กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.แว้ง

DSC_0427open-health

การจัดการสุขภาพที่ดีนั้นมิใช่หมายถึงโรงพยาบาลดี หมอเก่ง พยาบาลพร้อม อุปกรณ์ครบเท่านั้น หากแก่นของสุขภาพที่ดี คือการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือป้องกันความเจ็บป่วย ตลอดจนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง และคนรอบข้างอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่หลายคนเรียกว่า กองทุน สปสช. จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมกระจายไปทั่วทุกหมู่บ้าน

อาซือมิง เจ๊ะอุเซ็ง หัวหน้าส่วนสวัสดิการสังคม และเลขานุการกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.แว้ง เล่าว่า ทาง อบต.ได้เข้าร่วมโครงการของ สปสช. ตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากนายกฯ จุฑามณี เล็งเห็นว่าการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเป็นการดูแลสุขภาพโดยตัวประชาชนเอง ยิ่งทำให้เกิดการจัดการด้านสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่

ตามแผนการบริหารงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ กำหนดให้มีคณะกรรมการอย่างน้อย 15 คน มาจากหลากหลายภาคส่วน มีนายก อบต. เป็นประธานโดยตำแหน่ง ส่วนรองประธาน 2 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ คนหนึ่งเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดหมู่ที่ 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ส่วนอีกคนเป็นตัวแทนผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ส่วนกรรมการที่เหลือมาจากสมาชิกสภา อบต. 2 คน มาจากโรงพยาบาลแว้ง 1 คน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกรือซอ 1 คน ตัวแทน อสม. 3 คน ตัวแทนภาคประชาชน 4 คน เลขานุการอีก 1 คน โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลแว้ง และสาธารณสุขอำเภอแว้ง เป็นที่ปรึกษา

ทว่าในช่วงแรกของการดำเนินงานต้องยอมรับว่าผลงานยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรมมากนัก ด้วยมีงบประมาณเหลือค่อนข้างมาก กระทั่งปี 2555 ที่อาซือมิงย้ายเข้ามารับตำแหน่งนักพัฒนาชุมชนที่ อบต.แว้ง จึงขันอาสาเข้ามารับผิดชอบ ด้วยมีประสบการณ์ในการดูแลกองทุน สปสช. ในพื้นที่อื่นมาก่อน

“ตอนเข้ามาเป็นเพียงอนุกรรมการฯ พอได้รับไฟเขียวจากนายกฯ จึงเรียกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อตกลงกันให้ชัดว่า กรรมการชุดนี้มีหน้าที่อะไรบ้าง โดยให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ภายในพื้นที่ เพื่อดึงการมีส่วนร่วม เกิดโครงการใหม่ขึ้นมา 12 โครงการ ซึ่งมาจากสภาเด็กและเยาวชน มาจาก อสม. มาจากศูนย์พัฒนาครอบครัว มาจาก รพ.สต.” อาซือมิงเล่า

ทั้งนี้จะมีคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วยปลัด อบต. หัวหน้าส่วนการศึกษา หัวหน้าส่วนสวัสดิการสังคม นักพัฒนาชุมชน คอยประเมินโครงการว่า ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลแว้งเสนอโครงการมหกรรมสุขภาพ ใช้งบประมาณ 80,000 บาท ดำเนินการ 2 วัน ซึ่งไม่คุ้ม เพราะไม่ใช่กิจกรรมต่อเนื่อง กลั่นกรองแล้วไม่ผ่าน ต้องกลับไปแก้ใหม่ ตัดชื่อมหกรรมเพราะดูยิ่งใหญ่เกินไป พร้อมตัดงบเหลือ 60,000 บาท แต่กระนั้นคณะกรรมการก็ยังไม่อนุมัติ กระทั่งแก้เป็นกิจกรรมอบรมการดูแลสุขภาพในวัยผู้สูงอายุแทน ใช้งบประมาณ 40,000 บาท โครงการจึงได้ดำเนินการ

“อีกโครงการหนึ่งมาจากกลุ่มเด็กและเยาวชน ชื่อ ‘นิกะฮ์ยาก ซีนาง่าย’ แปลเป็นไทยหมายถึง ‘แต่งงานยาก แต่มีเพศสัมพันธ์ง่าย’ โดยสิ่งที่น้องๆ จะสื่อ คืออยากให้ผู้เข้ามาอบรมได้รู้ว่า จะมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ปลอดภัย เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถห้ามได้ แต่ทว่าโต๊ะอิหม่ามชี้ให้เห็นว่า ชื่อเป็นดาบสองคม จึงเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็น ‘เยาวชนวัยใส ใส่ใจสุขภาพ’ นอกจากจะเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลมาให้ความรู้เรื่องการป้องกัน โรคและการตั้งครรภ์ก่อนวัยแล้ว ยังเชิญคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสด้วย เพื่อให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตัว วางแผนชีวิต” เลขานุการกองทุนฯ ว่า

ปัจจุบันมีโครงการเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 15 โครงการ โดยทาง สปสช. ให้งบประมาณอุดหนุนหัวละ 45 บาท ส่วน อบต.สบทบเพิ่มให้อีกร้อยละ 50

สิ่งที่กองทุน สปสช. ให้ความสำคัญที่สุด คือความต่อเนื่องและการต่อยอดของโครงการ อย่างโครงการ ‘ผู้สูงอายุสุขภาพดี ห่างไกลโรค’ ดำเนินการต่อเนื่องทุกปี และพอจบโครงการก็ใช้เยาวชนทำหน้าที่เป็น อสม.น้อย คอยตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุอยู่เสมอ ทั้งเรื่องการกินยา การกายภาพบำบัด ฯลฯ

จากการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ในปี 2556 กองทุน สปสช. ของ อบต.แว้ง ได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล พร้อมส่งตัวแทน 2 คน ไปดูงานต่อยอดกองทุนที่จังหวัดชัยนาท

แผนการในอนาคต เลขานุการกองทุนฯ กล่าวว่า กำลังจะทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันปัญหาในระบบจัดซื้อ โดยจะดึงทุกภาคส่วนเข้ามาอบรมการเสนอโครงการ เพื่อแจ้งขั้นตอนกระบวนการ พร้อมทั้งแจ้งอุปสรรคต่างๆ ทำเป็นแผนต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อสร้างทิศทางการทำงานที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้างสุขภาวะของคนตำบลแว้งให้ดีขึ้นครบทุกด้าน