ศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษ

DSC_0822

เมื่อเราได้มีโอกาสมาบึงลาดโพธิ์ในวันแรกที่มาถึงตำบลโพรงมะเดื่อ เราได้เห็นอาคารหลังหนึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายสุดของพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ทำการของศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 1 สาขาอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ก็ทำให้เราอดที่จะสนใจไม่ได้ วันนั้นเลยเวลาทำการของศูนย์ฯ ไปแล้ว แต่อีกสองวันให้หลัง เรากลับมาใหม่ พร้อมกับคำถามที่มีอยู่ในใจ

เด็กพิเศษไม่ใช่ปัญหา หากแต่เป็นหน้าที่ที่สังคมต้องช่วยกันรับผิดชอบ ซึ่งในทุกประเทศมีเด็กกลุ่มนี้อยู่ เป็นที่มาให้มีองค์กรรองรับดูแล

ทิตยา บินฮายีอาลี ครูผู้สอนประจำศูนย์ฯ เล่าว่า แต่เดิมศูนย์การศึกษาพิเศษมีอยู่เฉพาะที่อำเภอไร่ขิงเท่านั้น ทำให้ไม่สะดวกเท่าไรนัก เช่นที่ บริเวณชานอำเภอเมือง อำเภอดอนตูม อำเภอบางเลน ทางสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ประสานเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณบึงลาดโพธิ์ เป็นที่ตั้งของศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษอีกแห่งหนึ่ง

“หน้าที่ของเราคือการเตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าโรงเรียนได้ โดยเด็กที่เราส่งไปมีทั้งโรงเรียนทั่วไป และโรงเรียนเฉพาะทาง ส่วนใหญ่ที่รับเข้ามาเป็นเด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี” ทิตยาเล่า

เด็กพิเศษที่มาเรียนที่ศูนย์ฯ มีหลากหลายลักษณะ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หรือเด็กดาวน์ มีไอคิวต่ำกว่า 70 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดทักษะการดำเนินชีวิต ดังนั้นทางศูนย์ฯ จะสอนตั้งแต่เรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวัน อย่างการติดกระดุม การกินข้าว การเข้าห้องน้ำ การเรียนขั้นพื้นฐาน อย่างการเขียน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก แล้วก็ยังมีเด็กที่เป็นออทิสติก กับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย

“เมื่อพ่อแม่พาเด็กมาสมัคร เราจะคัดกรองว่า จะให้เด็กเข้าไปส่วนไหน โดยเรามีแผนการสอนเฉพาะบุคคล และมีตารางสอนทั่วไปที่กำหนดเป็นพื้นฐาน เช่น วันจันทร์-พุธ มีกิจกรรมดนตรี กิจกรรมศิลปะ และกิจกรรมบูรณาการ พอทำกิจกรรมทั้งสามอย่างเสร็จก็เรียนแยกฝ่าย ส่วนวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ จะเป็นการสอนเดี่ยว นัดมาพิเศษ คนละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง” ทิตยาอธิบาย

ส่วนเด็กที่ไม่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมที่นี่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมโครงการต่างๆ ไว้ให้ เช่น โครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กพิการซ้ำซ้อน มีทั้งความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา ซึ่งมีอยู่ในข่ายนี้ประมาณ 65 คน

“สำหรับโครงการปรับบ้านฯ นี้ หลักๆ เราจะสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ทำแบบประเมินเด็กก่อน จากนั้นเราจะคิดแผนการเรียนการสอนว่า ในปีหนึ่งผู้ปกครองควรสอนอะไร อย่างเด็กพิการทางร่างกาย ทั้งเด็ก CP ซึ่งขาดออกซิเจนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ลักษณะความพิการคือแขนขาลีบ นอนอยู่กับเตียง ไม่สามารถขยับร่างกายได้ เวลาเราจัดการศึกษา ก็ต้องดูสภาพแวดล้อม ประเมินด้วยการตรวจร่างกาย ดูองศาการเคลื่อนไหว การเกร็งของกล้ามเนื้อ เพื่อดูความเหมาะสมว่าควรจะฝึกเขาอย่างไร โดยเราจะสอนผู้ปกครอง จากนั้นกลับไปทำบันทึก และจะมีใบสำหรับตรวจเช็คว่า ผู้ปกครองได้ทำหรือไม่ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูล ซึ่งในตารางการติดตาม เราจะลงไปที่บ้านเทอมละ 2 ครั้ง และการโทรศัพท์ติดตามอยู่ตลอด” ทิตยาเล่า

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งโครงการศูนย์การเรียน เพื่อขยายโอกาสในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากสำนักฯ ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะไปทำศูนย์การเรียนครบทุกอำเภอ ดังนั้นจึงได้ย่อศูนย์การเรียนให้เล็กลง และส่งครูพี่เลี้ยงไปประจำในแต่ละจุด ถ้าเด็กสามารถมาเรียนได้ ก็ให้มาเรียนกับครูพี่เลี้ยง โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักฯ เป็นผู้ติดตาม

อีกโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่อง คือธาราบำบัด ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษคิดค้นขึ้น เพื่อช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ โดยใช้กระแสน้ำในการออกกำลังกาย หรือกายภาพบำบัด

ปัจจุบันมีครูประจำการ 4 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1 คน พนักงาน 3 คน ส่วนครูพี่เลี้ยง ซึ่งจ้างประจำมีอยู่ด้วยกัน 5 คน ขณะที่มีเด็กลงทะเบียนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ราว 50 คน

ส่วนงบประมาณนั้นทางสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ จะเป็นผู้จัดสรรมาให้ ปีละ 40,000-50,000 บาท ซึ่งศูนย์ฯ จะนำลงไปทำแผนการทำงานในแต่ละปี ส่วนโครงการไหนที่งบประมาณไม่พอก็จะขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เช่น เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้างๆ ศูนย์ฯ ยังมีศูนย์ผลิตภัณฑ์เด็กพิเศษตั้งอยู่ด้วย เพราะที่สุดแล้ว เด็กหลายคนอาจไม่สามารถพัฒนาตนเองจนเข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วไปได้ ฉะนั้นแล้ว การสอนให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ เช่น งานประดิษฐ์ งานศิลปะ ฯลฯ ดูจะเป็นหนทางที่สดใสสำหรับพวกเขามากกว่า