บ่อน้ำพุร้อนบ้านหนองแห้ง

DSC_0374

เด็กๆ กว่า 30 ชีวิตกรูกันลงไปในสระว่ายน้ำ ซึ่งเป็นน้ำที่มาจากบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ นอกจากที่สระ ยังต่อกระจายไปยังห้องแช่ตัวหลายสิบห้อง โดยบ่อน้ำพุร้อนบ้านหนองแห้ง หมู่ที่ 9 อยู่คู่ชุมชนมานานหลายชั่วคน และคนที่นี่ก็ตระหนักถึงความสำคัญ จึงร่วมกันปกป้องดูแลทรัพยากรนี้ให้อยู่คู่ชุมชนนานเท่านาน

สมชาย วงษ์จันทธนพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สมัยที่เขายังเป็นกำนันอยู่ที่นี่ ยังไม่มีการพัฒนาบ่อน้ำพุร้อน เป็นเพียงจุดที่น้ำร้อนไหลซึมออกจากพื้นดิน ชาวบ้านนำไข่ หน่อไม้มาต้ม หรือเอาขันมาตักอาบบ้างเป็นครั้งคราว ต่อมาในราวปี 2536-2537 กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเวลานั้นมีหน้าที่ดูแลอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน มีความประสงค์จะนำพื้นที่ตรงนี้ไปดูแล และพัฒนาขึ้นเป็นวนอุทยาน แต่ด้วยความที่ชาวบ้านผูกพันกับพื้นที่นี้ อยากให้เป็นของชุมชน ความพยายามของภาครัฐจึงไม่เป็นผล และเพื่อให้แน่ใจ ทางผู้นำหมู่บ้านจึงนำพื้นที่ตรงนี้ไปออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดิน และป้องกันการบุกรุกที่ดิน

“ตอนนั้นเขาบอกว่า ทางสภาตำบลดูไม่ได้ เขาขอรับไปดูแลเอง มีงบประมาณ มีกำลังคน เราเลยนำเรื่องเข้าที่ประชุม มีประเด็นหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมา คือถ้าให้เขาดูแล ชาวบ้านจะเข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ พูดคุยกันอยู่นาน จนทางจังหวัดต้องลงมา ในที่สุดได้ข้อสรุปว่า ให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแล แต่ ณ เวลานั้นก็ยังไม่มีการพัฒนา เป็นแหล่งประโยชน์สาธารณะที่ใครๆ ก็มาใช้ประโยชน์ได้” นายกฯ สมชายเล่า

ผ่านมาจนกระทั่งปี 2551 กำนันสมชายขึ้นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน ได้มีการต่อยอดพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยได้รับงบประมาณจำนวน 18 ล้านบาท จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว (ปัจจุบันเป็นกรมการท่องเที่ยว) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณจากแผนยุทธศาสตร์จังหวัดอีกประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งทางผู้บริหารท้องถิ่นนำมาพัฒนาถนนทางเข้า สร้างบ่อคอนกรีตล้อมรอบจุดที่น้ำซึมออกมา และสร้างอาคารทำการ พร้อมห้องแช่ตัว 6 ห้อง

ขณะที่ อโนชา มุ่งมิตรภาพ เจ้าหน้าที่จำหน่ายบัตรและประชาสัมพันธ์ บ่อน้ำพุร้อนบ้านหนองแห้ง เสริมเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะทำการก่อสร้างมีการทำประชาคมภายในหมู่บ้าน เพื่อป้องกันความขัดแย้ง

“เราแจ้งในที่ประชุมว่า เราจะก่อสร้างประมาณนี้ ทางชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้าน จึงค่อยดำเนินการ บ่อแรกตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งนอกจากเราแล้ว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้ามาช่วยเจาะหาเพิ่มหลายแห่ง แต่ไม่เจอ เราจึงล้อมเฉพาะจุดที่มีน้ำซึมเข้ามา จนถึงช่วงหนึ่ง บ่อนั้นตาย ก็คอยสังเกตว่าไปผุดต่อตรงไหน ซึ่ง ณ วันนี้ เรามีอยู่ 4 บ่อ ตายไป 3 บ่อ เหลือ 1 บ่อที่ยังเดือดอยู่ตลอด” อโนชาว่า

