กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 7

DSC_0721

ภายในรั้วบ้านของสมาชิกบ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ 7 ส่วนมากนั้นมีพื้นที่สีเขียว เป็นพืชผักสวนครัว ที่กลายเป็นความโดดเด่นของบ้านหมู่ที่ 7 จนใครต่อใครพากันมาขอความรู้ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านของ รำเพย ลีลาลาด ประธานกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 7 ที่รอคอยถ่ายทอดแง่มุมที่น่าสนใจให้กับใครก็ตามที่ผ่านมาเยี่ยมเยือน

เมื่อปี 2551 รำเพยได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรมเศรษฐกิจพอเพียงกับ พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย แห่งวัดป่านาคำ พร้อมกับเครือข่ายชาวบ้านในตำบลเหล่าใหญ่เป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ที่แห่งนั้น ได้สอนให้ชาวบ้านเห็นถึงวิธีการปลูกพืช ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม

“เริ่มต้นให้ปลูกต้นกล้วยเป็นพี่เลี้ยง เพราะกล้วยเป็นพืชอมน้ำ สามารถให้ผลได้ตลอดทั้งปี โดยแต่ละต้นให้ปลูกห่างกัน 2 เมตร ส่วนช่องว่างนั้นก็ให้ปลูกผักกาด พริก มะเขือ หรือที่ท่านนิยามว่าเป็นพืชปัญญาอ่อน เพราะต้องดูแลตลอดทั้งปี” รำเพยว่า

เมื่อกลับมาถึงบ้าน รำเพยก็เริ่มงานของตนทันที ด้วยการพัฒนาแปลงของตัวเอง จากแต่ก่อนที่ปลูกแต่หญ้า สำหรับเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ก็หันมาขุดหลุมปลูกกล้วย ประมาณ 100 หลุม และในแปลงนี้ ลงพืชหลากหลายอย่าง ทั้งไม้แดง ไม้ยางนา ไม้ประดู่ ไม้ประยูง ไม้สักทอง ผักหวาน มะเขือ ข่า ตะไคร้ ซึ่งแม้จะไม่ใช่สูตรเดียวกับพระมหาสุภาพ แต่เป็นการประยุกต์ตามประสบการณ์ โดยเชื่อว่าเป็นการเลียนแบบวิถีธรรมชาติ

“ตอนแรกพ่อไม่เห็นด้วย คือเขาเคยอยู่กรุงเทพฯ เลยมองว่าจะทำไปทำไม ซื้อเอาก็ได้ บางทีวัวมากินต้นกล้วยที่ปลูก แต่เราเห็นว่านี่เป็นการลดรายจ่าย คือเรากินเองเป็นหลัก ที่เหลือก็แบ่งให้เพื่อนบ้านได้กิน แบ่งขายบ้าง ยิ่งพวกพืชปัญญาอ่อนอย่าง พริก มะเขือ ผักกาด ผักหอม มันโตเร็ว เลี้ยงได้ไม่นานก็กินได้แล้ว” แม่รำเพยกล่าวถึงช่วงแรกของการเริ่มทำ ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงคัดค้าน แต่ผลผลิตที่โตวันโตคืนก็พิสูจน์ให้เห็นว่า การตัดสินใจในวันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สูญเปล่า

กระทั่งในปี 2552 ทางเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่มีความคิดอยากให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง จึงมอบหน้าที่ให้กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมมาช่วยจัดการ โดยเริ่มต้นสนับสนุนการทำปุ๋ย มีการแจกถังน้ำหมัก กากน้ำตาล ต่อมาส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงหมู โดยแบ่งให้พื้นที่ละ 2 ตัว โดยในครั้งนั้นมีสมาชิกรวมกันได้ 75 คน และในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันนับเป็น 6 พื้นที่ 12 หมู่บ้าน จะมีตัวแทนพื้นที่ละ 2 คน ทำหน้าที่เป็นประธานและรองประธาน คอยประสานกันไปมาระหว่างกลุ่ม ขณะเดียวกันทางเทศบาลก็มีการเชิญวิทยากรเข้ามาอบรม ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์สุภาพ และอาจารย์สมภาร วิเศษศรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องทำปุ๋ย

แต่ละปีจะมีการประชุม 1 ครั้งเพื่อติดตามความคืบหน้าของสมาชิกว่าสร้างผลงานไปถึงไหนแล้ว รวมไปถึงมีการแนะนำตลาดที่สมาชิกสามารถนำสินค้าไปวางขายได้ เช่นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กุฉินารายณ์ จะมีตลาดสุขภาพทุกเช้าวันศุกร์ ใครสนใจก็ไปสมัครได้ โดยทีมไม้เลื้อย ซึ่งเป็นทีมสหวิชาชีพที่นั่นจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยของแปลงผักที่ปลูก

ปัจจุบันกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 80 ครัวเรือนแล้ว และมีโครงการต่อยอดอีกหลายกิจกรรม เช่น โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ของผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งให้ชาวบ้านเขียนโครงการเสนอว่าจะทำอะไรในแต่ละแปลง เพื่อจะมีรายได้ 100,000 บาท ซึ่งแม้รำเพยจะเสนอโครงการไม่ผ่าน แต่จากความพยายามคิด และทดลองทำ ก็ทำให้พื้นที่เกษตรของรำเพยมีความหลากหลาย ทั้งที่นา ทั้งสวนยาง สวนผลไม้ บ่อเลี้ยงปลา เล้าหมู เล้าไก่ ที่สำคัญกรมพัฒนาที่ดินยังมีโครงการจะทำศาลาหมอดินในพื้นที่นี้ด้วย เพื่อกระจายความรู้เรื่องดินออกไปในวงกว้าง