สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลดภาระ-เพิ่มความหวัง’ ฟื้นฟู‘ผู้ป่วยจิตเวช’ที่‘แว้ง’

“1,172,784 คน” เป็นจำนวนของ “จำนวนผู้ป่วยนอกจิตเวชที่มารับบริการของหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิต ปีงบประมาณ 2562” โดยข้อมูลจาก รายงานประจำปีกรมสุขภาพจิต ปีงบประมาณ 2562 ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยนอกจิตเวชดังกล่าว “เพิ่มขึ้น” ในช่วง 3 ปีงบประมาณล่าสุด อาทิ ปีงบประมาณ 2560 มีผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวน 1,102,470 คน และปีงบประมาณ 2561 มีจำนวน 1,149,645 คน

ทั้งนี้ “โรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ส่งผลกระทบแต่เฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้นแต่ยังไปถึงครอบครัวอีกด้วย” หากเป็นอาการป่วยทางกายจะพบกรณีผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียงไม่สามารถทำงานหรือดูแลตนเองได้ กลายเป็นภาระแก่คนใกล้ชิดต้องดูแล “ยิ่งเมื่อเป็นอาการป่วยทางจิตยิ่งสร้างความทุกข์ยากเป็นทวีคูณ เพราะนอกจากจะต้องดูแลแล้วยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกไปก่อความเดือดร้อนกับคนอื่นๆ ภายนอกบ้าน” หลายครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนักจึงมัก “กักขัง-ล่ามโซ่” สมาชิกในครอบครัวที่ป่วยไว้ในบ้าน เพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้

“ทำไมจิตเวชถึงไม่มา? จิตเวชมากับความจน ไม่มีรถมา บ้านอยู่ไกลไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นเขาบอกว่าเขาขังน่ะดีแล้ว ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้ใคร วุ่นวายใจนิดหน่อย เขาไม่มีศักยภาพในการจะมาโรงพยาบาล แต่สิ่งที่เรามองแล้วรู้สึกว่ามันต้องทำแล้ว พอดีว่าเราดูแลเยียวยาผู้ป่วยในสถานการณ์ภาคใต้ด้วย ทุกครั้งที่เกิดเหตุเราก็จะลงพื้นที่ไปเยี่ยม เราไปเยี่ยมคนไข้แต่เราหันไปมองข้างๆ เห็นทำไมมีกระท่อมแล้วก็มีเสียงดัง? เราก็ถาม

เราก็ไปดู อ่อ!..ในพื้นที่เรามีจิตเวชกักขังอยู่เยอะ ทั้งๆ ที่เราประชุมทีมตลอดว่าให้แจ้งพื้นที่มี กลับไม่มีข้อมูล แต่พอเราลงไปเห็น โอ้โห!..มันไม่ใช่แล้ว บวกกับคุณหมอที่ดูแลก็เห็นด้วย ไปกี่ทีก็เจอทุกที ต้องทำอะไรสักอย่าง ทีนี้พอทำสำเร็จสักกรณี (Case) หนึ่ง อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) หรือผู้ใหญ่บ้านเขาก็จะมาแจ้งเอง มีหมู่บ้านนั้นคนหนึ่ง มีพื้นที่นี้นะ”

เรื่องเล่าจาก ไซนะ มรรคาเขต พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแว้ง ในวันที่คณะสื่อมวลชนร่วมกับคณะทำงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินทางไปศึกษาดูงาน “การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ในพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส” ซึ่งลำพังสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) ก็สร้างผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจกับผู้คนที่นี่อย่างมากแล้ว

คุณไซนะ เล่าต่อไปว่า ในปี 2558 พื้นที่แรกที่ตัดสินใจเริ่ม “ทำงานเชิงรุก” ในการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช คือ “หมู่ 1 ตำบลเอราวัณ” เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านเข้าใจและเข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยคณะทำงาน รพ.แว้ง ย้ำกับญาติผู้ป่วยว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง..ถ้าอยากรักษาเราจะเข้ามาหาเอง” เช่น ไปฉีดยาให้เดือนละ 1 ครั้ง รวมถึงนำยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทานเป็นประจำไปให้ เวลาผ่านไป 4 เดือน พบว่าผู้ป่วยค่อยๆ อาการดีขึ้น พูดคุยได้รู้เรื่องมากกว่าก่อนได้รับการรักษา

“ทำไมกรณีนี้ก้าวหน้า (Progress) เร็ว? ญาตินี้เอาด้วย ป้อนยาให้ทุกมื้อ ให้ความสำคัญ คุยรู้เรื่องก็พยายามปลุกทีละนิด 4 เดือนรู้เรื่อง พาคนไข้ออกขึ้นบ้าน เราถามกลับว่าไม่กลัวหรือ? บางคนจะบอกกลัว คำว่ากลัวเป็นการกดคนไข้ไม่ให้เจริญเติบโต ทีนี้เขาไม่กลัว พยายามพาขึ้นบ้าน พาไปทำกิจกรรม หลังจากนั้นเราไปเยี่ยม แม่ร้องแล้วบอกเราว่า..แม่คิดว่าชีวิตนี้ฉันตายไม่ได้เพราะฉันต้องดูแลลูก แต่วันนี้ฉันไม่เป็นห่วงแล้วเพราะเขาดูแลของเขาได้..แล้วพี่น้องที่ไม่เคยดูแลก็มาเดือนละครั้งอาทิตย์ละครั้ง เป็นอะไรที่เพิ่มความสัมพันธ์ของครอบครัว” คุณไซนะ กล่าว

ข่าวความสำเร็จในการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชรายแรก ทำให้ชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเริ่มมองเห็น “ความหวัง” ทั้งผู้นำชุมชนรวมถึงญาติผู้ป่วยเข้ามาให้ความร่วมมือกับทีมงานสาธารณสุขของ รพ.แว้ง “ผู้ป่วยหลายรายก่อนหน้านั้นญาติต้องล่ามโซ่ขังไว้..แต่หลังได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องอาการก็ดีขึ้นจนญาติกล้าปลดโซ่ออกและให้เดินทางมารับยาที่โรงพยาบาลด้วยตนเองได้” สถิติชี้ไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น เช่น จากเดิมมีผู้ป่วยได้รับยาต่อเนื่องเพียงร้อยละ 36 ก็เพิ่มเป็นร้อยละ 74 หรือผู้ป่วยในชุมชนมีอาการกำเริบจากเดิมร้อยละ 7.8 ก็ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.54 เป็นต้น

คุณไซนะ ยังกล่าวอีกว่า “ผู้ป่วยจิตเวชบางรายสามารถเปลี่ยนจากภาระเป็นพลัง” จากเดิมที่ต้องให้คนในครอบครัวเลี้ยงดูทางเดียว เมื่อได้รับการฟื้นฟูจนดูแลตนเองได้ก็หันมาช่วยเหลืองานในบ้าน เช่น ทำสวน หรือออกไปทำงานนอกบ้าน เช่น ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ก็มีรายได้มาเกื้อหนุนครอบครัวของตนเอง “ทั้งหมดนี้มาจากการทำงานร่วมกันของชุมชนและโรงพยาบาล” ชุมชนมีผู้ใหญ่บ้าน มี อสม. ซึ่งรู้ว่าในชุมชนมีผู้ป่วยกี่ราย ขณะที่โรงพยาบาลเมื่อทราบข้อมูลผู้ป่วยก็จะเตรียมการรักษาได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

“สิ่งสำคัญคือทุกครั้งที่มีปัญหาให้เขา (ชุมชน) ประสานมา เรา (โรงพยาบาล) สามารถลงเยี่ยมได้ทันที มาโรงพยาบาลให้ช่องทางด่วน ถ้าประสานมาก็จะรายงานคุณหมอ บอกคนไข้มีอาการกำเริบอย่างนั้นให้ฉีดยานี้ พอมาถึงโรงพยาบาลคุณหมอวางแผนเรียบร้อยก็เตรียมได้เลย ฉีดยาตัวนี้ได้เลย ฉีดเสร็จกลับบ้านหรือไม่ก็ประสานส่งต่อ วิ่งสำคัญคือเราให้ความสะดวกกับชุมชนด้วย ไม่ใช่ชุมชนมาก็รอเหมือนคนไข้ปกติ

มาอย่างไรให้เร็วก็ประสานมา รายงานคุณหมอ คุณหมอสั่ง (Order) ยา คนไข้มาเตรียมทีมฉีดยา หมอพิจารณาว่าฉีดยาแล้วกลับบ้านให้กลับไปเลยแล้วญาติก็รอเอายา คือมันจะเร็ว กรณีที่ดูแล้วไม่ไหวคุณหมอก็จะประสานส่งต่อเพื่อส่งคนไข้ให้รวดเร็ว คือไม่ต้องเป็นภาระผู้ดูแลนาน ตามแนวทางของ รพ.แว้ง เราจะส่งต่อไปที่ รพ.สุไหงโก-ลก จิตแพทย์ก็จะพิจารณา ถ้าสามารถรักษาได้หรือส่งต่อ รพ.สุไหงโก-ลก ก็ส่งต่อ แต่กรณีคนไข้เอะอะโวยวายไม่สามารถส่งต่อได้ ก็จะส่งไปที่จิตเวชสงขลา ก็จะมีการโทรศัพท์ประสาน” คุณไซนะ ระบุ

นอกจากการเยี่ยมชม รพ.แว้ง คณะสื่อมวลชนและคณะทำงาน สสส. ยังได้ลงพื้นที่ “หมู่ 5 ตำบลแว้ง” ไปพูดคุยกับหญิงชราวัยหก 68 ปีรายหนึ่งซึ่งต้องทุกข์ทรมานจากการจำใจขังลูกชายที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชไว้ในบ้านนานถึง 20 ปี กระทั่งในปี 2558 เมื่อคณะทำงาน รพ.แว้ง เริ่มเข้าไปดูแล ปัจจุบันลูกชายที่มีอายุได้ 43 ปี พอที่จะพูดคุยรู้เรื่องขึ้นบ้าง สามารถช่วยเหลืองานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านได้ รวมถึงทำละหมาด อันเป็นวัตรปฏิบัติสำคัญสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามด้วยตนเองได้

สำหรับคนเป็นพ่อแม่ (หรือญาติ) และสำหรับคนเป็นศาสนิกชน..แม้จะเป็นความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ แต่ก็ทำให้รู้สึกมีความสุขและมีความหวังในการมีชีวิตขึ้นมาได้!!!

ที่มา : https://www.naewna.com/likesara/476300