ฟาร์มปลาตาหนุ่ย

DSC_0407

จากบ้านของเฮียตี๋ผู้เลี้ยงปลาสวยงาม เดินหน้าสู่ชุมชนเกาะส้มเสี้ยว หมู่ที่ 1 ตำบลหนองดินแดง เพื่อมาพบกับ ธนพล มีตังค์ เกษตรกรหัวก้าวหน้า ผู้ไม่นิยมระบบทุนนิยมผูกขาด จึงเลือกที่จะก้าวเดินด้วยลำแข้งของตัวเอง ในการผลิตปลาคุณภาพ

“ตอนแรกผมทำปลาสวยงามในช่วงปี 2523 แต่พอปี 2528 เกิดความคิดขึ้นมาว่าปลาสวยงามเป็นของฟุ่มเฟือย เราน่าจะทำปลาที่กินได้ดีกว่า และเป็นปลาที่กินได้ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน จึงเริ่มเลี้ยงปลาสำหรับบริโภคเพิ่มเข้ามา กระทั่งปี 2532 ก็หันมาทำปลาบริโภคเต็มตัว เลิกเลี้ยงปลาสวยงาม” ธนพลเกริ่นให้ฟัง

เริ่มแรกธนพลติดต่อไปยังสำนักงานประมงจังหวัด ได้พันธุ์ปลาตะเพียนมา 2,000 ตัว พอเลี้ยงและขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนเพาะปลาพันธุ์อื่นๆ สนใจอยากจะขอซื้อพันธุ์ไปเลี้ยงบ้าง แต่เขาไม่ขาย ใช้วิธีแลกเปลี่ยนพันธุ์ปลาแทน ทำให้ได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็นจำนวนมาก จนเริ่มมีทั้งปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ปลาจีน ปลาสวาย ปลาดุก และปลาจาระเม็ด

“ตอนนั้นผมไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาเลย แต่โชคดีที่สมัยก่อนเป็นคนหาปลาเก่ง ทั้งวางเบ็ด หว่านแห หรือกระทั่งจับด้วยมือเปล่า ก็มักได้ปลามาวางตลาดเสมอ พอชอบมากๆ ก็เลยเริ่มสังเกตด้วยตัวเองว่า ปลาวางไข่อย่างไร ไปดูที่รัง ตรงไหนมีปลา ตรงไหนไม่มีปลา ถ้าตรงนี้มีขี้ปลา แสดงว่ามีแน่ วางเบ็ดได้เลย พอตอนหลังมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น แล้วก็มีการเปิดอบรมปลานิลแปลงเพศของ รศ.ดร.วราห์ เทพาหุดี ที่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2549 ตอนนั้นจัดเป็นรุ่นสุดท้าย ก็เลยสมัครเข้าไป อบรมอยู่ 3 วัน พอวันสุดท้ายก็มีผู้จัดการจาก ธ.ก.ส. มาเสนอเงินกู้ แต่ผมไม่ได้กู้”

จุดเด่นของการแปลงเพศปลานิล ก็เพราะว่าเพศผู้จะโตไวกว่าเพศเมีย เนื่องจากตัวเมียจะใช้เวลาไปกับการสร้างไข่ และตามธรรมชาติมีเพศเมียเยอะกว่าเพศผู้มาก ฉะนั้นเพื่อให้ได้เพศผู้มากขึ้น ธนพลจะนำฮอร์โมนไปผสมกับอาหารผง ให้กิน 21 วันต่อเนื่องกัน รังไข่จะหายไป โดยต้องให้ตั้งแต่แรกเกิด พอเลี้ยงจนได้ขนาดเท่าใบมะขาม ก็จะเริ่มเปิดให้สั่งซื้อ จากนั้นเลี้ยงอีกประมาณ 1 เดือน ได้ปลาขนาดใบแค จึงส่งขาย

นอกจากนี้ ธนพลยังเริ่มวิจัย พัฒนา และปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ปลาที่ตรงกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันเพื่อให้การลองผิดลองถูกได้รับการรับรองด้วยงานวิชาการ จึงปรึกษากับผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต่อมาได้ไปทดสอบในห้องปฏิบัติการของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการตรวจสอบขั้นตอนอย่างละเอียด จนได้มาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี

