จากพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระประสงค์จะเห็นพสกนิกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ มีงานทำ พร้อมกับสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ จึงได้มีพระราชดำรัสให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2519 เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน
มัยมูเนาะห์ ตอกอกาแจ หรือกะเนาะห์ ประธานกลุ่มศิลปาชีพย่านลิเภา เล่าว่าเธอได้รับ การถ่ายทอดวิชานี้มาจาก อาแอเสาะ สามะเต๊ะ ครูคนแรกที่พระราชินีทรงส่งมาสอนคนในพื้นที่ โดยเริ่มแรกครูได้ไปสอนอยู่หมู่ที่ 4 บ้านบลูกาสนอ
แม้จะมีคนจำนวนมากเข้าไปศึกษา แต่มีไม่กี่คนที่มีทักษะ สามารถทำได้สวยงาม กะเนาะห์เป็นกลุ่มผู้มีพรสวรรค์ การันตีด้วย ผลงานการสานย่านลิเภาจนได้รางวัลอันดับที่ 1 ของจังหวัดนราธิวาสถึง 3 ปีซ้อน จากการประกวดผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา เพื่อถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ทรงแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทางสำนักพระราชวังจึงเลือกให้กะเนาะห์เป็นครู มีเงินเดือน มีสวัสดิการให้ โดยมีขอบเขตความรับผิดชอบอยู่ที่หมู่ที่ 2 บ้านบูเกะบากง และหมู่ที่ 3 บ้านบลูกา ด้วยหมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นบ้านของกะเนาะห์ มี ยาโก๊ะ สามะเต๊ะ และภรรยา อารอพะ สามะเต๊ะ เป็นครูสอนอยู่ด้วย โดยทั้งสองคนนี้เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของอาแอเสาะ
สำหรับภารกิจของกะเนาะห์นั้น หลักๆ จะมีสอนอยู่ 2 วัน คือวันพุธและวันเสาร์ มีคนมาเรียนประมาณ 100 คน ใช้เวลาเรียนประมาณ 4 เดือน สานภาชนะ อาทิ ผอบ ถาด แจกัน ฯลฯ รูปทรงมีทั้งรูปทรงรี วงกลม และสี่เหลี่ยม โดยต้นทุนแทบไม่มีอะไรมาก เพราะต้นลิเภานั้นมีกระจายอยู่เต็มป่า โดยหากต้องการสีดำก็เข้าไปที่ป่าพรุ แต่ถ้าต้องการสีขาวก็ไปหาที่ป่ายางพารา
ส่วนวิธีสานนั้น ก่อนอื่นให้นำลิเภามาฉีกออกเป็นเส้นๆ ประมาณ 3 ซี่ จากนั้นก็ใช้มีดขูดเปลือกออกให้หมด แล้วทำเครื่องมือจากฝากระป๋อง โดยนำมาเจาะเป็นรู ประมาณ 5 รู ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปช่องเล็ก นำลิเภาที่เป็นเส้นนั้นรูดทีละช่องจนถึงช่องที่เล็กที่สุด เสร็จแล้วใช้กระดาษทรายเก็บพวกเศษเปลือกไม้ที่หลงเหลืออยู่
ว่ากันว่าเส้นลิเภาที่ดีควรจะมีความบางเท่าเส้นผม โดยการสานนั้นจะนำเส้นหวายมาขดเป็นวงรีเพื่อทำก้นผลิตภัณฑ์ จากนั้นนำเส้นลิเภาที่เตรียมไว้มาสาน โดยใช้เหล็กปลายแหลมเจาะที่หวายให้เป็นรู จากนั้นก็นำเส้นลิเภาสอดเข้าไป ซึ่งการสานต้องใช้ความละเอียดและประณีตมาก เมื่อสานก้นเรียบร้อย ให้นำหวายมาขดเป็นวงรี วางให้ได้เหลี่ยมกับตัวก้น เพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ถ้าต้องการให้มีลวดลาย เช่น ลายไทย หรือลายดอกไม้ ให้ใช้วิธีสานกลับด้านเส้นลิเภา ซึ่งจะมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย
เมื่อสานเสร็จ ส่วนใหญ่มักจะนำไปติดกับเครื่องทองเหลือง หรือไปติดหูหิ้วทองเหลือง ซึ่งทางกะเนาะห์ไม่ได้ทำขั้นตอนนี้ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้ ทั้งจากตัวเองและลูกศิษย์จะถูกส่งไปยัง ว่าที่ ร.ท.ดิลก ศิริวัลลภ ตัวแทนเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามและดูแลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
“ผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งใช้เวลาทำประมาณ 3-4 เดือน คนทั่วไปซื้อไม่ได้ เพราะเราส่งเข้าวังอย่างเดียว โดยทางคุณดิลกจะเป็นผู้ดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้าทั้งหมด บางชิ้นหากเส้นห่างกันเกินไป หรือมีรอยขาวๆ เขาก็จะส่งคืนมาให้แก้ไข ส่วนเรื่องราคา เราก็จะเป็นผู้เสนอเข้าไป ซึ่งบางครั้งก็จะได้ราคาตามนั้น แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ราคาลดลงบ้างจากที่ขอ” ล่ามภาษามลายู (จำเป็น) จาก อบต.ตะปอเยาะ ช่วยถ่ายทอดสิ่งที่กะเนาะห์พูด
แม้วันนี้งานสานย่านลิเภาจะไม่ใช่งานที่สร้างรายได้ให้มากนัก เพราะถึงตัวสินค้าจะมีมูลค่าสูง แต่ก็ใช้เวลานาน ทว่าสำหรับชาวบ้านตะปอเยาะหลายร้อยคนกลับมีความสุขที่ได้ทำ ด้วยต่างภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานงานในพระราชเสาวนีย์แห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ…