เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้โรงงานยางไทยปักษ์ใต้ปิดตัวลง เมื่อปี 2541 ชาวบ้านนับร้อยชีวิตกลายเป็นคนตกงาน ในเวลานั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานมาที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และได้เสด็จฯ มาเยี่ยมสมาชิกในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพที่บ้านไทยสุข ตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พระครูวรปัญญาประยุทธ์ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์สโมสร และเจ้าคณะอำเภอรือเสาะ มีโอกาสได้เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย ในตอนนั้นพระองค์ทรงถามถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ท่านพระครูเลยกราบทูลไปตามตรง นั่นจึงเป็นที่มาของกลุ่มทอผ้าวัดราษฎร์สโมสร
เดือนเพ็ญ หิรัญ ประธานกลุ่มทอผ้าวัดราษฎร์สโมสร เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่หลวงพ่อกราบทูลไปแล้ว สมเด็จฯ ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ สหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจการพิเศษในขณะนั้น ลงมาดูสถานที่ของวัด เพื่อเปิดเป็นโรงทอผ้า โดยทางหลวงพ่อได้อนุเคราะห์พื้นที่หอฉันมาตั้งโรงทอ
“ตอนนั้นท่านให้ท่านเปิดรับสมัครสมาชิกปักผ้ากับทอผ้า ได้มา 26 คนทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิม ช่วงแรกเราก็ยังไม่รู้เรื่องผ้าเลย จากนั้นก็มีทหารพี่เลี้ยงจากค่ายจุฬาภรณ์เอากี่ทอผ้า เอาเครื่องมือมาให้ แล้วก็เริ่มเปิดเรียนครั้งแรกวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 โดยมีครูจากศูนย์ศิลปาชีพบ้านกาหลง อำเภอศรีสาคร มาสอน ซึ่งผ้าที่เราผลิตได้จะต้องส่งเข้าโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา โดยทหารจากค่ายจุฬาภรณ์จะเป็นคนรับสินค้าไปส่งอีกที” เดือนเพ็ญเล่า
ช่วงแรกเรียนการทอผ้าพื้นเป็นหลัก ไม่มีปักลาย เรียนได้ประมาณ 6 เดือนถึงมีครูจากในวังมาสอนผ้าลายดอก ทั้งลายดอกลูกหวาย ลายดอกลูกแก้ว กลุ่มทอผ้าก็คอยผลิตส่งศูนย์ศิลปาชีพ ถ้าศูนย์ต้องการลายใหม่ๆ จะส่งครูมาสอนเพิ่มเติมอีกที
“เวลาผ้ามีปัญหา เขาจะมีหนังสือออกมา เขียนไว้เลยว่าผ้าของคนนี้ทอห่าง ซึ่งประธานต้องคอยดู ด้วยเหตุนี้เพื่อป้องกันปัญหา ทางกลุ่มจึงวางเกณฑ์ไว้ ทอให้แน่น ทอให้สวย ผืนไหนมีปัญหารีบแก้ก่อนส่ง” ประธานว่า
ปัจจุบันกลุ่มทอผ้ามีสมาชิกทั้งสิ้น 15 คน เหลือมาจากรุ่นแรกอยู่ 3 คน ถ้ามีการปล่อยกี่ร้าง 3 ปี ทางศูนย์จะตัดรายชื่อออกไป ส่วนรายได้ของกลุ่มนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังของแต่ละคน ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย แต่โดยทั่วไปแล้ว เฉลี่ยคนหนึ่งได้ประมาณ 4,000 กว่าบาทต่อเดือน โดยผ้าฝ้ายเฉลี่ยเมตรละ 50 บาท วันหนึ่งทอได้ประมาณ 4-5 เมตร แต่ถ้าเป็นผ้าไหม ราคาเมตรละ 200 บาท ซึ่งทางกองราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ จะเป็นผู้กำหนดว่าใครบ้างที่มีสิทธิ์ทอผ้าไหม จากนั้นก็ส่งรายชื่อมายังกลุ่ม ซึ่งจะมีการเฉลี่ยจำนวนการทอออกเป็นส่วนเท่าๆ กัน เพื่อความยุติธรรม
“เวลาที่ทหารจากค่ายจุฬาภรณ์มารับผ้าไป เขาจะสำรองจ่ายให้เราก่อนประมาณร้อยละ 80 โดย 3 เดือน จ่ายครั้งหนึ่ง เพราะกว่าผ้าจะส่งถึงสวนจิตรฯ ต้องใช้เวลา 6-7 เดือน ต้องรวบรวมจากศูนย์นั้นศูนย์นี้จนครบ แล้วส่งทีเดียว จากนั้นสวนจิตรฯ ถึงตีราคาให้ เงิน ส่วนต่างที่ขาด ทางทหารก็จะนำมาจ่ายให้อีกที” ประธานอธิบายระบบการจ่ายเงิน
ล่าสุดทางกลุ่มเพิ่งสมัครเข้าโครงการตรานกยูงพระราชทาน เพื่อขอการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย โดยจะต้องส่งผ้าเข้าไปศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ถ้าได้รับการติดตราก็สามารถส่งออกเมืองนอกได้…