ออมทรัพย์เพื่อพัฒนาชุมชน

09-02resized

เพราะความผิดพลาดจากการบริหารการเงินไม่รอบคอบในอดีต ได้กลายมาเป็นบทเรียนสร้างความยั่งยืนของการจัดการในปัจจุบันของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนาชุมชน หมู่ที่ 8 บ้านเหล่าใหญ่ ที่วันนี้ได้กลายเป็นที่พึ่งหลักของประชาชน และยังเป็นเครื่องมือสร้างวินัยทางเงินให้แก่คนในพื้นที่

อารมณ์ ใจศิริ ประธานกลุ่ม เล่าให้ฟังว่าในช่วงปี 2542 ชาวบ้านส่วนหนึ่งเคยรวมตัวนำเงินมาลงทุนในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ แต่ทำไปได้ไม่นานปรากฏว่าทุนหายกำไรหมด ไม่มีเงินส่งคืน ก็เลยต้องเลิกกันไป พอในปี 2548 ประชาชนยังมีปัญหาการเงินเรื่อยมา ทั้งไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินลงทุน เป็นหนี้นอกระบบ ด้วยความที่เคยมีบทเรียนมาก่อน จึงอยากลองดูอีกครั้ง

“ระบบบริหารเงินต้องมีความชัดเจน มีระบบหุ้น มีกฎระเบียบ จึงเรียกประชุมชาวบ้านประมาณ 50-60 คน แต่ที่เข้าร่วมกับเรามี 38 คน ตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนาชุมชนขึ้นมา” อารมณ์เกริ่น

เมื่อพลาดและล้มมาแล้ว การเริ่มใหม่จึงเน้นสร้างความยั่งยืนผ่านการออม โดยมีการเปิดให้ลงหุ้นกัน หุ้นละ 100 บาท คนหนึ่งต้องมีอย่างน้อย 10 หุ้น แต่ไม่เกิน 100 หุ้น เพื่อให้กลุ่มมีเงินมากพอในการดำเนินงาน

วีระพงษ์ ศรีเลา เหรัญญิก และ ภาวิณี เนตรคุณ ผู้ช่วยเหรัญญิก ช่วยกันเสริมว่า ปัจจุบันกลุ่มมีบริการออมทรัพย์แบบไม่มีจำกัดยอดฝาก โดยแต่ละคนจะมีสมุดคู่ฝากติดตัวไว้ ใครจะฝากจะถอนก็เขียนใบคำร้องมาให้ เจอกรรมการที่ไหนส่งให้ได้เลย โดยกลุ่มให้ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ถ้าฝากไม่ถึง 6 เดือนจะไม่คิดดอกให้ แต่ถ้าฝาก 6 เดือนถึง 1 ปีให้ดอกเบี้ยแค่ครึ่งเดียว

ทั้งนี้ทั้งนั้น กลุ่มจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์แรกของทุกเดือน ขณะที่การซื้อหุ้นจะทำได้ช่วงเดือนมกราคม แต่ถ้าติดปีใหม่จะเลื่อนไปเป็นอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน ขณะที่การปล่อยกู้นั้นทำเป็นรายเดือน คนที่กู้ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น

“ปัจจุบันเรามีสมาชิกอยู่ 176 คน จากหมู่ที่ 1, 7 และ 8 (บ้านเหล่าใหญ่ทั้ง 3 หมู่) ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท สำหรับการกู้ระยะเวลา 3 เดือนหรือ 6 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เอาไปลงทุนด้านเกษตร เช่น ซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ แต่ถ้าเป็นการกู้ฉุกเฉิน เช่น ไปส่งหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือจัดงานศพ งานแต่งงาน งานบวช คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 กำหนดส่งไม่เกิน 10 วัน ส่งช้าปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ แต่ไม่เกิน 5 บาท โดยการกู้แต่ละครั้งจะมีเพดานไม่เกิน 20,000 บาท และต้องมีสมาชิกค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน” วีระพงษ์ว่า

ส่วนการจัดสรรแบ่งผลประโยชน์กันนั้น ยอดแก้ว แสงเพ็ชร ผู้ช่วยเลขานุการ ลำดับให้ฟังว่า จะเกิดขึ้นหลังจากมีการหักดอกเบี้ยเงินฝากเรียบร้อยแล้ว โดยการปันผลจะแบ่งเป็น ปันให้สมาชิกร้อยละ 45 คณะกรรมการร้อยละ 25 ใช้จ่ายในกองทุน เช่น ค่าอุปกรณ์ สมุดคู่มือการฝาก รวมกับสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่นการให้ทุนการศึกษาเด็ก ร้อยละ 10 และสมทบกองทุนร้อยละ 20 ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนอยู่ในกองทุนประมาณ 1,000,000 บาท

นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีระบบเสียงตามสาย คอยประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เวลาเลือกกรรมการประจำกลุ่ม จะใช้วิธีการโหวตทุก 2 ปี แต่ว่าสุดท้ายมักได้คนหน้าเดิมกลับเข้ามา เนื่องจากเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ แม้จะมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ให้ก็ตาม ปัจจุบันกรรมการมีทั้งหมด 11 คน แบ่งเป็นกรรมการบริหาร 8 คน ที่ปรึกษา 2 คน และตรวจสอบบัญชี อีก 1 คน

จากการที่ดำเนินงานมาต่อเนื่องร่วม 10 ปี อารมณ์ ในฐานะผู้นำกลุ่มกล่าวว่า แก้ปัญหาไปได้มากจริงๆ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบนั้นหายไปจากพื้นที่เลย อาจจะมีบ้างก็ต้องกู้ยืมธนาคาร หรือกองทุนเงินล้าน เพราะหลายคนใช้เงินตรงนี้ไปต่อยอดด้านการเกษตร เลยทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ไปได้เสียที

“อย่างน้อยเงินกู้ตรงนี้ก็เป็นเงินที่ชาวบ้านออมเพื่อช่วยกัน ไม่ได้หวังกำไร เป็นที่พึ่งพาให้แก่กันและกันมากกว่า” ประธานสรุป…