สานพลังเครือข่าย อปท. ขับเคลื่อน “ชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่” เสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนสาน

ปัจจุบันสถาณการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มเด็กและเยาวชนนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งระบุลึกถึงอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนพบว่า ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเยาวชนผู้หญิงอยู่ที่ 15% ในขณะที่ผู้หญิงไทยทุกกลุ่มอายุ สูบบุหรี่แค่ 1.3% ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก พร้อมทั้งระบุว่า หากอนาคตประเทศไทยอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนหญิงอาจจะเพิ่มไปถึง 30-40% ส่งผลต่ออนาคต เขาเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ใหญ่ก็จะติดบุหรี่ตามไปด้วย  

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา อปท. ภายใต้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีการทำงานอย่างเข้มข้น ในการการขับเคลื่อนเรื่อง “บุหรี่” แต่ด้วยการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทำให้ อปท. ทั่วประเทศต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนขึ้น ระหว่างสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และสำนักสนับสนุนการควบคุม ปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก1) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทำงานขับเคลื่อนเรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น 38แห่ง จำนวนกว่า 200 คนในการเข้าร่วมการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการทำงาน พร้อมทั้งร่วมทำแผนและแนวทางในการเฝ้าระวัง ป้องกันการควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในชุมชน ระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมแกรนด์ บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3และกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 กล่าวถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ว่า จากสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังเด็กและเยาวชน ทำให้ อปท.หลายแห่งต้องปรับวิธีการทำงาน จากเดิมที่ อปท. ทำเรื่องบุหรี่มวนอยู่แล้ว ขยับเพิ่มเติมเรื่องแนวทางและการทำงานในประเด็นของ “บุหรี่ไฟฟ้า”

         “อปท. เป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น คือการที่เรามีการยกระดับ องค์ความรู้-กระบวนการ-แนวคิด ซึ่ง สสส. สนับสนุนทุนและเครื่องมือในการเสริมศักยภาพ โดยการสร้างระบบการทำงานทั้งคน-กลไก-ข้อมูล เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเรื่องการควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าโดยชุมชนท้องถิ่น และขับเคลื่อนงานพร้อมกันทั่วประเทศ”

ซึ่งภายในงานมีการพัฒนาศักยภาพโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ Benchmarking เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) จากหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ อปท. สามารถมองเห็นช่องว่างในการพัฒนา และสามารถปรับปรุงการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ตลอดจนลดความเสี่ยงจากการลองผิดลองถูก และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ

องค์การบริหารส่วนตำบลด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของการทำงานการควบคุมการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในระดับชุมชน ได้การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา โดย นางสาวสุภาพร ทองเอม พนักงานกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลด่านช้าง เล่าถึงข้อค้นพบในพื้นที่ว่า 

         “ในพื้นที่ด่านช้าง เราค้นพบว่า ปัญหาเรื่องบุหรี่มวน ส่วนใหญ่พบในกลุ่มของผู้สูงอายุ สูงถึงร้อยละ 60 ซึ่งเดิมที่เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ที่สูบมานานแล้ว และหลายรายเริ่มปรากฏผลกระทบให้เห็น เช่น มีภาวะหายใจติดขัด และมีภาวะเสี่ยงที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งปอด ส่วนนี้เราทำงานร่วมกับ รพ.สต.ในพื้นที่ ในการบูรณาการข้อมูล รวมถึงมีนวัตกรรมสมุนไพรเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกลุ่มวัยทำงาน ที่มักสูบบุหรี่เพื่อเข้าสังคม ทำงานทั้งเชิงรุกในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในชุมชน และเชิงรับในการบูรณาการข้อมูล วิธีกร นวัตกรรมร่วมกับ รพ.สต. และหน่วยงานภายในพื้นที่”

นางสาวสุภาพร เสริมว่า ความท้าทายปัจจุบันคือเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ทำให้การทำงานของท้องถิ่นน้องปรับกลยุทธ์ และขยายเครือข่ายทำงานไปยังโรงเรียนในพื้นที่ สร้างแกนนำเยาวชนต้นแบบไม่สูบบุหรี่ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ และมอบความรู้ถึงอันตรายและผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ตามแผนชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ จนเกิดเป็นการบูรณาการงานร่วมกันหลายภาคส่วนในการควบคุมการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้มแข็ง

 และเทศบาลตำบลแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดย นางลัดดา เริงปรีดารมย์ พยาบาบวิชาชีพชำนาญการพิเศษ รพ.แหลมฉบัง เล่าถึง ธรรมนูญชุมชนเขตเทศบาลแหลมฉะบัง ที่ระบุมาตรการป้องกันและแก้ไขการบริโภคบุหรี่ในพื้นที่ ว่า แหลมฉะบังมีการทำธรรมนูญชุมชน โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูล เปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนสร้างการมีส่วนร่วมภายในชุมชน เพื่อออกแนวทางปฏิบัติและแต่งตั้งคณะกรรมการในการติดตามเฝ้าระวัง การลด ละ เลิกยาสูบทุกชนิดในเขตเทศบาล

         “ข้อหนึ่งที่ระบุในธรรมนูญตำบล คือ การสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่โดยที่ทุกคนมีส่วนร่วม สถานที่สาธารณะ/วัด/สถานพยาบาล/สวนสาธารณะ เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ห้ามขายยาสูบและจัดให้มีป้ายห้ามสูบบุหรี่บริเวณทางเข้า-ออกที่แสดงให้เห็นชัดเจน และแจ้งเตือนไม่ให้มีการสูบบุหรี่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต่อยอดมาจากการที่เทศบาล เริ่มออกระเบียบให้อาคารของเทศบาลเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ รวมถึงเป็นแบบอย่างให้คนในชุมชน สร้างเชื่อมั่นว่า แรงกำลังของเราทุกคน หากร่วมมือกัน ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนได้”

ด้าน ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. ชวนมองการขับเคลื่อนการทำงานเรื่องบุหรี่มวลและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมองว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่ อปท.ต้องร่วมมือกัน โดยทุกพื้นที่มีแผนการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ ซึ่งมีประเด็นการขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในแผนการทำงาน

         “ปี 68 การทำงานเรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจะเข้มข้นขึ้น ในโอกาสนี้จึงอยากเชิญชวน อปท. เริ่มสื่อสารรณรงค์ ก่อนถึง 31 พ.ค. ที่เป็นวันงดสูบบุหรี่ ในหัวข้อ ‘กระชากหน้ากาธุรกิจบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า นิโคติน เสพติด จน ตาย’ โดยโอกาสนี้เริ่มต้นในพื้นที่ภาคกลาง และจะเริ่มขยายผลไปยัง อปท. อื่น ๆ ให้เกิดขบวนการขับเคลื่อน อปท.ปลอดบุหรี่ไปด้วยกัน”