การเข้าถึงพระคัมภีร์อัลกุรอานถือเป็นภารกิจสำคัญที่ชาวมุสลิมทุกคนพึงปฏิบัติ แต่อุปสรรคอย่างหนึ่งที่เป็นสิ่งกีดขวางสำคัญ คือภาษาที่ไม่คุ้นเคย ด้วยเหตุนี้ นัซรีน มอสาแม ข้าราชการครูจากโรงเรียนบ้านบลูกาสนอ จึงเปิดสอนการอ่านพระคัมภีร์ที่บ้าน เพื่อสอนการอ่านภาษาอาหรับให้แก่เยาวชน และชาวบ้านที่อ่านตัวอักษรไม่เป็น
การสอนอ่านภาษาอาหรับแบบดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ‘บัฆดาดียะห์’ ซึ่งเป็นระบบจากประเทศอิรักนั้นเรียนยาก เพราะใช้วิธีอ่านแบบสะกดคำ หรืออ่านตามปากของครูผู้สอน ซึ่งครูส่วนมากก็จะอ่านจากพระคัมภีร์ไปเลย ผลก็คือผู้เรียนส่วนใหญ่มีปัญหา เพราะไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนมาแล้วได้ เพราะไม่รู้จักพยัญชนะ อธิบายๆ ง่ายคือ เรียนข้างหน้า ลืมข้างหลัง ด้วยเหตุนี้ ครูจึงต้องหาวิธีการอ่านที่แตกต่างออกไป ซึ่งวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ การอ่านแบบกีรออาตี ที่มีต้นแบบมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะเป็นการเรียนที่เริ่มจากการอ่านพยัญชนะ สระก่อน แล้วค่อยขยายเป็นคำ เป็นประโยค ซึ่งถือเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้แก่นักเรียน
นัซรีนเปิดการสอนอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานให้กับชาวบ้าน ในลักษณะของงานจิตอาสา ไม่มีการเก็บค่าเรียนเล่าเรียน โดยมีเด็กมาเรียนประมาณ 10-15 คน
จนต่อมานายกองค์การบริหารส่วนตำบลในเวลานั้นสนใจในหลักสูตรกีรออาตีที่นัซรีนสอน เพราะเห็นเป็นหลักสูตรลัด อ่านเข้าใจง่าย เข้าใจเร็ว สามารถอ่านพระคัมภีร์ได้รวดเร็วกว่าระบบเก่าถึงเท่าตัว
จึงส่งเสริมให้มีการเปิดศูนย์อย่างจริงจังขึ้นมา
“การเรียนกีรออาตีนั้นง่ายกว่า เมื่อก่อนเด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หากเรียนระบบเก่าอาจจะอ่านพระคัมภีร์ได้แค่ 2 คน แต่ถ้าเป็นระบบใหม่ จะเพิ่มเป็น 8 คน” นัซรีนยกตัวอย่างง่ายๆ
ด้วยเหตุนี้ นัซรีนจึงรวบรวมเพื่อนที่จบการศึกษาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหลักสูตรอิสลามศึกษาในประเทศไทย รวม 3 คน มาจัดตั้งเป็นศูนย์อัล-อีมามอัซซาฟีอี ท่องจำอัล-กุรอานนิลการีม (ระบบกีรออาตี) เพื่อสอนการอ่านแบบกีรออาตี โดยได้งบสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาสังคม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยศูนย์ฯ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 มีนักเรียนเข้าศึกษาจำนวน 180 คน เก็บค่าเรียนเดือนละ 40 บาท
ส่วนเนื้อหาการเรียนการสอนจะแบ่งหนังสือออกเป็น 5 เล่ม แต่ละเล่มจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป โดยเล่มที่ 1 เนื้อหาจะเป็นเรื่องพยัญชนะกับสระ เล่มที่ 2 เริ่มมีการสะกดคำ ผสมคำ เล่มที่ 3 ผสมคำย่อยๆ ให้เป็นกลุ่มคำ เล่มที่ 4 ก็จะเป็นเรื่องคำเหมือนกัน แต่จะซับซ้อนกว่า ผสมตัวอักษรมากกว่า และเล่มที่ 5 จะเป็นเรื่องของประโยค เมื่อเรียนแต่ละเล่มจบ จะมีการทดสอบ หากผ่านทั้ง 5 เล่ม ก็จะมีเล่มพิเศษอีกเล่ม เป็นเล่มเสียงทำนองคล้องจอง ส่วนเรื่องความหมายนั้นจะเรียนต่อที่โรงเรียนอีกที
ปัจจุบันศูนย์อัล-อีมามอัซซาฟีอี มีนักเรียน 180 คน ครูจำนวน 14 คน โดยใช้ระบบครู 1 คน ต่อเด็ก 15 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอเยาะ จำนวน 60,000 บาท เพื่อเป็นสินน้ำใจของครู
ส่วนการแบ่งนักเรียนจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่มเด็ก ส่วนใหญ่รับตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเด็กประถมนั้น ก่อนเรียนจะมีการทดสอบว่าเด็กคนนั้นมีความรู้ถึงขั้นไหน เพื่อจะได้จัดการศึกษาในเล่มที่ตรงกับระดับความรู้ เรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 18.30-20.30 น. กลุ่มที่ 2 คือผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่อายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป จัดสอนทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 13.30-15.00 น. วันละประมาณ 10 คน
นอกจากการเรียนระบบกีรออาตีแล้ว ศูนย์อัล-อีมามอัซซาฟีอียังให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรมด้วย โดยมีการสอนการละหมาดวันละ 5 เวลา มีการฝึกให้นักเรียนปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบีมูฮัมหมัด รวมไปถึงการท่องจำซูเราะห์ หรือบทสวดต่างๆ เช่น ซูเราะห์ยาซีน อัซ-ซัจดะห์ และอัล-มุลุกฺ เพราะที่นี่จะมีกิจกรรมอ่านซูเราะห์เป็นประจำทุกวันที่ 15 ของเดือน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นศาสนิกชนที่ดี เปี่ยมล้นไปด้วยศรัทธาและจริยธรรม…