ศูนย์เด็กมุสลิมวาตอนียะห์

DSC_0459

ตอนที่เราไปถึง เป็นเวลาที่เด็กเข้านอน หลังจากทำกิจกรรมกันมามากมายในช่วงเช้า บางคนหลับปุ๋ยกันไปแล้ว บางคนตื่นอยู่ และเมื่อเห็นคนแปลกหน้าอย่างเรา ก็พลันร้องไห้ขึ้นมาเสียอย่างนั้น

“เด็กไม่คุ้นกับคนแปลกหน้า เขากลัว” อันนาตูลียา หะยีเจ๊ะแน หัวหน้าศูนย์ฯ คนปัจจุบันพูดขึ้น

อันนาตูลียา และ มูรณี หะมิ อดีตหัวหน้าศูนย์เด็กมุสลิมวาตอนียะห์ ร่วมกันฉายภาพที่มาที่ไปว่า สมัยก่อนที่ยังไม่มีศูนย์เด็กเล็ก การดูแลเด็กเป็นเรื่องลำบากมาก เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเงิน เวลาจะไปทำงานทีก็ต้องฝากลูกกับคนนั้นคนนี้ บางที่ก็ต้องไปฝากโรงเรียนตาดีกาบ้าง มาภายหลังผู้นำชุมชนคือ นิมาโซ นิยอ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานศูนย์ฯ ด้วย จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าจะแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของมัสยิดวาตอนียะห์ ซึ่งเป็นมัสยิดอีกแห่งหนึ่งในหมู่ที่ 3 เพื่อเป็นศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก

สถานที่รับเลี้ยงเด็กเกิดเป็นรูปร่างในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 โดยอาศัยอาคารของโรงเรียนตาดีกาส่วนหนึ่ง และพอวันที่ 23 มีนาคม 2541 จึงจดทะเบียนจัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำมัสยิดในสังกัดกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี 2544 ก็ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม ผ่านทางธนาคารออมสิน เรียกย่อๆ ว่า SIF จำนวน 495,000 บาท เพื่อสร้างอาคารถาวร โดยใช้พื้นที่ 1 ไร่ ระหว่างมัสยิดกับโรงเรียนตาดีกาในการก่อสร้าง โดยอาคารนี้ประกอบไปด้วยห้องรับแขก ห้องเรียน ห้องรับประทานอาหาร ห้องน้ำ และห้องครัวแยกเป็นสัดส่วน

ปัจจุบันศูนย์เด็กแห่งนี้ถ่ายโอนมาอยู่ภายใต้สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง บริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการ ส่วนใหญ่มาจากมัสยิดเป็นหลัก โดยในแต่ละปีจะมีเด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่ประมาณ 80 คน มาจากหมู่ที่ 3 บ้านเจ๊ะเหม กับหมู่ที่ 4 บ้านกรือซอ แต่ก็มีบางส่วนที่มาจากหมู่ที่ 5 บ้านกูวา ส่วนครูพี่เลี้ยงมีอยู่ 3 คน แต่ละคนรับผิดชอบ 1 ห้อง โดยห้องเรียนแบ่งตามเกณฑ์อายุ คือ 2-3 ขวบ 1 ห้อง และ 3-4 ขวบอีก 2 ห้อง

วิธีการดูแลไม่แตกต่างกันมาก ส่วนใหญ่เน้นให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เด็กที่มาใหม่ต้องเน้นเรื่องการปรับตัวมากเป็นพิเศษ โดยกิจกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนาเด็ก 4 ด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา ผ่าน 4 สาระการเรียนรู้ คือเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวที่เกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก โดยมี 6 กิจกรรมส่งเสริมทักษะ คือกิจกรรมเสรี กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง และเกมการศึกษา นอกจากนี้ครูพี่เลี้ยงยังพัฒนาสื่อการสอนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือภาพแบบป๊อปอัพ เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการมากที่สุดด้วย

ศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้มีโครงการหนึ่งที่โดดเด่น คือเรื่องทันตกรรมเด็ก มูรณีบอกว่า ที่นี่ดูแลเรื่องฟันเด็กมากเป็นพิเศษ เพราะเด็กที่นี่มีปัญหาฟันผุมากถึงร้อยละ 89 และพอปวดฟันก็จะร้องไห้ตลอด ด้วยเหตุนี้ศูนย์เด็ก ผู้ปกครอง หมู่บ้าน ชุมชน มัสยิด รวมไปถึงภาคส่วนต่างๆ จึงร่วมกันพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ตั้งแต่การสอนวิธีดูฟันตามหลักศาสนาอิสลาม ขณะที่โรงพยาบาลแว้งก็เข้ามาตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุกปี พร้อมกับช่วยเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ปกครองเพื่อช่วยดูแลลูกหลาน ด้วยความเอาใจใส่ จึงได้รับรางวัลอันดับที่ 3 ระดับจังหวัดในการดำเนินงานทันตสาธารณสุขประจำปี 2547

แม้จะอยู่ในสังกัด อบต. แล้ว แต่มัสยิดยังช่วยดูแลในหลายเรื่อง รวมไปถึงจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น สอนทำดูอาให้แก่เด็ก สอนวิธีละหมาดขั้นพื้นฐาน กิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ทั้งรอมฎอน วันเมาริด วันฮารีรายอ ขณะที่ อบต. ก็จะช่วยในเรื่องค่าอาหารกลางวัน นม วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ…