กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านปราลี

DSC_0010

จากข้อมูลเมื่อปี 2543 พบว่าหมู่ที่ 10 ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส คือหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดของจังหวัดนราธิวาส ทำให้แกนนำในพื้นที่หลายคนระดมความคิดกัน เป็นที่มาให้จัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิตปราลี

การียา มะอาลี ผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์ฯ เล่าว่า กลุ่มนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 มีสมาชิกผู้ก่อตั้งจำนวน 30 คน แรกเริ่มมีเครือข่ายเฉพาะชุมชนปราลี ภายหลังจึงเริ่มขยายตัวไปทั่วหมู่ที่ 10 ตำบลรือเสาะ ซึ่งมีชุมชนปราลี ชุมชมหลังสถานีรถไฟ และชุมชนตลาดนัดเก่า และอีก 2 ชุมชนในหมู่ที่ 1 ของตำบลรือเสาะออก คือชุมชนมัสยิดกลางและชุมชนยือแรงตีงี โดยจะบริหารงานในรูปแบบเครือข่ายออมทรัพย์ แต่ละเครือข่ายต้องบริหารจัดการตนเอง โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ คณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งมีกฎกติกา ระเบียบ รวมไปถึงการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันอย่างชัดเจน

สำหรับคุณสมบัติของสมาชิกกลุ่ม คือต้องมีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลรือเสาะ หรืออยู่ในละแวกใกล้เคียงชุมชนปราลี เสียค่าสมัคร 25 บาท โดยทุกคนมีหน้าที่สำคัญคือการออมสัจจะเป็นประจำทุกเดือน ขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุดไม่เกิน 500 บาท แต่มีข้อแม้ว่าต้องออมเท่ากันทุกเดือน พอครบปีสมาชิกมีสิทธิ์ถอนเงินออกได้ และเปลี่ยนอัตราการออมของตัวเอง

หลังจากดำเนินการมาได้ 3 ปี ก็เริ่มมีการปล่อยกู้ โดยผู้กู้ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ก็ได้ แต่ต้องผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการ ซึ่งวิธีการกู้เงินหลักๆ จะมีการทำข้อตกลงระหว่างผู้กู้กับกลุ่มออมทรัพย์ว่าต้องการเงินไปใช้เท่าไร ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี เพดานกู้อยู่ที่ 150,000 บาท มีสมาชิกค้ำประกัน 3 คน แต่ถ้าคนค้ำน้อยกว่า 3 คน ต้องมีหลักทรัพย์มาด้วย โดยผู้กู้ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามระยะเวลาการกู้ ปีแรกร้อยละ 15 ปีที่ 2 ร้อยละ 13 และปีสุดท้ายร้อยละ 11 แต่ค่าธรรมเนียมนี้สามารถตัดได้ก่อน หากผู้กู้สามารถชำระเงินต้นทั้งหมด หรือค่าธรรมเนียมจะลดลง หากเป็นการกู้ไปเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน

“หากผู้กู้ต้องการกู้เงิน 10,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี ฉะนั้นเวลาทำสัญญาจึงเท่ากับคนนั้นกู้เงินกองทุนไป 12,800 บาท (ค่าธรรมเนียมปีแรก 1,500 บวกปีที่สอง 1,300) ซึ่งกองทุนจะนำเงินจำนวนนี้มาหาร 24 เพื่อเป็นตัวเลขที่ผู้กู้จะต้องส่งคืนในแต่ละเดือน แต่ถ้าผู้กู้จ่ายเงินต้นครบก่อนอายุสัญญาก็สามารถตัดหนี้ได้ทันที” การียาขยายความ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เปิดบริการกู้นี้ กองทุนประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ถูกข้อครหาว่าคิดดอกเบี้ย ซึ่งขัดกับหลักศาสนา กรรมการเลยแก้ไขด้วยการเชิญโต๊ะอิหม่ามมาเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ ซึ่งสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ ปัญหาอีกเรื่องคือหนี้สูญ ซึ่งต้องใช้การเจรจา เพื่อประนีประนอมหนี้ หาทางออกร่วมกัน

