สวนหลังบ้าน ลุงบุญยศ

DSC_0635

ตรงข้ามกับหมู่บ้านเมืองปอน ฝั่งนี้ภูมิประเทศเป็นเทือกเขา ดินแห้งแข็ง ขาดน้ำ หลายจุดยังเป็นหินอยู่เลย แต่ถึงกระนั้น เราก็ได้เห็นรอยยิ้มผลิพรายบนใบหน้าของ ร้อยตรีบุญยศ ผอนวล ข้าราชการทหารผู้ออกราชการก่อนกำหนดมาตั้งแต่ปี 2555 แล้วหันมาเป็นเกษตรกร

เขานำเราขึ้นไปยังยอดดอย ที่ซึ่งเคยปลูกข้าวโพด แต่เวลานี้ถอนออกหมดแล้ว เราเห็นทิวทัศน์ของบ้านเมืองปอนจากข้างบนนี้ ดูสวยงาม สมถะอยู่กลางสายแดด

พื้นที่ส่วนหนึ่งข้างล่างนั้น ลุงบุญยศปรับแล้ว ปลูกพืชนานาชนิด โดยหลักเป็นมะนาว และมีพืชสวนครัวอย่างชะอม ไม้ผลอย่างมะละกอ ขนุน ฝรั่ง ละมุด

“คนเป็นทหารมาก่อน ออกกำลังกายตลอด พอออกราชการมา ก็อยากหาอะไรทำยามว่าง เผอิญว่าภรรยาผมมีที่ดินอยู่ตรงนี้ไร่กว่าๆ เลยตัดสินใจปลูกผักกินเอง” ลุงบุญยศว่า

ลุงบุญยศไม่คิดถึงรายได้ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข จึงไม่ร้อนรนไปพึ่งพาสารเคมีให้สิ้นเปลือง ลองผิดลองถูกไปตามประสา ทำทุกอย่างตามใจ ด้วยรักชอบทางนี้ตั้งแต่สมัยเป็นทหารพราน คลุกคลีกับชาวบ้าน แต่ทำไปทำมา พื้นที่เริ่มใหญ่ขึ้น เมื่อน้องชายของภรรยายกที่ดินของตัวเองที่อยู่ติดกันให้ รวมกลายเป็นที่ดินผืนใหญ่กว่า 20 ไร่

“ที่ของน้องชาย เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมอยู่บนเขา ผมเลยขยายพื้นที่ปลูกมะนาวเพิ่ม แล้วทำบ่อเก็บน้ำ โดยดึงน้ำจากลำห้วยข้างล่างขึ้นมา ใช้เวลาอยู่เป็นปี ถึงจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ โดยเราตั้งใจให้มะนาวออกฤดู ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่มะนาวขาดตลาด เก็บไปขายตลาดในหมู่บ้านบ้าง ที่ตลาดในอำเภอขุนยวมบ้าง แล้วก็มีฝากไปกับเกษตรอำเภอ ตามเครือข่ายเกษตรอินทรีย์” ลุงบุญยศเล่า

อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มปลูกเพื่อจำหน่าย สิ่งที่ลุงบุญยศต้องทำ คือการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด ฉะนั้นแนวทางบางอย่างที่ตั้งใจ จำต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ อย่างความตั้งใจที่จะทำสวนอินทรีย์ทั้งหมด ก็เริ่มเป็นไปได้ยากขึ้น มะนาวที่ปลูกเป็นโรคแคงเกอร์ ทำให้ผิวมะนาวขรุขระคล้ายขี้กลาก ขายไม่ได้ ต้องถอนทิ้งทั้งต้น จำต้องพ่นยาป้องกันโรคแคงเกอร์ และหนอนไชใบ

ปัจจุบันสวนหลังบ้านของลุงบุญยศ ขยายอาณาเขตเกือบครบ 20 ไร่ และไม่นานมานี้ พี่ชายภรรยาซึ่งเคยเป็นเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด ก็ยกที่ดินให้อีก เพราะป่วยทำไม่ไหว ซึ่งที่ดินใหม่นี้อยู่บนยอดดอย ต้องใช้เวลาปรับปรุง เนื่องจากมีสารเคมีสะสมค่อนข้างมาก เลยตัดต้นข้าวโพด ตัดหญ้ามากองทิ้งไว้ เพื่อให้ดินได้ฟื้นฟูตัวเอง คาดว่าภายในสองปี ดินน่าจะกลับมาสู่สภาพเดิม

นอกจากการปลูกพืชแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ลุงบุญยศภาคภูมิใจ คือการรวมกลุ่มเพื่อนเกษตรกรกว่า 30 คน ผลิตสารชีวภัณฑ์ใช้กันเอง รวมทั้งยังเป็นที่ทำการของ ‘ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ตำบลเมืองปอน’ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสังเกต และแจ้งข่าวการระบาดของแมลงศัตรูพืชแก่เกษตรอำเภอขุนยวม เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันและจัดการได้ทันท่วงที

“เกษตรอำเภอเอาสปอร์แห้งของเชื้อบาซิลลัสมาให้ศึกษา เพราะเชื้อตัวนี้มีสรรพคุณในการกำจัดเชื้อรา โรครากเน่า ซึ่งเชื้อพวกนี้เป็นสารอินทรีย์ไม่มีอันตราย เวลาพ่นไม่ต้องปิดปากปิดจมูก เป็นของจากธรรมชาติ” ลุงบุญยศกล่าวทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี…