ศิลป์เสียง ดีเกฮูลู

DSC_0319open

เสียงเพลงพื้นเมืองแดนใต้แว่วดังมาจากเพิงไม้หลังหนึ่ง บริเวณหัวโค้งถนน รอยต่อของหมู่ที่ 2 มายังหมู่ที่ 3 บ้านเจ๊ะเหม กลุ่มชายทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่นั่งเรียงรายกันเพื่อแสดงดีเกฮูลูให้ฟัง แต่ละคนรับผิดชอบเครื่องดนตรีแตกต่างกันไป ทั้งกลอง ทั้งฉิ่ง ทั้งขลุ่ย ฯลฯ พร้อมกันนี้มีคนหนึ่งคอยขับขานเสียงเพลงในภาษามลายู แม้จะฟังไม่ออก แต่ดนตรีก็มีภาษาของมัน

สามสมาชิกของกลุ่มประกอบด้วย บีเด็ง อามะ รองประธานกลุ่ม พร้อมด้วยสมาชิกอีก 2 คนอย่าง อาแว ดือราแม และ มะวี ยายอ ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่ม โดยบีเด็งเริ่มเล่าว่า ในปี 2555 ผู้อาวุโสในบ้านเจ๊ะเหม ซึ่งบัดนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว นาม ซำซูเด็ง มามะ ได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นบ้านดีเกฮูลูที่เคยห่างหายไปหลายสิบปีให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยมีเป้าหมายอยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้อยู่คู่กับหมู่บ้านต่อไป แต่การฟื้นคืนสิ่งที่หายไปแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ยังดีที่มีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันช่วยเป็นแกนหลัก เมื่อฟื้นฟูความรู้ได้แล้ว ก็เริ่มดึงเยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมวง

ดีเกฮูลูบ้านเจ๊ะเหมฝึกซ้อมกันทุกคืน หยุดในช่วงเดือนรอมฎอน กระนั้นพวกเขายังรวมตัวเฉพาะกิจเพื่อแสดงให้แขกผู้มาเยือนอย่างเราได้ชมกัน

ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 25 คน เวลาเล่นจะใช้คนประมาณ 21-22 คน หากเต็มวงจริงๆ ควรจะมีประมาณ 30 คน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ซึ่งทางวงก็พยายามดึงคนรุ่นใหม่ๆ ในหมู่บ้านเข้ามาร่วมเล่นเพิ่มเติม

“กลุ่มนี้เราตั้งขึ้นเพราะใจรัก เวลาซ้อมก็ไม่มีค่าตอบแทนอะไรให้ แน่นอนสำหรับผู้ใหญ่อาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเด็กๆ อาจจะลำบากหน่อย เว้นแต่คนที่มีความสนใจจริงๆ” บีเด็งอธิบาย

วิธีการเล่นนั้น หลักๆ เป็นช่วงของการฝึกจังหวะ การใช้มือและการตีกลอง โดยเพลงที่เล่นเป็นเพลงใหม่ที่สมาชิกร่วมกันแต่งขึ้น เพราะเพลงของดีเกฮูลูมักจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ของพื้นที่ เช่น ช่วงไหนที่มีข่าวเกี่ยวกับยาเสพติดระบาด ก็จะแต่งเนื้อหาให้เข้ากับเรื่องนี้ หรือช่วงที่ยางพาราราคาตก เนื้อเพลงจะมุ่งประเด็นอาชีพเสริม เพื่อให้ฟังแล้วเกิดการสะท้อน หรือสร้างแรงบันดาลใจ

“ช่วงปี 2557 มีกระแสค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทางวงก็หยิบมาแต่งเป็นเพลงร้องกัน สร้างความสามัคคีในพื้นที่” อาแวเสริม

สำหรับเครื่องดนตรีของการเล่นดีเกฮูลู หลักๆ ประกอบไปด้วยแทมโบรีน ฆ้อง ฉิ่ง กลองรำมะนาใหญ่ กลองรำมะนาเล็ก ลูกแซกและขลุ่ย โดยบางวงอาจจะเพิ่มเครื่องดนตรีอย่าง ออร์แกน ปี่ ตามความเหมาะสม ทั้งนี้เครื่องดนตรีบางตัว ทางกลุ่มเป็นผู้ทำเอง เช่น รำมะนา ที่กลุ่มไปหาหนังวัวมาขึง

ส่วนวิธีการเล่น หลักๆ แบ่งวงเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มเล่นท่าทาง กลุ่มเล่นดนตรี และนักร้องนำ

“ถ้าเป็นการแข่งขันจะมีรูปแบบคล้ายๆ ลำตัดของภาคกลาง คือเป็นการร้องประชันกัน วงหนึ่งร้อง อีกวงหนึ่งโต้ วงไหนร้องดีกว่า เนื้อหาดีกว่า ประชันสนุกกว่าก็ชนะไป” มะวีพูดขึ้นบ้าง

ส่วนสัดส่วนของการเล่นก็แบ่ง 3 ส่วน เช่นเดียวกัน คือส่วนของโหมโรง 30-45 นาที เล่นดนตรีอย่างเดียวไม่มีการร้อง ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของการร้อง ปกติถ้าเป็นการร้องแข่งขันจะใช้ 2-3 เพลง แต่ถ้าเป็นงานแสดงทั่วไปก็ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจะให้เวลา พอร้องเสร็จก็จะเป็นช่วงแซว อาทิ ขอบคุณเจ้าภาพบ้าง ส่วนใหญ่นักร้องจะด้นสด ก่อนปิดท้ายด้วยการบรรเลงดนตรีเพียวๆ อีกประมาณ 10 นาที

ปัจจุบันวงดีเกฮูลูเริ่มรับงานร้องและเล่น ทั้งงานบุญและงานเทศกาลทั่วไป แต่เนื่องจากยังไม่ใช่วงใหญ่จึงไม่เคยเรียกร้องค่าตัว ส่วนใหญ่จะแล้วแต่เจ้าภาพ เป็นค่าน้ำมัน ค่าอาหารมาบ้าง ที่เหลือค่อยเก็บเป็นกองกลาง และแบ่งกันตามสมควร

อย่างไรก็ดี แม้จะเพิ่งรวมตัวกันไม่นาน แต่ด้วยความที่เป็นกลุ่มที่เกิดจากใจรักจริงๆ จึงทำให้ดีเกฮูลู บ้านเจ๊ะเหมประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดเป็นแชมป์การแข่งดีเกฮูลูในงานวัฒนธรรมประจำปีของอำเภอแว้ง และยังเป็นอันดับที่ 2 ของการแข่งขันในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ที่สำคัญเพลงของพวกเขายังสามารถกระตุ้นจิตสำนึกของคนในพื้นที่ให้ห่างไกลปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ และรณรงค์ให้ดำเนินชีวิตด้วยวิถีของความพอเพียง…