้าของ 1 ส่วน ไม่ได้เน้นจำหน่าย โดยที่นี่ทำนาปรัง เพราะช่วงกลุ่มบ้านละหารอยู่ปลายน้ำ เริ่มปลูกได้ช้ากว่าที่อื่น ซึ่งการทำนาแต่ละครั้งจะเริ่มในช่วงเดือนสิงหาคม เตรียมหน้าดิน แล้วก็หว่านข้าวได้ประมาณเดือนตุลาคม ข้าวสุกช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับหน้าแล้งพอดี โดยตอนนั้นเป็นช่วงที่น้ำยางหมด ชาวบ้านก็จะเอาเวลานี้ไปเกี่ยวข้าวกัน” มูฮำหมัดว่า
อย่างไรก็ดี ด้วยการทำนาของชาวเจ๊ะเหมนั้นเน้นการบริโภคภายใน ในปี 2552 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 35 เลยเข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณ 450,000 บาท เพื่อทำโรงสีข้าวเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ซึ่งมีครบหมดทั้งโรงเรือนและเครื่องสีข้าว ด้วยในอำเภอแว้งไม่มีโรงสีเหลือแล้ว ถ้าจะสีต้องไปไกลถึงอำเภอสุไหงปาดี
“ใครมาสีข้าวต้องจ่ายเงิน ถังเบอร์ 16 ถังละ 9 บาท โดยข้าวเปลือกหนึ่งกระสอบ สีได้ประมาณ 3 ถัง ส่วนปลายข้าวโรงสีขายกิโลกรัมละ 7 บาท รำข้าวขายกิโลกรัมละ 5 บาท ส่วนแกลบแบ่งให้เพื่อนบ้านไปทำปุ๋ย ซึ่งเงินทั้งหมดที่ได้ จะแบ่งออกเป็น 4 กอง กองแรกสำหรับจ่ายค่าน้ำค่าไฟ กองที่ 2 ร้อยละ 30 ของเงินที่ได้ เป็นค่าจ้างคนสีข้าว กองที่ 3 แบ่งปันผลให้สมาชิกกลุ่มทำนา 28 คน แบ่งในช่วงเดือนรอมฎอน โดยยึดตามประกาศเรื่องซะกาตที่ทางโต๊ะอิหม่ามประกาศเป็นหลัก ส่วนกองสุดท้ายเป็นกองกลางสำหรับเหตุฉุกเฉิน เช่น ถ้าสมาชิกในกลุ่มเดือดร้อน ให้มายืมเงินส่วนนี้ไปก่อนได้ โดยไม่คิดทำกำไร แต่มีสัญญาไว้ว่าต้องจ่ายคืนภายใน 6 เดือน” มูฮำหมัดปิดท้าย…