บทบาท อปท.เพื่อผู้สูงอายุ เน้นสวัสดิการ-บริการสุขภาพพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืน

         ประเทศไทยได้ก้าวสู่ “สังคมสูงอายุ” (Aged society) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete-aged society) โดยมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 19 ของประชากรทั้งประเทศไปแล้ว และภายในปี พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super-aged society) โดยมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ

นอกจากนี้ข้อมูลรายงานการประมาณการประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานต่อคณะรัฐมนตรี คือ อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และจะลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คนในปี 2583

         จากรายงานข้อมูลตำบลโดยการสำรวจ ปี 2566 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 2,834 ตำบล 3.5 ล้านครอบครัว ประชากร 10.6 ล้านคน สัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็น 1ใน 4 ของประชากรในเครือข่ายฯ ทั้งหมด มากกว่าครึ่งยังอยู่ด้วยกันกับคู่สมรส ซึ่งที่เป็นผู้สูงอายุด้วยกัน มากกว่าร้อยละ 80 ยังสามารถประกอบอาชีพหลักและมีรายได้ มีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพมากที่สุด คือการไม่ออกกำลังกาย ดื่มสุราเป็นประจำ และไม่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ตามลำดับ โดย 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีการเจ็บป่วยเรื้อรังมากที่สุดเป็นโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาเป็นโรคติดเชื้อ (วัณโรค) โรคเบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง กลุ่มโรคกระดูก กล้ามเนื้อและข้อ ตามลำดับ ในด้านที่อยู่อาศัยยังพบสภาพที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยง เช่น บ้านใต้ถุนสูง ไม่มั่นคง แข็งแรง สภาพภายใน ภายนอกชำรุดหรือมีความเสี่ยง ต้องการการแก้ไขปัญหาและปรับสภาพบ้านและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นต้น

         และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ทางสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 55 พื้นที่ ร่วมกันเจาะลึกจากรูปธรรมเกี่ยวกับช่องว่าง จุดคานงัด ของการนำนโยบาย ระเบียบ ประกาศ ของรัฐไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาหรือเงื่อนไข ที่ทำให้การปฏิบัติตามนโยบายมีข้อจำกัด มาสังเคราะห์เป็นข้อเสนอสำหรับหน่วยงานรัฐระดับต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรชุมชนและภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งสรุปได้ 3 กลุ่มงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ดังนี้

 (1) กลุ่มสวัสดิการสังคมโดยรัฐและบริการสาธารณะต่างๆ
         การจัดสวัสดิการสังคมโดยภาครัฐ ดำเนินการตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 ที่ผู้สูงอายุ (หกสิบปีขึ้นไป) มีความต้องการและจำเป็นต้องได้สวัสดิการสังคมโดยรัฐ เช่น ที่อยู่อาศัย อาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับศักยภาพ เป็นต้น ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำเป็นต้องปรับบทบาทและกำหนดโครงสร้างงาน ควรจัดให้มี “ศูนย์จัดสวัสดิการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)” มีการประสาน-ค้นหา-จัดหา-จัดให้-ให้คำปรึกษา-แนะนำ เพื่อการช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสวัสดิการสังคม (อย่างน้อยตามสิทธิพึงได้รับ 13 ประการตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ)

            สำหรับแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุให้รอบด้าน เช่น ยากจน อยู่คนเดียว ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง หรือไม่เหมาะกับภาวะสุขภาพ เจ็บป่วยติดเตียง มีความพิการ หรือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ยังแข็งแรงและต้องการทำงานมีรายได้ เป็นต้น จากนั้น ควรสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมในช่องทางต่างๆ และจัดทำแนวทางการติดต่อหรือประสานการดูแลช่วยเหลือตามความจำเป็น รวมทั้งจัดการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากสวัสดิการที่ได้รับ เช่น การปรับ ซ่อม สร้างที่อยู่อาศัยในส่วนแรงงาน วัสดุอุปกรณ์ เพื่อความสมบูรณ์ใช้ประโยชน์ เป็นต้น

            ด้วยเหตุนี้ งานหลักๆ ที่อปท.ควรดำเนินการด้านการจัดสวัสดิการและบริการสาธารณะต่างๆ อาทิ เบี้ยยังชีพ  ก้าวหน้า-ทั่วถึง-ถ้วนหน้า, การสังเคราะห์ศพ, การจัดสวัสดิการโดยภาครัฐ, โรงเรียนผู้สูงอายุหรือศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ, การจัดทำแผนผู้สูงอายุแบบบูรณาการ และการใช้ข้อมูลประกอบการบริการผู้สูงอายุ

 (2) กลุ่มการบริการสุขภาพ

            คนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาและความจำเป็นต้องการการฟื้นฟูสมรรถภาพเฉพาะ ทั้งที่อยู่ในภาวะปกติหรือภาวะเรื้อรังหลังการเจ็บป่วย บางคนมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ คนเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในการบริการสาธารณะอื่น

            โดยระบุว่า

1) ผู้สูงอายุต้องการการฟื้นฟูในภาวะปกติ หากไม่ได้รับการฟื้นฟูที่เหมาะสมต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสื่อม ภาวะถดถอย มีความเครียด เข้าสู่การเจ็บป่วย ทุพพลภาพเร็วขึ้น 

2) ผู้สูงอายุระยะหลังเจ็บป่วย นอนโรงพยาบาล หรือประสบเหตุวิกฤติ ฉุกเฉิน ได้รับการฟื้นฟูไม่ต่อเนื่อง ฟื้นหายช้า อาจพิการ มีความทุพพลภาพ เกิดปัญหาสุขภาพจิต และเป็นภาระของครอบครัวในการช่วยเหลือและดูแล

3) ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านที่ไม่มั่นคง เสี่ยงอุบัติเหตุ หรือภาวะฉุกเฉิน

นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ทั้งบริการสุขภาพ การปรับสภาพแวดล้อม และ บริหารงบกองทุน เป็นต้น ต้องมีการพัฒนาระบบข้อมูลที่สามารถเชื่อมกับหน่วยรับ-ส่งต่อผู้ป่วยและผู้สูงอายุในยามฉุกเฉินได้

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการดูแลระยะยาว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพของศูนย์บริการผู้สูงอายุแบบครบวงจร สนับสนุนการจัดหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) จัดให้มีบริการสุขภาพที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บป่วยซับซ้อน มีการบริการรักษาต่อเนื่องผู้สูงอายุที่มีโรคและเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมถึงการเพิ่มทักษะผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและครอบครัว

อปท.จึงควรดำเนินการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุในชุมชน, การส่งเสริมกิจกรรมเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ, การบริการกรณีฉุกเฉินและวิกฤติ, การดูแลระยะยาว, การจัดบริการสุขภาพที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุ, การบริการรักษาต่อเนื่องผู้สูงอายุที่มีโรคและเจ็บป่วยเรื้อรัง และการเพิ่มทักษะผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและครอบครัว

 (3) กลุ่มสวัสดิการสังคมและจิตอาสาโดยชุมชนและทุนทางสังคมอื่น

         สถานการณ์ปัญหาของผู้สูงอายุในปัจจุบัน คือความยากจน ไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตหรือเจ็บป่วย บางคนขาดศักยภาพในการรักษาสภาพการเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน หรือกองทุนสวัสดิการชุมชน ขณะเดียวกันกลุ่ม องค์กร และชุมชน ก็ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรในชุมชนเพื่อเป็นสวัสดิการ ดูแลได้ 

            องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีหน้าที่โดยตรงในการจัดสวัสดิการต่างๆ เพื่อผู้สูงอายุ เริ่มตั้งแต่ค้นหาและพัฒนาข้อมูลผู้สูงอายุ เพื่อนำมาวางแผนช่วยเหลือ รวมทั้งสนับสนุน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรสวัสดิการชุมชนต่างๆ พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับกลุ่ม กองทุน องค์กร/สถาบันการเงินในชุมชน ในการประสานการจัดสวัสดิการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ พร้อมกันนั้น อปท.ยังต้องสนับสนุนกิจกรรมและการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในรูปแบบชมรมผู้สูงอายุด้วย

            นอกจากนี้ อปท. จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กายอุปกรณ์หรือระบบสนับสนุนกายอุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับผู้สูงอายุที่มีความต้องการและจำเป็น ให้หยิบยืมไปใช้ พร้อมกับการจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน และให้การสนับสนุนชมรมผู้สูงอายุและกิจกรรมการช่วยเหลือกัน