กองทุนซารีกัตมาตี

DSC_0481open

ความตายเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดเอาไว้แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่มีผู้จากไป ชาวมุสลิมทั้งหลายจึงถือเป็นวัตรปฏิบัติที่ต้องยื่นมือช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ดั่งเช่นเรื่องราวของมัสยิดประจำหมู่ที่ 5 บ้านกูวาแห่งนี้

อาจารย์วิสิทธ์ พงศ์สันติ หรือ แวอาแซ แวยูโซ๊ะ เหรัญญิกกองทุนซารีกัตมาตี เล่าให้ฟังว่า ที่มัสยิดมูบารอ อตุลญีฮาด มีการก่อตั้งกองทุนฌาปนกิจนี้ขึ้นมา ในสมัยของอิหม่ามลำดับที่ 3 หยียะโกะ สสมี ตั้งแต่ปี 2519 โดยมีผู้ดูแลชื่อ ซอฮะ เจ๊ะแฮ ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว

“สมาชิกของกองทุนนี้มาจากหมู่ที่ 3, 4, 5 และ 6 ของตำบลแว้ง และอีกหมู่บ้านในตำบลเอราวัณ ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ติดกัน แต่หลักๆ จะเป็นหมู่ที่ 5 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 300 ครัวเรือน” แวอาแซพูดขึ้น

กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนยากจน ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการทำศพ เพราะเวลาจัดงานต้องมีการให้ค่าละหมาดเป็นสินน้ำใจแก่คนที่มาร่วมงาน ขณะที่คนที่ไม่มีเงินก็มักจะไม่มีคนมาละหมาดให้เท่าใดนัก สร้างความรู้สึกแตกต่างขึ้นในพื้นที่อย่างมาก

ส่วนวิธีเก็บเงินจะเก็บเป็นครอบครัว โดยยึดหลักการที่ว่าครอบครัวหนึ่งประกอบไปด้วยพ่อ-แม่-ลูก ในกรณีที่ลูกแต่งงานออกไป ถือว่าเป็นครอบครัวใหม่ ส่วนกรณีที่ลูกแต่งงานแยกออกไปหมดแล้ว เกิดคนที่เป็นสามีเสียชีวิต คนที่เป็นภรรยาสามารถเลือกได้ระหว่างไปรวมไปครอบครัวกับลูกคนใดคนหนึ่ง หรือจะจ่ายแยกเป็นอีกครอบครัวก็ได้

“เราเก็บเงินปีละครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยช่วงแรกเราเก็บเดือนละ 10 บาทต่อครัวเรือน ปีหนึ่งก็ 120 บาท ถ้าเสียชีวิตให้ศพละ 1,000 บาท จนปี 2540 เรามีการประชุมคณะกรรมการใหม่ เปลี่ยนเป็นเก็บครัวเรือนละ 20 บาท ให้เพิ่มเป็นศพละ 3,000 บาทแทน และปี 2554 มาเปลี่ยนอีกทีเป็นเก็บครอบครัวละ 25 บาท ให้ศพละ 4,000 บาท โดยญาติผู้ตายจะนำไปจัดการศพ ส่วนผ้าห่อศพ ไม้กระดาน 3 แผ่น ทางมัสยิดมีเตรียมไว้ให้” เหรัญญิกกองทุนฯ อธิบาย

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เป็นคนยากจนและไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฯ ก็จะใช้อีกระบบหนึ่งเพื่อช่วยเหลือ โดยมัสยิดจะรับหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเรี่ยไรเงินเป็นกรณีพิเศษ

ปัจจุบันกองทุนฯ บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ 9 คน มีโต๊ะอิหม่ามเป็นประธานฯ แต่ละคนแบ่งเขตกันดูแล ทำงานแบบจิตอาสา ไม่มีรายได้ โดยกรรมการนั้นมัสยิดเป็นผู้เลือกมาเอง ส่วนเงินทั้งหมดจะนำไปฝากไว้ที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย…