ที่ว่างสร้างอาหาร

DSC_0156

“ปลูกผักฮื้องาม เฮาใส่ใจ๋ เฮาบ่อใส่สารพิษ” ถ้อยคำสั้นๆ นี้ปรากฏอยู่ท่ามกลางแปลงผักขนาดย่อม บริเวณหน้าบ้านของ สายสุภาพ มณีกรรณ์ แห่งบ้านป่าบุก

ที่นี่เปลี่ยนที่ว่างให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่กินได้กันทุกบ้าน แต่บ้านที่ได้รับการยอมรับให้เป็นที่สุดแห่งการจัดการพื้นที่ และไอเดียสุดสร้างสรรค์ คือบ้านของสายสุภาพ

“เริ่มแรกเราไปทำงานข้างนอกบ้าน แล้วข้างนอกนี่ไม่มีตลาดขายผักสดเลย จะมาซื้อแถวบ้านก็ไม่ได้ เพราะกลับมาก็ค่ำแล้ว เวลาจะทำกับข้าวก็เลยขาดผักชีบ้าง ต้นหอมบ้าง เลยแก้ปัญหาด้วยการปลูกผักกินเองทีละนิดๆ” สายสุภาพย้อนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2549

ทว่าด้วยความที่มีพื้นที่จำกัด ขนาดไม่ถึง 100 ตารางวา รวมตัวบ้านด้วยแล้ว การจะทำแปลงปลูกเหมือนที่อื่นจึงลืมไปได้เลย

ความจำกัดด้านพื้นที่ได้รับการทดแทนด้วยความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเธอเห็นเศษตะกร้า กระเช้าของขวัญ ยางรถยนต์ ขวดน้ำอัดลมที่ไม่ใช้แล้ว จัดแจงทำเป็นกระถางห้อยตามรั้วบ้าง ผนังบ้านบ้าง นับว่าเป็นไอเดียที่แปลกแหวกแนว ได้ทั้งผักปลอดสารพิษไว้รับประทาน และเป็นการตกแต่งบ้านไปในตัว

“พอปลูกมาเรื่อยๆ เห็นว่าดี เลยตัดสินใจขยาย เอาพืชผักใหม่ๆ มาลง ตอนนี้มี 40 กว่าอย่างแล้ว ทั้งหัวไชเท้า ผักกาดขาว แครอท ถั่วฝักยาว ผักชี พริก ขิง ข่า ตะไคร้ สตรอว์เบอร์รีพี่ก็มี ปลูกแบบหมุนเวียน” สายสุภาพว่า

ส่วนเคล็ดลับการปลูกให้ได้ผลงาม เจ้าของบ้านบอกว่า ต้องใส่ใจ รดน้ำทุกวัน พรวนดิน หมั่นใส่ปุ๋ย เน้นปุ๋ยหมักเป็นหลัก ส่วนปุ๋ยเคมี ใช้บางตัวเล็กน้อย แล้วก็มีน้ำหมักชีวภาพที่ทำเองมาผสม

จากบ้านหลังเล็กๆ เพียงหลังเดียว วันนี้ที่ว่างสร้างอาหารขยายไปจนทั่วหมู่บ้าน และกลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านป่าบุกถือปฏิบัติ และได้มีระบุไว้ในธรรมนูญของหมู่บ้านเป็นที่เรียบร้อย

“คนในชุมชนผ่านไปผ่านมาเห็น ก็มีมาขอบ้าง ซื้อบ้าง เพราะผักเราปลอดสารพิษอยู่แล้ว ที่สำคัญเรากินไม่หมด เลยแบ่งขาย แต่ทุกวันนี้ทุกบ้านปลูกทิ้งไว้ ไม่ต้องมาขอซื้อพี่อีกแล้ว” สายสุภาพกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ถึงแม้ว่าการปลูกผักแบบนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดลงเพียง 5-6 บาท แต่เมื่อคิดเป็นเดือนเป็นปีแล้ว ถือเป็นจำนวนเงินที่สามารถนำไปทำประโยชน์อื่นๆ ให้กับครอบครัวได้อีกมาก ที่สำคัญยังถือเป็นการดูแลสุขภาพด้วย เพราะอาหารคือยา

“พี่ทำตรงนี้ของพี่มา จนหมู่บ้านเริ่มรณรงค์ส่งเสริมการจัดการขยะ บ้านพี่จึงเป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะในครัวเรือน และการใช้พื้นที่ ส่วนผลลัพธ์ที่ได้ เราได้มากกว่าหนึ่งเรื่อง ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม จนวันนี้เชื่อมต่อไปถึงเรื่องของการศึกษา ทั้งเด็กและเยาวชน รวมไปถึงคนต่างชุมชนที่เข้ามาดูบ้านป่าบุกของเรา” สายสุภาพสรุป…