“สิ่งที่เราคิดไปสอดคล้องกับเขาพอดี วิธีการของเราก็คือการทำสายพันธุ์ เลือกเอาเฉพาะที่โดดเด่น ลูกชุดหนึ่งมี 3,000 ตัว แต่ที่โดดเด่น คือลักษณะสีสดสวย ไม่คด ไม่งอ ลำตัวใหญ่ มีไม่เกิน 100 ตัว จากนั้นก็ผสมกันต่างหาก รุ่นหนึ่งทำอยู่ 18 เดือน ทำอยู่ 3 รุ่น ระหว่างนั้นก็คัดอยู่เรื่อยๆ จนได้สายพันธุ์ที่เราต้องการ สันหนา โตไว ทนทานต่อสิ่งแวดล้อม ผมใช้ตรงนี้เป็นตัวชี้วัด ถ้าเกษตรกรที่ซื้อไปประสบความสำเร็จ ตรงนี้ผมพอใจแล้ว”

ปัจจุบันธนพลเลี้ยงปลานิลเป็นหลัก เพราะเป็นปลาเศรษฐกิจที่ส่งออกทั้งในและนอกประเทศ แต่เป็นธรรมดาเมื่อธุรกิจเติบโตก็เริ่มมีทุนใหญ่สนใจ แต่ต้องแลกด้วยการเซ็นสัญญา และธนาคารยินดีมอบสินเชื่อทันที แต่มีข้อแม้ คือไม่มีสิทธิ์จำหน่ายให้เกษตรกรรายย่อย ต้องส่งบริษัทใหญ่เจ้าเดียว เขาจึงปฏิเสธ

“ตอนนี้คล้ายว่าเราสู้กัน แต่ผมได้เปรียบตรงที่ผมเป็นองค์กรเล็ก ผมทำเอง ผมยอมเล็บดำ ไม่มีคำสั่ง สู้ด้วยคุณภาพ ถ้าเห็นปลาผม ชาวบ้านนึกออกเลย ปลาฟาร์มตาหนุ่ย เอาตัวเองเป็นจุดขาย ผลคือเราอยู่ได้ การตลาดของเราไม่ได้พูดเก่งอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เก่งด้วย ทุกวันนี้ผมเน้นการขายส่ง 100 ตัวขนาดใบแค ราคา 30 บาท บริษัทใหญ่ๆ ขาย 40-45 บาท เราขายราคาตามเหมาะสม เพราะอยากช่วยเกษตรกรลดต้นทุน”

ความแตกต่างอีกอย่างคือ ฟาร์มปลาตาหนุ่ยเป็นฟาร์มชีวภาพ แม้วันนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะน้ำที่เอาไปใช้ยังมีคลอรีนหรือสารเคมีบางตัวอยู่ แต่อนาคตจะพัฒนาสู่การเป็นอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างเวลานี้ ที่ฟาร์มใช้น้ำหมักเป็นเครื่องมือในการเลี้ยง ทำให้มั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัย และเรื่องรสชาติของปลา

ลูกค้าหลักเวลานี้มาจากภาคกลางทุกจังหวัด คนไหนจะสั่งต้องจองล่วงหน้า 1 เดือน เพราะธนพลทำตามกำลังและทุนที่มีอยู่ 28 ไร่ 18 บ่อ ผลิตได้เดือนหนึ่งประมาณ 700,000-800,000 ตัว แต่อนาคตจะพัฒนาให้สามารถรับยอดซื้อได้เกิน 1,000,000 ตัว เพราะถือว่าการพัฒนาเป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้

“เครือข่ายเรามีอยู่ ผมถือหลักไว้ใจทุกคน โดยเครือข่ายก็จะเป็นคนที่รับปลาไปเลี้ยงบ้างไปขายบ้าง ซึ่งผมไม่เอากำไรเขามาก บางทีผมเอาปลาไปปล่อยให้เขาฟรีๆ โดยเฉพาะเขื่อนที่ในหลวงทรงสร้าง เพราะปลานิลเป็นปลาที่ในหลวงทรงนำเข้ามา”

แม้รายได้ของฟาร์มปลาที่นี่จะไม่ได้สร้างความร่ำรวยแก่เจ้าของ หากเพียงแค่พออยู่พอกิน เขาก็พอใจแล้ว เพราะสิ่งที่ตอบแทนกลับมานั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มของเกษตรกร ผู้บริโภค รวมทั้งความสุขที่ได้เป็นผู้ส่งมอบสิ่งดีๆ คืนสู่สังคม

ก่อนจากมา เราแวบไปเห็นชั้นวางกระบองเพชรจิ๋วมากมายเรียงรายรับแดดอยู่ “งานอดิเรกของผม” เจ้าบ้านว่าเช่นนั้น