โรงเรียนวัดโพรงมะเดื่อ (ศรีวิทยากร)

DSC_0487

โรงเรียนวัดโพรงมะเดื่อ (ศรีวิทยากร) เป็นโรงเรียนเก่าแก่ซึ่งอยู่คู่ตำบลโพรงมะเดื่อแห่งนี้มาเกือบร้อยปี มีบทบาทสำคัญในการผลิตเยาวชนที่มีคุณภาพ เป็นรากฐานให้กับสังคม ซึ่งในส่วนของการเล่าเรียนนั้น ที่นี่เป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงเชื่อมั่นได้ในคุณภาพว่าทัดเทียมกับโรงเรียนอื่นๆ หากแต่สิ่งที่พิเศษของโรงเรียนแห่งนี้ คือจุดยืนเรื่องการเป็นสถานศึกษาพอเพียง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้หลักการของคุณธรรม และปัญญา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

สุวภัทร สุพรจิตต์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพรงมะเดื่อ (ศรีวิทยากร) เล่าว่า กิจกรรมสถานศึกษาพอเพียงนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2553 ตามแนวคิดของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนคนเดิมที่ตั้งใจจะสร้างอัตลักษณ์เรื่องความสะอาดร่มรื่นให้เกิดขึ้น จึงชักชวนให้ครูและนักเรียนร่วมกันกำจัดขยะด้วยวิธีต่างๆ

ต่อมาในปี 2555 เมื่อ ชัยรัตน์ สุริยะฉาย เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และได้สานต่อนโยบายนี้ ประกอบกับเวลานั้นทางรัฐบาลมีนโยบายเรื่องสถานศึกษาพอเพียงพอดี จึงสมัครเข้ารับการประเมิน และเริ่มมีการนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนทั้ง 8 กลุ่มสาระ แล้วนำไปต่อยอดสู่โครงการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย ก่อนที่จะได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง เมื่อปี 2556

“โรงเรียนเรามีนโยบายให้เด็กรู้จักประหยัด อดออม รู้จักปลูกพืช หรือแม้แต่เรื่องการจัดการขยะมาตลอด เพียงแต่ยังไม่เห็นชัดนักว่าสัมพันธ์กับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร พอช่วงหลังที่เราเข้ารับการประเมิน เริ่มรู้ทฤษฎี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงในโครงการต่างๆ จึงมาจัดให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น” ผู้อำนวยการชัยรัตน์ย้ำเสริม

กิจกรรมที่ได้รับการต่อยอดออกมา เช่น การออมเพื่อแม่ โดยให้เด็กออมเงินทุกเช้า บางห้องใช้วิธีหยอดกระปุก บางห้องใช้วิธีฝากไว้ที่ครู ถ้าเป็นเด็กโตจะมีตัวแทนเป็นผู้ถือเงิน พอครบเดือน จะนำเงินนี้ไปส่งมอบให้ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อไปฝากในบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เมื่อได้ดอกเบี้ยก็จะนำเงินนี้เป็นทุนมอบให้เด็กที่ด้อยโอกาส เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พอสิ้นปีก็นำเงินฝากส่งคืนเด็ก หรือเด็กคนไหนจะฝากต่อก็ได้

ส่วนกิจกรรมเกี่ยวกับขยะนั้นมีโครงการขยะรีไซเคิล นิตยา จิตต์บรรจง ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ในฐานะของผู้รับผิดชอบโครงการนี้เล่าว่า แต่เดิมโครงการนี้จะนำเด็กนักเรียนมาคัดแยกขยะของโรงเรียน แยกเป็นขวด กระดาษ พลาสติก จากนั้นเด็กจะนำไปใส่ในที่เก็บขยะ และเมื่อมีขยะมากแล้ว ก็จะเรียกคนรับซื้อของเก่ามารับซื้อไป ได้เงินครั้งละประมาณ 200-300 บาท เงินที่ได้นำมาจัดทำบัญชีไว้ จากนั้นก็ส่งต่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่ขาดโอกาส เช่น เด็กต่างด้าวที่พ่อแม่มาทำงานในพื้นที่

“มาช่วงหลัง ขยะบางส่วน ครูจะเก็บเอาไว้เพื่อประดิษฐ์งานตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ อย่างทุกเช้ามีดื่มนม ครูบางห้องจะขอถุงนม นำไปล้าง แล้วนำมาสอนนักเรียนประดิษฐ์สิ่งของ หรืออย่างโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ให้เด็กนำขวดมาทำจรวด บางห้องก็นำพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นกระถางปลูกต้นไม้” ครูนิตยาเล่า

นอกจากนี้ ยังสอนให้เด็กปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้ ซึ่งมีทั้งคะน้า กวางตุ้ง ฟักทอง แก่นตะวัน กล้วย นี่ยังไม่รวมถึงบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งแต่ละวัน พืชผักเหล่านี้จะเข้าสู่โรงอาหาร ผลิตเป็นอาหารปลอดภัย เลี้ยงเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้ง 589 คน กับครูอีก 31 ชีวิต

“การมีหน่วยการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้งานของเราชัดเจนมากขึ้น จนมีการกำหนดเป็นวิสัยทัศน์เลยว่า เราจะต้องเน้นการเรียนรู้บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีไทย และประเพณีท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา มีคุณธรรม และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยทั้งหมดนี้เน้นความครอบคลุมเพื่อให้ตอบโจทย์ของพื้นที่มากที่สุด” ผู้อำนวยการอธิบายเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับการประยุกต์เนื้อหาลงในกลุ่มสาระต่างๆ ก็ทำให้นักเรียนซึมซับและเข้าใจถึงแก่นแท้ของเศรษฐกิจพอเพียงว่าสัมพันธ์กับมิติในชีวิตอย่างไร สายพิณ ผูกพานิช หัวหน้าฝ่ายวิชาการและครูกลุ่มสาระภาษาไทย ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการเชื่อมร้อย ทั้งการอธิบายความหมายของหลักปรัชญาว่าคืออะไร ตลอดจนความสำคัญของทฤษฎี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข หรือแม้แต่การให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้วให้เด็กคิดวิเคราะห์ว่าจะนำมาปรับใช้กับชีวิตของตัวเองอย่างไร

“เราอยากให้เด็กรู้ว่า แค่พอเพียงก็ทำให้เรามีความสุข รู้จักการช่วยเหลือคนอื่น รู้จักการแบ่งปัน เสียสละ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เด็กเท่านั้นที่ได้ แต่ยังต่อยอดไปถึงผู้ปกครองอีกด้วย เพราะเวลาประชุมผู้ปกครอง เราจะถามเลยว่าการให้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมายแบบนี้ คิดเห็นว่าอย่างไรกันบ้าง ซึ่งทุกคนก็สนับสนุน เพราะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังลักษณะนิสัยให้ลูกหลาน และอยากให้ดำเนินการต่อเนื่อง” รองผู้อำนวยการสุวภัทรกล่าวปิดท้าย