จากข้อมูลของเดือนเมษายน 2558 กลุ่มฯ มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 162 คน มีเงินออมทรัพย์ 1,982,780 บาท เงินกองกลาง 49,144 บาท และเงินกองทุนอัลอิคลาสสำหรับบริจาคแก่ผู้ยากไร้ 23,350 บาท โดยทุกเดือนกรกฎาคมจะมีการแบ่งปันผลในหมู่สมาชิก

คณะกรรมการจะดูยอดเงินของแต่ละเครือข่ายเพื่อสรุปผลกำไร จากนั้นก็มาหักร้อยละ 2.5 เพื่อเป็นเงินซะกาต แล้วหักค่าใช้จ่ายประจำปี ก่อนจะคืนกำไรให้ลูกค้าที่เป็นผู้กู้เงิน เฉพาะในส่วนที่เป็นสมาชิก ในอัตราร้อยละ 5 หักเข้ากองกลางอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้กลุ่มมีความแข็งแรง คงเหลือเป็นเงินปันผลประจำปี ซึ่งเงินคงเหลือตรงนี้ ร้อยละ 65 ปันผลคืนแก่สมาชิก ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 35 เป็นค่าบริหารจัดการและค่าตอบแทนแก่คณะทำงาน อาทิ เงินตอบแทนคณะกรรมการ เงินตอบแทนของแกนนำเครือข่าย

“เรามีเครือข่ายทั้งหมด 4 เครือข่าย สมาชิกแต่ละเครือข่ายก็ไม่เท่ากัน เงินออมทรัพย์ไม่เท่ากัน ลูกหนี้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดความยุติธรรมที่สุด เราเลยมาดูว่าภาระในการเก็บเงินออมทรัพย์ของเขามีกี่คน เป็นเงินเท่าไร เก็บหนี้คืนเท่าไร ก็มาคิดเป็นตัวชี้วัดว่า ใครรับภาระหนักเบาแค่ไหน เพราะฉะนั้นตัวแทนทั้ง 4 กลุ่มจะได้เงินไม่เท่ากัน คือได้ตามภาระที่ตัวเองดูแล” ผู้จัดการอธิบาย

ส่วนรูปแบบของการบริหาร ที่นี่ค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มออมทรัพย์อื่นๆ คือมีประธานกลุ่มและผู้จัดการกลุ่มแยกบทบาทกันชัดเจน เพราะเวลาคนที่ก่อตั้งเสียชีวิต กลุ่มมักไปไม่รอด อีกอย่างหนึ่งก็คือคนที่เป็น ประธานกลุ่มนี้ มักจะมีอำนาจเยอะ และหากต่อไป เงินฝากเยอะ จะทำอะไรก็ได้ จึงมีการเขียนระเบียบให้ประธานมีอำนาจแค่ดูแลกฎระเบียบและคอยตรวจสอบเท่านั้น ส่วนผู้ปฏิบัติหลักก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการไป” สะอารอมิง มะอาลี ประธานกลุ่มออมทรัพย์ฯ ฉายภาพให้เห็น

นอกจากนี้กลุ่มออมทรัพย์ฯ แห่งนี้ยังมีโครงการดีๆ อีกหลายอย่าง เช่น โครงการซับน้ำตาผู้ด้อยโอกาสในวันอีดิลฟิตรี ซึ่งจัดต่อเนื่องมา 2 ปี โดยกลุ่มทำหน้าที่เป็นคนกลางในการรวบรวมเงินซะกาตของคนที่มีฐานะในพื้นที่เพื่อบริจาคแก่เด็กกำพร้าและเด็กยากไร้ ซึ่งในปีแรกได้เงินมา 27,320 บาท ช่วยเด็กได้ 27 คน โดยปีนั้นทางกลุ่มยังได้นำผู้บริจาคมาร่วมเลี้ยงอาหารและมอบเงินแก่เด็กๆ เหล่านี้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเงินที่เกิดขึ้นถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสมจริงๆ พอในปีถัดมา ยอดบริจาคจึงเพิ่มขึ้นเป็น 91,036 บาท สามารถช่วยผู้ยากไร้ได้ถึง 62 คน…