สร้างเกราะคุ้มภัย ผ่านให้ได้ทุกวิกฤติ

สร้างเกราะคุ้มภัย ผ่านให้ได้ทุกวิกฤติ

ท่ามกลางความไม่มั่นคงทาง “อาหาร” ของสภาวการณ์โลก หากหันมามองชุมชนท้องถิ่นของเรากลับมีความพร้อม หรือที่เรียกว่าความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างสะท้อนชัดใน 3 พื้นที่สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สสส. คือ ตำบลวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง, เทศบาลตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก, และพื้นที่ อบต.สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ถือเป็นพื้นที่ท้องถิ่นต้นแบบที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อรับมือกับ “โควิด-19” หรือ “วิกฤติ” ด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นอื่น ๆ ต่อไปในพื้นที่

ณัฐวุฒิ ใจดี รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย เล่าให้ฟังว่า ตำบลไทรย้อยถือเอาเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในนโยบายแนวคิดพัฒนาตำบล ซึ่งประกอบด้วย…สุขภาพ อาหาร สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย และ คุณภาพชีวิต

ประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร”…สืบเนื่องมาจากปี 2554 เกิดวิกฤติสารเคมี สุ่มตรวจกลุ่มประชากรพบว่า มีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดในระดับอันตราย ประเด็นน่าสนใจมีอีกว่า…กลุ่มเสี่ยงนอกเหนือจากสัมผัสสารเคมีโดยตรง เช่น พระ เด็ก น่าจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมี

จึงนำมาสู่การให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารปลอดภัย รณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผักกินเองโดยไม่ใช้สารเคมี จนประกาศเป็นวาระตำบล

“พื้นที่ไทรย้อยถือว่ามีความพร้อมในเรื่องการจัดการความมั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว แม้จะมีวิกฤติโควิด-19 มา เนื่องจากเรามีการขับเคลื่อนให้ชาวบ้านผลิตอาหารกินเอง ปลูกผัก มีแหล่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งต้นแบบ มีฐานเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น นาข้าวแบบดั้งเดิม…”

โดยใช้กลุ่มผู้สูงอายุถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่วนชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำเกษตรอยู่แล้ว ก็ส่งเสริมให้ลดการใช้สารเคมี โดยใช้ศูนย์ขับเคลื่อนองค์ความรู้ เก็บเมล็ดพันธุ์ ขยายพันธุ์ อนุรักษ์พันธุ์พื้นบ้าน อบรมความรู้ ให้เด็ก เกษตรกร โรงเรียนขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ชาวบ้านปลูกผักกินเองตามฤดูกาล และผักพื้นบ้าน เช่น ขี้เหล็ก ชะอม ดอกแค ได้กินตลอดและเชื่อมกับอาหารในชีวิตประจำวัน

พลังสำคัญในการขับเคลื่อน หรือกลไกในการขับเคลื่อน ต้องยกเครดิต ให้กับองค์กรพัฒนาผู้สูงอายุ ผู้พิการ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ปราชญ์ชาวบ้านเป็นวิทยากร ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่เขาทำเชิงเดี่ยวบางกลุ่มเขามองเงินรายได้ มองเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ โดยพื้นที่ไทรย้อย จะทำงานสร้างคนรุ่นใหม่ โดยมีคนรุ่นเก่ามาปลูกฝังทำระบบเกษตรกรรมให้เปลี่ยนมาเป็นเดินตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา”…เกษตรกรรมหลากหลาย

วิกฤติ “โควิด-19” เรามองกันว่า “เงิน” ไม่สำคัญ ใครมีฐานข้าวปลา อาหารในบ้าน สามารถอยู่รอด…คนรุ่นใหม่ เด็กจะได้คิดเขาสามารถอยู่รอดได้แม้เขาจะไม่มีเงิน นายกฯท่านบอกเสมอว่า เทศบาลเป็นเพียงผู้ประสานงานเป็นหน่วยสนับสนุน จะไม่แจกแต่ให้มีการรวมกลุ่มกันเมื่ออยากทำอะไร เราจะส่งเสริมให้ย้ายมาที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เสน่ห์ แพงมา ปลัด อบต.สำโรงตาเจ็น เสริมว่า พื้นที่สำโรงตาเจ็นมีการดำเนินการวิถีเกษตรกรรมโดยตรง โดยมีแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุกหมู่บ้าน มีการปลูกผักข้างบ้าน อาหารข้างรั้ว ซึ่งถือเป็นวิถีเกษตรกรรมแบบยั่งยืน มีการช่วยเหลือตนเอง ชุมชน เป็นทุนทางสังคมที่เข้มแข็งอยู่แล้ว

ช่วงโควิด-19 ได้แปลงศูนย์การเรียนรู้เป็นศูนย์อาหารให้กับชุมชน ช่วงนี้เองมีคนกลับมาบ้านถึง 155 คน ทั้งจากกรุงเทพฯต่างประเทศ แม้พื้นที่จะมีความมั่นคงทางอาหารแต่ก็ต้องเตรียมดูแลรองรับคนกลุ่มนี้ ซึ่งเราใช้ทุกศูนย์เรียนรู้มาช่วยเหลือ ด้านการบริโภคในชุมชนผลิตผัก ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี…เป็นช่วงที่ตลาดก็ปิด รถพุ่มพวงก็เข้ามาไม่ได้ ค้าขายหยุด เราจึงเตรียมศูนย์ทุกแห่งไว้เป็นอาหารสำหรับชุมชน

