ปักจักรวานีตา บรือจายา

DSC_0318

ผ้าฮิญาบสีสันสดใสเรียงรายอยู่ภายในบ้านของผู้ใหญ่หมู่ที่ 3 ข้างๆ กันมีใบประกาศนียบัตรรับรอง OTOP ระดับ 5 ดาวเป็นการยืนยันถึงคุณภาพสินค้าของกลุ่ม นี่เป็นความภาคภูมิใจของบรรดาสตรีบ้านเจ๊ะเหม

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 สาเราะห์ วอหะ ภริยาของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ได้ชักชวนเพื่อนสตรีในพื้นที่ 4-5 คน รวมกลุ่มใช้เวลาว่างระหว่างวันทำผ้าคลุมผมเพื่อหา รายได้เล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเสริมจากการกรีดยาง โดยช่วงแรกได้อาจารย์จากสุไหงโก-ลก ซึ่งมาแต่งงานกับคนบ้านเจ๊ะเหมมาช่วยสอน ใช้เวลาเรียนอยู่ 5 เดือน เสียค่าเรียนคนละ 600 บาท ได้ความรู้เรื่องลวดลายดอกไม้ต่างๆ มากมาย หลังจากนั้นเริ่มมีการต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การไปกระจายความรู้ให้แก่สตรีคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน รวมถึงศึกษาลวดลายใหม่ๆ เพิ่มเติมจากนิตยสารแฟชั่นของสตรีมุสลิม

“เรารวมเงินกันคนละ 500 บาท เป็นเงินสำหรับซื้อผ้า ด้าย เพชรประดับ ที่ตลาดแว้งและตลาดโกลก เราผลิตตามสั่ง โดยลูกค้าส่วนมากจะรู้ข่าวจาก อบต. พัฒนาอุตสาหกรรม เพราะเวลามีอบรม เขาก็เชิญเราไปเรียน บ่อยครั้งเข้าคนก็เริ่มรู้จัก แล้วยังได้คัดสรร OTOP ด้วย ครั้งแรกเมื่อปี 2547 ได้มาแค่ 3 ดาว เพราะเรายังไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน พอปี 2555 เราส่งใหม่ ครั้งนี้ได้รับคัดสรรระดับ 5 ดาว จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือสีไม่ตก ดอกแน่น” สาเราะห์ว่า

ปัจจุบันกลุ่มปักจักรวานีตา บรือจายานี้มีสมาชิกรวมทั้งสิน 11 คน ขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2555 สินค้าหลักๆ มี 2 ประเภท คือผ้าฮิญาบ และผ้าละหมาด ราคาตั้งแต่ 500-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับลวดลายและกากเพชร ยิ่งมีมากราคายิ่งแพง

“เมื่อได้ออเดอร์ครั้งหนึ่ง สมาชิกจะมารวมตัวกัน ใช้เงินลงทุนของกลุ่ม หรือถ้าไม่พอ ก็มีเงินกู้จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หากไม่พอจริงๆ จะมีการเรี่ยไรเพิ่ม และจ่ายคืนภายหลังที่ได้ค่าจ้างเรียบร้อยแล้ว ส่วนวิธีการแบ่งรายได้นั้น จะจัดสรรตามชิ้นงาน แต่ละชิ้นได้เงินไม่เท่ากัน หากชิ้นไหนต้องปักดอกเยอะ หรือต้องใช้ฝีมือในการทำค่อนข้างมากก็ได้ส่วนแบ่งเยอะตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งปันผลจากกำไรที่กลุ่มเก็บไว้ปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงวันฮารีรายอ หรือวัน 1 ค่ำ เดือนเชาวาล หรือเดือน 10 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นวันออกบวช และวันอีดิลอัฎฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺ หรือเดือน 12 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นการฉลองวันออกฮัจญ์ โดยจะแบ่งเงินเท่ากันทุกคน สาเหตุที่ปันผลกันค่อนข้างกระชั้นชิด เพราะช่วงเวลา 2 เดือนนี้เป็นช่วงที่สินค้าขายดีที่สุด และมีเงินหมุนเวียนมากที่สุด

ส่วนแหล่งกระจายสินค้า นอกจากงานเทศกาลต่างๆ ที่ อบต.จัดแล้ว ยังมีร้านในตัวจังหวัดนราธิวาส มีอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

ส่วนทิศทางของกลุ่มในอนาคต ประธานฯ สาเราะห์บอกว่า มีความพยายามหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอด อย่างล่าสุดทางวิทยาลัยชุมชนจังหวัดนราธิวาส ก็เข้ามาให้ความรู้เรื่องการผลิตกระเป๋าจากเส้นพลาสติก พร้อมแจกจ่ายอุปกรณ์มาให้ลองทำ เช่นเดียวกัน ตัวเธอยังเดินสายเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการผลิตผ้าฮิญาบในพื้นที่ต่างๆ ด้วย…