น้ำที่ซึมออกจากบ่อมีความร้อนถึง 80 องศาเซลเซียส โดยมีการต่อท่อเข้าไปยังห้องแช่ตัว รวมถึงลงสระว่ายน้ำ ซึ่งสร้างในภายหลัง และเปิดทำการในเดือนตุลาคม ปี 2554 โดยในห้องรวมจะมีก๊อก 2 ก๊อกให้ผู้ใช้บริการได้เลือกผสมน้ำตามอุณหภูมิที่ตัวเองชอบ และต่อมาในปี 2557 อบต.เมืองปอนได้รับงบประมาณมาเพิ่ม จึงก่อสร้างห้องแช่ตัวเพิ่มอีก 8 ห้อง เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว

บ่อน้ำพุร้อนบ้านหนองแห้ง เปิดดำเนินการทุกวัน ตั้งแต่ 8.30-19.00 น. และช่วงหน้าหนาว หากยังมีลูกค้าอยู่อาจจะเปิดยาวไปถึง 21.00 น. ส่วนค่าบริการของห้องส่วนตัว คิดเป็นรายหัว ผู้ใหญ่หัวละ 50 บาท ส่วนเด็กมี 2 ราคา คือเด็กเล็ก 10 บาท เด็กโต 20 บาท โดยช่วงที่คึกคักที่สุดคือฤดูหนาว ตั้งแต่ปลายฝนต้นหนาวในเดือนตุลาคมยาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

“สระน้ำนี้เด็กๆ จะมาลงกันเยอะ เพราะโรงเรียนแถวนี้ เขาจะพาเด็กมาเล่นน้ำกัน โดยเรามีการเปลี่ยนน้ำตลอด เพราะเราไม่ได้ใช้ระบบน้ำวน และพอเป็นน้ำแร่ ตะไคร่ขึ้นง่าย” อโนชาเล่า

นอกจากนี้ ยังได้ส่งน้ำในบ่อไปตรวจสอบ ซึ่งพบว่า มีสารฟลูออไรด์ ช่วยให้อาบแล้วรู้สึกผ่อนคลาย โดยเฉพาะเมื่อแช่ในเวลาที่เหมาะสม คือประมาณ 15-20 นาที และยังมีสรรพคุณอีกหลายอย่าง เช่น รักษาโรคผิวหนัง ทั้งสิว ผิวมัน ผิวหนังอักเสบ ผดผื่น ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหวัด ฯลฯ ทว่ามีคำเตือนสำหรับผู้มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไม่ควรแช่เกิน 10 นาที และผู้ใดที่เพิ่งดื่มสุราหรือของมึนเมา เจ้าหน้าที่ขอแนะนำให้งดแช่น้ำโดยเด็ดขาด

ถ้าสังเกตหน้าทางเข้าอาคารทำการ จะพบร้านค้า ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นร้านของคนในชุมชน โดยชุมชนไม่คิดค่าเช่า และยังมีบริการนวด โดยชาวบ้านในพื้นที่ คิดค่านวดชั่วโมงละ 120 บาท และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร ทางองค์การบริหารส่วนตำบลจึงได้พัฒนาพื้นที่รอบบ่อขึ้นเป็นสวนหย่อมขนาดย่อมๆ พร้อมเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่อยากมาสัมผัสความงามของพื้นที่มาตั้งเต็นท์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และยังสามารถเข้าไปใช้ห้องน้ำได้ฟรีอีกด้วย

ปัจจุบันบ่อน้ำพุร้อนบ้านหนองแห้ง มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-20,000 บาท โดยร้อยละ 80 เข้าสู่องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน ส่วนที่เหลือให้คืนหมู่บ้านหนองแห้ง เพื่อทำโครงการอื่นๆ ภายในหมู่บ้าน

อโนชาพาเราเดินสำรวจห้องแช่ตัวแต่ละห้อง ทั้งยังเชิญชวนให้ลองใช้บริการสักหนึ่งชั่วโมง แต่น่าเสียดาย ผู้นำทางของเราบอกว่า ต้องรีบเดินทางขึ้นเขา เพื่อกลับลงมาให้ทันก่อนมืด อโนชาจึงเดินมาส่งเราที่สวนหย่อม ที่เวลานี้เปิดน้ำพุไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมกับกลิ่นไข่ต้มที่ลอยมาส่งเราด้วย…