“แม้เรามีความเข้มแข้ง แต่ไม่ประมาท เราเตรียมพร้อมทั้งป่าชุมชน มีอาหารชุมชน เห็ดคอนโด อึ่งอ่าง ทำป่าให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างรายได้ชุมชนภายใต้กติการ่วมกัน คนในพื้นที่เพิ่ม…ต้องอยู่กับที่ เราจึงต้องเพิ่มปริมาณอาหาร เราปลูกไผ่ แหล่งเพาะพันธุ์อึ่งอ่าง คนที่กลับบ้านเขาจึงไม่กังวลเรื่องอาหาร”

เสน่ห์ ย้ำว่า ชาวบ้านเขาก็มีผักสวนครัว ข้างบ้านมีบ่อปลา มีเล้าไก่ ขณะที่ อบต.เองก็มีศูนย์เรียนรู้เป็นคลังอาหารให้ชุมชนด้วย โดยทำแบบผสมผสาน รวมทั้งผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ มีพื้นรูปแบบเรียนรู้หลากหลายแต่ละหมู่บ้าน ชุมชนเข้าไปดูได้ และเริ่มบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก

เราจะขอความร่วมมือให้หน่วยงาน เช่น โรงเรียน วัด ทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นที่เรียนรู้ โดยมี อบต.เข้าไปหนุนเสริม ทำครบวงจรเป็นศูนย์เรียนรู้ทั้งหมด มีหน่วยงานสาธารณะ วิทยากร เพื่อให้เขามาสัมผัสเห็นรูปธรรม มาเรียนรู้ที่ อบต.ทำแล้วเห็นผล ท่านนายกฯให้พนักงานทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญเกษตร

“สถานการณ์โควิดเป็นช่วงความวิตกของคนไทย แต่ช่วงวิกฤติก็เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งว่าแนวทางของเราตอบโจทย์ได้ ถึงแม้จะมีโควิดไปอีกกี่เดือน ถ้าเราอยู่ในแนวทางของเราก็สามารถจะอยู่ได้อย่างมั่นคง

อนาคตเราก็ไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ของโลก…ของประเทศ จะเกิดวิกฤติอะไรขึ้นอีก แต่ถึงจะมีอะไรก็แล้วแต่ถ้าเรามีความเป็นอยู่ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่จำเป็นพึ่งพาโลกภายนอก”

สายัณห์ ฉัตรแก้ว หัวหน้าสำนักปลัด อบต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง บอกว่า ภูมิศาสตร์พื้นที่วอแก้วถือเป็นแหล่งอาหารชุมชนที่คนในพื้นที่ได้รับอาหารเพียงพอ ติดป่าต้นน้ำมีความได้เปรียบ ขณะเดียวกันยังได้ชื่อว่าเรื่องอาหารอินทรีย์ที่มีลูกค้าประจำสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลเมื่อมีคนตามมาดูถึงแหล่งผลิต ทำให้เกิดกระบวนการให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนตามรูปแบบเกษตรอินทรีย์ไปในตัว

แน่นอนว่า…พื้นที่วอแก้วไม่ได้ซื้อข้าวกิน แต่จะมีการนำไปขายข้างนอก มีพื้นที่ทำนาและที่เหลือปลูกผักเลี้ยงสัตว์ สร้างแหล่งอาหารในครัวเรือนแบบผสมผสาน

“เราทำเกษตรแบบคำนึงคุณภาพ ปลอดภัยมาก่อน ไม่เน้นผลผลิตเชิงเดี่ยวแบบที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เน้นปริมาณเป็นหลักแต่ไม่ยั่งยืน พอดินเสื่อม ปลูกพืชไม่ได้ ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูดินอีกหลายปี โดยที่พื้นที่วอแก้ว มีศูนย์เรียนรู้ที่กระจายลงไปในหมู่บ้าน ไม่มารวมกระจุก…”

กุญแจความสำเร็จนี้ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์
ม.ขอนแก่น มองว่า ทั้ง 3 พื้นที่ช่วยยืนยันว่าการพึ่งตนเองสำคัญมากที่สุด หากว่าอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน ประการที่หนึ่ง…การมีอาหารจะช่วยได้มากในพื้นที่ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถัดมา…ถ้าใครทำแล้วหรือถ้าไม่ทำก็ต้องกระตุ้น จะทำให้ตัวเอง…ครัวเรือน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบลพออยู่พอกินได้

ประการสุดท้าย…หากว่าไม่รู้วิธีทำนั้น ทุกที่มีศูนย์การเรียนรู้ สอนแบบโค้ชมืออาชีพ ทำเองด้วยประสบการณ์จนสำเร็จ แล้วมาถ่ายทอด ตรงเป้า รู้วิธีการแก้ไขปัญหาที่แม่นยำจากประสบการณ์ สร้างคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในมือของท้องถิ่น ทั้งจากเด็กเล็ก ๆ คนที่กลับมาจากพื้นที่อื่น ๆ มาเปลี่ยนวิธีเกษตรเต็มรูปแบบ

ท้ายที่สุดแล้ว ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุน สสส. รักษาการผู้อำนวยการสำนัก 3 ฝากทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยถือว่ามีชุมชนเป็นฐานที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แม้ขณะนี้ท้องถิ่น แต่ละพื้นที่จะไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ก็ถือว่ามีการขยายและเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

“เรามีพื้นที่เกษตร มีต้นทุนอยู่แล้วเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อน…ทักษะชีวิตใหม่ ต้องสร้างอาหารเป็น พึ่งพาตนเองได้ เมื่อวิกฤติมาจะไม่ลำบาก”

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
#ไม่ประมาทการ์ดอย่าตก
#เว้นระยะห่าง
#หมั่นล้างมือ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส