ศูนย์เด็กเล็กแสงส่องหล้า 9

DSC_0549

ช่วงเช้าสายเที่ยงบ่าย เด็กๆ ร้องไห้กระจองอแง เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน บางคนถูกปล่อยทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายาย ด้วยเหตุนี้ ในปี 2524 ผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านจึงรวบรวมเงินทุน เพื่อตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กขึ้น โดยขอใช้สถานที่ของศูนย์สภาตำบล หน้าวัดหอไตร แต่การตั้งศูนย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ด้วยความไม่พร้อมของตัวสถานที่ บุคลากร ตลอดจนการขาดหน่วยงานสนับสนุน ทำให้ศูนย์นี้ไม่อาจดำเนินการได้

กระทั่งปี 2527 ผู้นำและชาวบ้านไม่ละความพยายาม ได้ทำการรื้อฟื้นศูนย์เด็กเล็กขึ้นมาใหม่ โดยย้ายมาอยู่ที่มุมทางทิศเหนือของโรงเรียนเหล่าใหญ่วนาสณฑ์ผดุงเวทย์แทน โดยได้รับงบสนับสนุนจากโครงการสร้างงานในชนบท 170,000 บาท ตั้งชื่อว่า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเหล่าใหญ่” โดยมีทั้งกลุ่มผู้ปกครองและครูอีก 2 คน เป็นอาสาสมัครคอยช่วยประคับประคองมาตลอดหลายปี ทว่า ด้วยความที่งานนี้เป็นจิตอาสา ในที่สุดครูก็ขอลาออกไป ทางคณะกรรมการศูนย์ซึ่งประกอบด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จึงหาจิตอาสามาทดแทน จนสุดท้ายได้จิตอาสามาร่วมงาน 4 คน ในปี 2535

ยุพิน เจริญสุข รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนแสงส่องหล้า 9 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จิตอาสาชุดที่ 3 เล่าว่า ตอนนั้นในพื้นที่ไม่มีศูนย์เด็กเล็กเลย และจำนวนเด็กก็มีเยอะมาก ราวๆ 70-80 คน ช่วงนั้นครูได้รับค่าแรงจากเงินบริจาคของผู้ปกครอง จำนวน 700 บาท ส่วนอาหารกลางวันเด็กก็ไม่มีให้บริการ ผู้ปกครองต้องห่อข้าวมาให้เอง กระทั่งช่วงปี 2540 นี้เองที่ศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนค่าตอบแทน ค่าอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) จากกรมพัฒนาชุมชน ทำให้ครูจิตอาสามีรายได้เพิ่มขึ้นและมั่นคงขึ้น

“ในช่วงปี 2542 อาคารศูนย์เด็กเล็กเริ่มผุพังตามสภาพ หลายคนหวั่นเกรงอันตรายที่จะเกิดกับลูกหลาน จึงของบสนับสนุนไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าใหญ่ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ครูจึงปรึกษากับคณะกรรมการศูนย์และผู้นำชุมชนว่าจะทำอย่างไรดี ในที่สุดทั่ง กุลเสนชัย ประธานคณะกรรมการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และคณะกรรมการศูนย์ ก็ได้ทำโครงการเสนอเพื่อขออนุมัติงบประมาณในการสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กราบทูลไปยังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังจากราชเลขานุการฯ นำความกราบบังคมทูลแล้ว ก็ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 ก่อนส่งเรื่องต่อไปยังชมรมแสงส่องหล้า ซึ่งทำกิจกรรมในเรื่องเด็กด้อยโอกาสอยู่ให้ช่วยหาทางสนับสนุน” ยุพินเล่า

ที่สุด คุณหญิงสุภัทรา ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานชมรมแสงส่องหล้าก็ให้ความอนุเคราะห์ด้วยการประสานงานและระดมทุน จนได้งบประมาณมา 300,000 บาท และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ทรงพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนแสงส่องหล้า 9” แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างอาคารให้ครบสมบูรณ์ ชาวบ้านหมู่ที่ 1, 7 และ 8 จึงช่วยระดมทุนอีกแรง ผ่านการทำผ้าป่าสามัคคี จนได้อาคารขนาด 3 ห้อง และช่วยกันพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนสมบูรณ์พร้อมในปี 2545

การถือกำเนิดของศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้ได้จุดประกายให้เกิดการพัฒนาศูนย์ต่างๆ อีกหลายแห่ง จนทุกวันนี้มีศูนย์เด็กเล็กอยู่ในตำบลเหล่าใหญ่ถึง 6 แห่งด้วยกัน

“ปี 2547 ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ศูนย์เราได้รับการถ่ายโอนมาอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าใหญ่ ซึ่งทางกรมฯ อุดหนุนงบด้านอาหารกลางวัน นม สื่อการเรียนการสอน รวมไปถึงเงินเดือนของครูด้วย ขณะเดียวกันทาง อบต.ก็ช่วยซ่อมแซมอาคารที่ผุพังตามกาลเวลา” ยุพินเล่า

ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้มีเด็กอยู่ในการดูแล 51 คน จาก 3 หมู่บ้าน แบ่งเด็กออกเป็น 3 ระดับคือ ปฐมวัย 2 ขวบ เตรียมอนุบาล 1 วัย 3 ขวบ และเตรียมอนุบาล 2 วัย 4 ขวบ โดยวิธีการสอนและการดูแลจะต่างกันไป หากเป็นปฐมวัย ส่วนมากจะมีปู่ย่าตายายเข้ามาช่วยดูแลในเบื้องต้น เพราะเด็กยังไม่คุ้นกับครู กิจกรรมไม่มีอะไรมาก หลักๆ จะให้เล่นของเล่น ส่วนเตรียมอนุบาล 1 เริ่มมีการสอนขีดเขียน และเตรียมอนุบาล 2 สอนเขียนตามเส้น สอนการอ่านหนังสือ ก. ข. ค.

ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองก็ยังมีส่วนในการช่วยเหลือ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้านการเงิน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร มีการชักชวนปราชญ์ชาวบ้านมาอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง มีการส่งเสริมให้เด็กปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งบวบ ฟักทอง ต้นกล้วย เพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเอง และล่าสุดทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดโครงการธนาคารหนังสือ เพื่อส่งเสริมการอ่าน พร้อมมีการอบรมครูและผู้ปกครองว่าจะอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างไรถึงจะเหมาะสม ขณะที่ครูเองก็มีการแบ่งงบการเรียนการสอนไปซื้อหนังสือบ้าง ผู้ปกครองบริจาคบ้าง

คงจะไม่ผิดนักหากบอกว่า ศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนอย่างแท้จริง