ย้อนกลับไปเมื่อปีพุทธศักราช 2348 ชาวบ้าน 5 ครอบครัว ได้อพยพจากเมืองยอง รัฐฉาน ประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทา เขตอำเภอป่าซาง สืบลูกสืบหลานจนแพร่ขยายกลายเป็นหมู่บ้านหนองเงือกจนปัจจุบัน ต่อมาในปี 2371 เด็กชายอุปปละ วัย 11 ปี ซึ่งเป็นลูกหลานในหมู่บ้าน มีความประสงค์จะบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ทว่าในบ้านหนองเงือกเวลานั้นยังไม่มีวัด นายไจยผู้เป็นบิดาจึงเกิดความคิดที่จะสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นสถานที่ให้บุตรชายได้จำพรรษา หลังจากปรึกษาผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน จนได้รับความเห็นชอบให้สร้างวัดขึ้น และได้ไปกราบอาราธนา ครูบาปารมีเถระ พื้นเพเป็นคนเมืองยอง ซึ่งมาธุดงค์และจำพรรษาอยู่ที่วัดฉางข้าวน้อยป่ายางให้มาเป็นประธานสร้างวัด โดยตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า ‘อาวาสบวกเงือก’ หรือ ‘วัดหนองเงือก แก้วกว้างดอนทัน สันศรีชุม โชติการาม’ เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านช่วยรับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อทันที
ระหว่างที่ครูบาปารมีเถระดำรงตำแหน่ง ท่านได้สร้าง ‘คะตึก’ หรือ หอไตร ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมคัมภีร์บาลีไวยากรณ์ใหญ่ คัมภีร์ปรมัตถธรรม (อภิธรรม) และพระบาลีไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ปกรณ์วิเสสต่างๆ ตัวอาคารหอไตรก่อสร้างด้วยศิลปะมอญผสมพื้นเมืองล้านนา เป็นตึกทรงสี่เหลี่ยม 2 ชั้น โดยแต่เดิมหลังคาเป็นแบบดาดฟ้ามุงด้วยแผ่นทองจังโก้ ฝาผนังชั้นล่างมีจิตรกรรมภาพเขียนเรื่อง พุทธประวัติโปรดสัตว์ 3 โลก คือเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสด็จโปรดชาวเมืองสาวัตถี และเสด็จโปรดพญานาคในเมืองนาค ส่วนอีกด้านเป็นชาดกพื้นเมือง เรื่องลังกาสิบหัว พรหมจักก์ชาดกตามคติเมืองเหนือ ซึ่งเป็นต้นเรื่องของวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมอย่าง รามเกียรติ์ โดยเป็นภาพ 2 มิติ ใช้สีผสมยางไม้แบบโบราณ อย่างไรก็ดี ด้วยระยะเวลาอันยาวนานจึงทำให้ทรุดโทรมไปมาก ทางกรมศิลปากรจึงเข้ามาช่วยบูรณะซ่อมแซม ภายใต้การดูแลของประชาชนชาวหนองเงือก
ไม่เพียงเท่านั้น จากการพูดคุยกับ 2 ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน อาจารย์บุญสุ่ม อินกองงาม และอาจารย์สนั่น ศรีกอก ยิ่งทำให้ทราบว่าที่นี่ยังมีสิ่งปลูกสร้างอีกมากมายที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นยอง เช่น ซุ้มประตูวัด หรือ ประตูขลุง ซึ่งเป็นศิลปะมอญสร้างในสมัยครูบาญาณะ โดยมีการบันทึกว่า ได้จ้างช่างก่อสร้างชาวพม่า เป็นเงิน 600 รูปีอินเดีย ประดับด้วยลวดลายวิจิตรพิสดาร อย่างวานร กินรี รวมไปถึงเทวดานางฟ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับตัววิหาร ซึ่งเป็นผนังก่ออิฐถือปูน เป็นศิลปะแบบล้านนา บานประตูทำด้วยไม้สักแกะสลักลวดลายท้องถิ่น โครงหลังคาโบราณแบบม้าต่างไหม เสาไม้สักทรงกลมขนาดคนโอบสูง 12 ศอก ประดับด้วยลายคำ ข้างในมีปราสาทธรรมาสน์ไม้สักลายคำ ศิลปะพื้นบ้านท้องถิ่น และพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปะล้านนาสมัยรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงพระธาตุเจดีย์ซึ่งหุ้มทองทั้งองค์ ภายในบรรจุพระแก้วมรกตและพระอรหันตธาตุถึง 101 องค์ โดยทุกวันแรม 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (หรือเดือน 7 ของภาคกลาง) ก็จะมีประเพณีสรงน้ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
“พระธาตุเจดีย์ที่นี่มีความศักดิ์สิทธิ์ อย่างในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ ตอนตีหนึ่งตีสองจะมีดวงไฟลอยอยู่เหนือพระธาตุ แล้วพอใกล้สว่างก็ลอยกลับมา โดยประวัติของพระแก้วมรกตกับพระธาตุนี้ ครูบาธรรมจักรที่วัดพระพุทธบาทตากฟ้าได้เดินธุดงค์แล้วไปพักอยู่ที่วัดป่าหนองเจดีย์ แต่ว่าวัดนี้ไม่มีพระประธาน ท่านเลยให้ญาติโยมช่วยกันหาดูว่ามีหลงเหลืออยู่ไหม ก็ไปขุดแล้วเจอพระแก้วมรกตและกระปุกพระธาตุอีก 101 องค์ แล้วคืนนั้นก็แสดงปาฏิหาริย์ทันที มีดวงไฟลอยขึ้นฟ้า ชาวบ้านแตกตื่นกันมาดู ท่านก็เห็นว่าหากเก็บเอาไว้ อาจจะมีคนมาขโมย จึงนำมาถวายที่วัดป่าเหียน ต่อมาส่งมอบให้วัดหนองเงือกอีกที หลังจากนั้นข่าวรู้ไปถึงเจ้าเมืองลำพูน ท่านก็คงอยากได้จึงนิมนต์เจ้าอาวาสให้ไปพบ เจ้าอาวาสจึงรีบให้ชาวบ้านสร้างเจดีย์ครอบทับพระแก้วมรกต พอรุ่งเช้าไปพบเจ้าเมือง ก็ได้แจ้งว่าสร้างเจดีย์เก็บไว้แล้ว” สองวิทยากรช่วยกันเล่าตำนาน
นอกจากสถาปัตยกรรมอันเป็นที่เลื่องลือ วัดหนองเงือกยังมีชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นแหล่งเรียนรู้ เพราะมีพระเถระซึ่งได้รับการยอมรับจากสาธุชนในล้านนาหลายรูป เช่น ครูบาอุปปละ ครูบาไชยสิทธิ ครูบาเตชะ หรือครูบาญาณะ ดังเช่นที่ปรากฏว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 มีพระภิกษุของภาคเหนือจำนวนมากเข้ามาศึกษาหาความรู้ที่นี่ และยังมีคัมภีร์ใบลานซึ่งจากโอวาทของพระเถระเหล่านี้ ล้วนเป็นหลักฐานซึ่งสะท้อนความรุ่งเรืองของวัดแห่งนี้ได้อย่างดี
ปัจจุบันวัดหนองเงือกแห่งนี้มีพระครูรัตนวรรณสาทร เป็นเจ้าอาวาส และยังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีผู้ศรัทธาทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเสมอ ไม่เพียงแค่นั้นที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ทั้งด้านชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาได้เต็มที่
“วัดหนองเงือกเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัย มีเรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี อย่างเช่นสมัยก่อนเวลาชาวบ้านจะทำบุญสืบชะตา ก็จะให้ช่างมาแกะสลักไม้เป็นพระพุทธรูป ซึ่งหลายองค์ก็ยังมีเก็บไว้ที่นี่ หรือแม้แต่ความรู้เรื่องธรรม อย่างเช่นพระไตรปิฎกฉบับล้านนา หรือบทอรรถกถาต่างๆ ซึ่งสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราพยายามส่งเสริมให้วัดหนองเงือกเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของพื้นที่ ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบประวัติความเป็นมาของชาติพันธุ์ของตัวเอง รวมทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมาให้คงอยู่สืบไป” อาจารย์บุญสุ่มกล่าวทิ้งท้าย…