ตามตำนานของคนมลายู เวลาที่บรรดานักปราชญ์หรือโต๊ะครูจะเผยแพร่คำสอนศาสนา พวกเขาจะล้อมวงและถ่ายทอดบทกวีหรือสะอิร เป็นท่วงทำนองหรือเสียงดนตรี นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ฮาลากัต’ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันในกลุ่มชาวมุสลิมในพื้นที่เอเชียอาคเนย์
ซาห์รี มาหะ ผู้จัดการกลุ่มศรีฮาลากัต ญาบะ และ มะรอดี บาตู อดีตรองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส ร่วมกันฉายภาพกิจกรรมของกลุ่มว่า ปัจจุบันมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้หลายๆ อย่างผิดแปลกไป ทางมุขมนตรีของรัฐกลันตันในเวลานั้น ซึ่งถือเป็นนักปราชญ์ด้านวัฒนธรรมคนสำคัญนามว่า นิอับดุลอาซิส เจ๊ะมะ จึงเห็นควรให้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมขึ้น
พอปี 2556 เมื่อซาร์รีเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลรือเสาะ ก็ได้ประสานกับทางรัฐกลันตันเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกันที่ตำบลรือเสาะในงานฮิจเราะห์ศักราช 1435 ซึ่งท่านก็แนะนำมาว่าชุมชนกำปงยะบะ หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะ น่าจะเป็นเครือข่ายของเขาได้ ซึ่งทางกลุ่มนี้ก็ยินดีและเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มศรีฮาลากัต รัฐกลันตัน เพื่อซึมซับแนวทางในการถ่ายทอดวัฒนธรรม เพราะที่นั่นจะมีกฎกติกามากมาย เช่น การแต่งกายต้องเป็นวัฒนธรรมของมุสลิมมลายู หรือแนวร้องก็ต้องเน้นไปที่การชักชวนให้ผู้คนประพฤติตัวตามหลักศีลธรรมคุณธรรม ไม่นำไปสู่อบายมุข หรือทำให้เกิดความรู้สึกทางอารมณ์
“เนื้อหาที่เราร้องส่วนใหญ่จะเป็นบทกลอนที่เขาแต่งมาแล้ว แต่ว่าเวลานี้เรากำลังสรรหาคนที่มีไอเดียในการเขียนบทกลอนมา เพื่อจะได้ประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้สอดรับกับบทบัญญัติทางศาสนา” ซาร์รีอธิบาย
ปัจจุบันกลุ่มศรีฮาลากัต ญาบะ มีสมาชิก 24 คน เป็นเยาวชน 18 คน และรวบรวมศิลปะการแสดงของชาวมุสลิมเอาไว้เป็นกลุ่มหลักๆ 4 ประเภทด้วยกันคือ 1) วงอนาซีดวานิตา หรือวงอนาซีดของผู้หญิง ปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ร้องแบบอะแคปเปลลา แต่ในสมัยใหม่เริ่มมีการนำทำนองจากแผ่นซีดีมาเปิดร่วมด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศการรับชมให้สนุกมากขึ้น 2) ปัญจักสีลัต หรือศิลปะการต่อสู้แบบโบราณของคนมุสลิม 3) วงกุมปัง เป็นวงผู้ชายที่ขับร้องเพลงโดยใช้กลองกุมปังเป็นตัวกำกับจังหวะ ซึ่งแท้ที่จริงกุมปังเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากเปอร์เซีย ปัจจุบันที่นี่มีอยู่ 2 วง คือ วง Sang Suria และวงศรีสาคร 4) ดีเกฮูลู ฮาลากัต ซึ่งการร้องจะเริ่มต้นที่การสรรเสริญพระเจ้า แล้วเข้าสู่เนื้อร้องที่ต้องการจะเล่า ก่อนจะสรุปปิดท้ายด้วยการขอบคุณ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการด้นสด
“การแสดงหลายอย่างของเราค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ ปัญจักสีลัตนี่ชัดเจน อย่างของที่ปัตตานีจะเป็นปัญจักสีลัตฮารีเมา แต่ของเราจะเป็นแบบนักต่อสู้ของมะละกา ชื่อฮังตูวาห์ เรียกว่าปัญจักสีลัตฮังตัวห์ โดยฮังตูวาห์นี้เป็นองครักษ์ของพระราชาสมัยก่อน เขามีสหายอยู่ 4 คน คือฮังเยอบัร, ฮังกัซตูรี, ฮังลีกิร และฮังลิกู แต่ว่าฮังตูวาห์นี้โด่งดังที่สุด เพราะสมัยนั้นพระราชาได้ส่งองครักษ์ไปปกป้องบ้านเมือง แต่ช่วงนั้นภรรยาฮังตูวาห์ถูกกล่าวหาว่ามีชู้ เลยถูกลงโทษ พอกลับมาแล้วฮังตูวาห์ถูกใส่ความว่าเป็นกบฏต่อกษัตริย์ ต้องถูกจับ เพื่อนสหายของเขา ซึ่งได้ชื่อว่าจงรักภักดีต่อกษัตริย์ตามล่าฮังตูวาห์ เกิดการต่อสู้ระหว่างความจงรักภักดีกับความยุติธรรม แต่ฮังตูวาห์เป็นคนเก่ง ปราบยาก ซึ่งท้ายที่สุดเจ้าตัวได้ให้กริชศักดิ์สิทธิ์กับสหาย เพื่อนำมาแทงตัว เรื่องราวกลายเป็นตำนาน และจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ฮังตูวาห์ก็เคยมาที่ปัตตานี ยังมีบ่อน้ำของเขาเป็นหลักฐาน” ซาร์รีเล่าตำนาน
ทุกวันนี้กลุ่มศรีฮาลากัต ญาบะ จะรวมกันซ้อมทุกเย็น ด้วยเพราะได้รับเชิญให้ไปแสดงในพื้นที่ต่างๆ ค่อนข้างถี่ เดือนหนึ่งประมาณ 4-5 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงโรงเรียนปิดเทอมและมีงานเกี่ยวกับตาดีกาเยอะ โดยหลักๆ กิจกรรมที่รับเชิญจะเป็นกลุ่มดีเกฮูลู อนาซีด และกุมปัง ส่วนปัญจักสีลัตจะเล่นในงานใหญ่เป็นหลัก เช่น งาน 75 ปี ปอเนาะบ้านตาล ของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
“เวลาไปแสดงทีหนึ่ง หากเป็นงานการกุศล เจ้าภาพให้ค่าที่พัก ค่าน้ำมัน ค่าอาหารก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่งานการกุศล เจ้าภาพจะมีค่าตอบแทนให้คนละ 100-200 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว โดยเก็บเป็นเงินกองกลางเข้ากลุ่ม ซึ่งทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาสก็ให้การสนับสนุนด้วย เงินตรงนี้เราใช้พัฒนากลุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน ซึ่งเรามีแผนจะไปแสดงที่กัมพูชาร่วมกับทางกลุ่มศรีฮาลากัตของรัฐกลันตันด้วย” ผู้จัดการกลุ่มกล่าวปิดท้าย…