สโมสรฮอกกี้นราธิวาส

DSC_0729

หากถามว่ากีฬาประเภทไหนที่ฮิตที่สุดในเทศบาลตำบลรือเสาะ หลายคนอาจประหลาดใจ เพราะเด็กๆ ที่นี่ส่วนใหญ่เขานิยมเล่น ‘ฮอกกี้’ และโด่งดังถึงขั้นมีตัวติดทีมชาติไทย

2 หัวแรงหลักของสโมสร ซูดิลมัล แนแว ประธานสโมสร และ ซูฮาเร็ม บาราม รองประธานสโมสร เล่าว่าชมรมนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 โดยสมาชิกกลุ่มแรกเป็นเด็กที่ติดยาเสพติด ทั้งบุหรี่ กัญชา หรือใบกะท่อม จำนวน 16 คนมารวมทีมกัน โดยมี นิรุตต์ โว๊ะนิเน็ง เลขานุการชมรม ซึ่งเคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย และยังเคยเป็นผู้ฝึกสอนทีมหญิงให้กับสมาคมฮอกกี้แห่งประเทศไทยมา 14 ปี

“กองทัพบก กองทัพเรือ เขาจะมีสโมสรฮอกกี้ของตัวเอง อย่างนิรุตต์เองก็เริ่มจากตรงนั้น ไปเล่นอยู่ที่กรุงเทพฯ ฝึกมาเรื่อยๆ จนติดทีมชาติ พอเลิกก็มาเป็นโค้ชทีมชาติ จากนั้นก็รีไทร์ตัวเองกลับบ้าน” ซูฮาเร็มเท้าความให้ฟัง

สำหรับวิธีการสร้างทีมนั้น นิรุตต์พุ่งเป้าไปที่โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ โดยคัดเลือกเด็ก ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมารวมทีมกัน ใช้สนามกีฬาของเทศบาลตำบลรือเสาะกับสนามของโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ เป็นสถานที่ฝึก

“ตอนที่เราดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามา ผู้ปกครองทุกคนเห็นด้วย เอาไปเลย เขาบอกเลยว่ายังไม่ต้องเรียนก็ได้ เอาให้กลับมาเป็นคนให้ได้ก่อน เพราะพ่อแม่เองก็เอาไม่อยู่แล้ว” ซูฮาเร็มว่า

วิธีฝึกนั้น ช่วง 6 เดือนแรกเป็นการสอนพื้นฐาน ใช้เวลาหลังเลิกเรียนตั้งแต่ 16.00-18.00 น. ของทุกวัน เพื่อกันเด็กจากอบายมุข ซึ่งทางโค้ชจะย้ำกับเด็กเสมอว่า หากยังอยู่ในสนาม ห้ามสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด พอหลังจากรวมทีมกันได้ประมาณ 1 ปี เด็กหลายๆ คนก็เริ่มเลิก พอคนหนึ่งเลิกได้ คนอื่นๆ ก็เลิกตาม

เมื่อพื้นฐานครบถ้วนแล้ว ก็เริ่มมีการเดินสายไปแข่งในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งโค้ชจะฝึกหนักขึ้น มีการเก็บตัวซ้อมพิเศษ โดยวันเสาร์-อาทิตย์จะซ้อมกัน 3 เวลา คือเช้า ตั้งแต่ 8.00-10.00 น. ช่วงบ่าย เวลา 13.00-15.00 น. และช่วงเย็น เวลา 16.00-18.00 น.

“ตอนแรกเราพาไปอุ่นเครื่องกับมาเลเซีย ซึ่งในอาเซียนเขาเป็นเบอร์ 1 ประสบการณ์เยอะกว่า อุปกรณ์พร้อมกว่า กีฬาฮอกกี้นี้อุปกรณ์สำคัญมาก จะมาแค่พรสวรรค์อย่างเดียวไม่ได้ แน่นอนว่าแพ้ แต่เป็นบทเรียนเป็นประสบการณ์ หลังจากนั้นเราเข้าแข่งขันกีฬานักเรียน เป็นตัวแทนจังหวัดนราธิวาส ที่จังหวัดสุรินทร์แพ้ไป 7-0 ปีที่ 2 ก็ยังเหมือนเดิม ตอนนั้นเด็กเริ่มท้อ พอปีที่ 3 เด็กเริ่มมีประสบการณ์ บวกกับกระดูกแข็งขึ้น เพราะอายุ 18 ปีตามที่เขากำหนดขั้นสูงไว้ ตั้งแต่นั้นก็เริ่มกวาดเหรียญตลอด ปัจจุบันเราเข้าแข่งขันในกีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ กีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ มี RU CUP ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นเจ้าภาพ มีกีฬา 4 เหล่าทัพ กีฬาชิงชนะเลิศประเทศไทย บวกกับของมาเลเซียอีก 2 รายการ เพราะฉะนั้นสรุปแล้ว เดือนหนึ่งแข่ง 1 รายการ เด็กไม่เบื่อ และมีการพัฒนาขึ้น” ซูฮาเร็มเล่า

ทุกวันนี้ทีมฮอกกี้ มีจำนวนสมาชิกมากถึง 60 กว่าคน ทั้งจากอำเภอรือเสาะและอำเภอศรีสาคร และยังมีทีมหญิง ซึ่งตั้งมาในปี 2554 ด้วย

“ช่วงแรกๆ ผู้ปกครองไม่อยากให้มาเล่น แต่พอเราปรับให้นักกีฬาได้คลุมผม หลายคนก็ยอมรับและเริ่มปล่อยให้ออกมา โดยความแตกต่างของ 2 ทีม ส่วนใหญ่ทีมหญิงจะเน้นเรื่องเทคนิค ส่วนทีมชายจะเน้นเรื่องร่างกาย” นิตินัย โว๊ะนิเน็ง เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลรือเสาะ และน้องชายของโค้ชนิรุตต์ กล่าวเสริม

ที่นี่ไม่มีการแบ่งเด็กเป็นทีมเอหรือทีมบี เพราะจะทำให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ทีมหลักรู้สึกเป็นปมด้อย ฉะนั้นการแข่งขันแต่ละครั้ง เด็กทุกคนจึงมีสิทธิ มีโอกาส แต่ต้องทำผลงานให้ดี ขยันซ้อม พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพพร้อม และต้องมีวินัย ซึ่งอย่างหลังนี้สำคัญมาก

เด็กส่วนใหญ่ เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์จะได้รับโควตานักกีฬาเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งต้องการ 20-30 คนต่อปี แต่สโมสรผลิตเด็กส่งไปได้เพียงปีละ 7-8 คน นอกจากนั้นยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุพรรณบุรีที่ต้องการนักกีฬาไปอยู่ด้วย

“กีฬาฮอกกี้นำหลายสิ่งหลายอย่างมาที่รือเสาะ อย่างสนามกีฬาแห่งใหม่ที่มาสร้างที่นี่ ส่วนหนึ่งก็เพราะชื่อเสียงของทีมฮอกกี้ ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬาที่โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ โดยฮอกกี้ถือเป็นกีฬาอันดับ 1 ของโรงเรียน ต่อไปใครมาเรียนก็จะมีที่พักให้ มีทุนส่งต่อถึงมหาวิทยาลัย” ซูฮาเร็มทิ้งท้าย…